xs
xsm
sm
md
lg

‘โอบามา’งดเยือนเอเชียทำเอา‘พันธมิตร’โดดเดี่ยว (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Obama no-show isolates allies
By Richard Javad Heydarian
11/10/2013

บรรดาชาติเอเชียที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่างบังเกิดความรู้สึกวังเวงอ้างว้างขึ้นมาในทันที หลังจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ประกาศงดเยือนภูมิภาคแถบนี้เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ความระแวงสงสัยว่าสหรัฐฯมีความผูกพันกับเอเชียอย่างจริงจังแค่ไหนในขณะที่อเมริกาก็กำลังตัดงบประมาณด้านกลาโหมลงไปด้วย ยิ่งทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯจำนวนมากรู้สึกข้องใจว่า สหรัฐฯมีหนทางต่อสู้ไม่ว่าในทางการเมืองหรือในทางเศรษฐกิจหรือไม่ ที่จะสามารถเข้าคานอำนาจจีนซึ่งกำลังมีอิทธิพลบารมีในเอเชียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

มะนิลา –หลังจากใช้เวลาอยู่หลายสัปดาห์ในการแผ้วถางปูทางด้วยความหนักแน่นจริงจัง สำหรับเตรียมรับการตระเวนทัวร์เอเชียของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จนทำให้ผู้คนจำนวนมากคาดหมายว่า ผู้นำชาวอเมริกันผู้นี้จะต้องเดินทางมาแสดงท่าทีอันคึกคักเข้มแข็ง เพื่อเรียกร้องพื้นที่ซึ่งใหญ่โตกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิมสำหรับการปักหลักทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาคแถบนี้ แต่แล้วภาวะชะงักงันอันขมขื่นที่เกิดขึ้นในวอชิงตัน ณ จังหวะเวลาอันไม่เหมาะสมเอาเสียเลย ก็ได้บังคับให้เขาต้องยกเลิกการเดินทางเที่ยวนี้ของเขาไปทั้งหมด

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างโอบามาและผู้นำพรรคเดโมแครตในรัฐสภา กับฝ่ายผู้นำพรรครีพับลิกันที่สามารถควบคุมสภาล่างเอาไว้นั้น ได้ทำให้รัฐบาลกลางไม่มีงบประมาณใช้จ่ายภายหลังสิ้นสุดปีงบประมาณปี 2012/13 ในวันที่ 30 กันยายน และเกิดเป็น “วิกฤตชัตดาวน์” หรือการที่หน่วยงานรัฐบาลกลางจำนวนหนึ่งต้องปิดทำการหยุดการทำงาน สถานการณ์เช่นนี้ก็ได้ส่งผลกระทบถึงแผนการเยือนเอเชียของประธานาธิบดีด้วย โดยในตอนแรกทีเดียวทำเนียบขาวประกาศว่า โอบามาตัดสินใจที่จะงดการเดินทางเยือนมาเลเซียและฟิลิปปินส์ จากนั้นแม้กระทั่งการไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดรายการสำคัญที่สุดของภูมิภาคแถบนี้รวม 2 รายการ อันได้แก่การประชุมซัมมิตของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation summit หรือ APEC) ซึ่งจัดขึ้นที่อินโดนีเซีย และการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนที่บรูไน ที่มีรายการไฮไลต์คือ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit หรือ EAS) ก็ถูกตัดออกไปด้วย

ถึงแม้พวกชาติเอเชียที่เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายต่างแสดงมารยาทอันสุภาพ ด้วยการแสดงความเข้าอกเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจโอบามา ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นต่อปัญหาภายในประเทศเช่นนี้ แต่อารมณ์ความรู้สึกที่ว่าสหรัฐฯขาดประชุมก็ปรากฏออกมาอย่างถนัดชัดเจน ในสถานการณ์ที่ภูมิภาคแถบนี้มีความวิตกกังวลและความระแวงสงสัยอย่างไม่รู้คลายว่าสหรัฐฯนั้นมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะผูกพันกับเอเชียอย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางการตัดหั่นงบประมาณด้านกลาโหมลงก้อนโตๆ ไม่หยุดหย่อน อีกทั้งยังคงจัดลำดับความสำคัญทางนโยบายลำดับแรกๆ ให้แก่วิกฤตต่างๆ ในตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง พวกพันธมิตรของอเมริกาในเอเชียได้เคยวาดหวังเอาไว้ว่า โอบามาจะใช้โอกาสแห่งการทัวร์เอเชียของเขาในเที่ยวนี้ เพื่อยกระดับการสนับสนุนและทำการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯกำลังมีปฏิสัมพันธ์อย่างหยั่งรากลงลึกกับภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น แต่แล้วพวกเขาก็ต้องประสบความผิดหวัง

