เอเอฟพี/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 28 รายในอิรัก หลังเกิดเหตุกราดยิง รวมถึงการระเบิดฆ่าตัวตายที่จังหวัดอัล อันบาร์ ทางภาคตะวันตก ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในวันพุธ (23)
รายงานข่าวระบุว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายระลอกตั้งแต่คืนวันอังคาร (22) ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอิรักถูกสังหารไปอย่างน้อย 25 รายรวมถึงพลเรือน 3 คน นอกจากนั้น ยังทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งที่เป็นตำรวจและพลเรือนอีกเกือบ 30 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นตำรวจ 26 นาย
แหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอิรัก ระบุว่า เกิดการโจมตีอย่างน้อย 4 ครั้งรอบเมืองรุตบา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนซีเรียราว 110 กิโลเมตร โดยหนึ่งในการโจมตีที่เกิดขึ้นคือ การที่มือระเบิดฆ่าตัวตายรายหนึ่งขับรถบรรทุกซึ่งซุกซ่อนวัตถุระเบิดไว้เป็นจำนวนมากพุ่งเข้าใส่จุดตรวจของตำรวจในเมืองดังกล่าว ขณะที่มือระเบิดฆ่าตัวตายอีกรายก็ก่อเหตุสะเทือนขวัญที่จุดตรวจของตำรวจอีกแห่งหนึ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน
ในเวลาต่อมามีรายงานว่า กลุ่มคนร้ายพร้อมอาวุธครบมือได้บุกเข้ากราดยิงจุดตรวจของตำรวจบริเวณทางเข้าเมืองรามาดี ซึ่งเป็นเมืองเอกของจังหวัดอัล อันบาร์ รวมถึงเกิดการโจมตีในลักษณะที่คล้ายคลึงกันอีกหลายจุดทั่วจังหวัดแห่งนี้
เบื้องต้นมีการเปิดเผยตัวเลขความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอดทั้งคืนว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอิรักถูกสังหารไปอย่างน้อย 25 รายรวมถึงพลเรือน 3 คน นอกจากนั้น ยังทำให้มีผู้บาดเจ็บทั้งที่เป็นตำรวจและพลเรือนอีกเกือบ 30 ราย
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าฝ่ายใดอยู่เบื้องหลังการโจมตีหลายระลอกที่เกิดขึ้นในจังหวัดอัล อันบาร์ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี
นักวิเคราะห์ชี้ว่า รัฐบาลอิรักที่นำโดยพวกมุสลิมนิกายชีอะห์ของนายกรัฐมนตรีนูริ อัล-มาลิกิ ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมชีอะห์ กับพวกมุสลิมซุนนี ที่เป็นชนส่วนน้อยของประเทศ เป็นเหตุให้เกิดการโจมตีล้างแค้นกันไปมาระหว่างกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงของทั้งสองนิกายอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ลำพังเดือนตุลาคม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในอิรักไปแล้วมากกว่า 520 คน และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2013 จำนวนผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงทางศาสนาทั่วอิรักมีจำนวนมากกว่า 5,200 รายแล้ว ขณะที่ผลการศึกษาของทีมนักวิจัยร่วมจากสหรัฐฯ แคนาดา และอิรัก ที่มีการเผยแพร่ไปเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่ามีชาวอิรักถูกสังหารไปแล้วราว 5 แสนราย นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯยกกำลังบุกอิรักในปี 2003 เพื่อทำสงครามโค่นล้มระบอบการปกครองของซัดดัม ฮุสเซน