“ขณะที่ในทางการเมืองนั้น เราเข้าใจดีถึงเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจเช่นนี้ แต่ก็แน่นอนทีเดียวว่ามันกำลังสร้างความผิดหวังให้แก่ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของบรูไนผู้หนึ่งกล่าวแสดงความรู้สึกโดยขอมิให้ระบุนาม “ผมเชื่อว่าใครๆ ต่างก็กำลังเฝ้ารอคอยบรรยากาศอันโอ่อ่ายิ่งใหญ่น่าภาคภูมิใจ ที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางมาของประธานาธิบดีสหรัฐฯกันทั้งนั้น”

ในหมู่ผู้มีบทบาทสำคัญทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาคแถบนี้ซึ่งกล้าพูดจาส่งเสียงดังที่สุดและกระตือรือร้นสูงที่สุดนั้น นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) แห่งสิงคโปร์ คือผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นของเขาต่อเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาอย่างชนิดผิดแผกไปจากบุคลิกลักษณะของตนเอง โดยเขาระบุว่า “อเมริกาจะต้องเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะอเมริกาเป็นผู้ที่แสดงบทบาทอันสำคัญมาก ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่มีประเทศอื่นๆ รายไหนสามารถทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นจีน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นมหาอำนาจอื่นใดรายไหนก็ตามที”

การไม่เดินทางมาปรากฏตัวในเอเชียของโอบามาเที่ยวนี้ กำลังกลายเป็นสิ่งที่เพิ่มพูนส่งเสริมความรับรู้ความเข้าใจระดับพื้นฐานทั้งในหมู่พันธมิตรของสหรัฐฯและในหมู่ปรปักษ์ของสหรัฐฯ รวม 2 ประการด้วยกัน ประการแรกทีเดียว มันเป็นการส่งสัญญาณว่าเอาเข้าจริงแล้ว ในการคาดคำนวณเชิงยุทธศาสตร์ของโอบามา ภูมิภาคแถบนี้ก็ยังคงมีฐานะค่อนข้างเป็นความสำคัญแค่เพียงระดับชั้นสองเท่านั้นเอง ส่วนสำหรับประการที่สอง และบางทีอาจจะเป็นประการที่สำคัญมากกว่าด้วย วิกฤตชัตดาวน์คราวนี้กำลังกลายเป็นการเปิดเผยอย่างเปล่าเปลือยล่อนจ้อนให้เห็นถึงด้านย่ำแย่ของระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน มันกำลังเปิดโปงให้เห็นถึงความแตกร้าวทางอุดมการณ์แนวความคิด และกำลังบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันรัฐทั้งหลายในประเทศนั้น

ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับสภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อยู่ในอาการกะปลกกะเปลี้ยเต็มทีด้วยแล้ว พันธมิตรชาติเอเชียจำนวนมากในเวลานี้จึงต่างบังเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า สหรัฐฯนั้นมีหนทางต่อสู้ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองหรือในทางเศรษฐกิจจริงๆ หรือ ในอันที่จะทำหน้าที่เป็นเสมือนสมอเรือที่คอยตรึงคอยถ่วงเพื่อสร้างเสถียรภาพขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก

**พันธมิตรผู้โดดเดี่ยว**

ในระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ โอบามาได้ยื่นมือออกไปสัมผัสออกไปต้อนรับพวกปรปักษ์ทางยุทธศาสตร์ของอเมริกาหลายต่อหลายรายต่อเนื่องกัน ตั้งแต่การประชุมซัมมิตแบบพับแขนเสื้อเดินพูดคุยกันอย่างสบายๆ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีน ณ คฤหาสน์ซันนีแลนด์ส (Sunnylands) อันโอ่โถงกลางทะเลทรายในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไปจนถึงการต่อโทรศัพท์พูดคุยครั้งประวัติศาสตร์กับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ของอิหร่านที่นครนิวยอร์กตอนปลายเดือนกันยายน

ตรงกันข้าม โอบามากลับยังไม่ได้เคยไปเยือนกรุงมะนิลาเลย ในขณะที่ฟิลิปปินส์เป็นชาติที่มีเรตติ้งความนิยมชมชอบสหรัฐฯสูงที่สุดในโลก นั่นคืออยู่ในระดับ 85% ทั้งนี้ตามผลสำรวจที่รายงานโดยโครงการสำรวจทัศนคติทั่วโลกของสถาบันพิว (Pew Global Attitudes Project) เมื่อเร็วๆ นี้ แถมแดนตากาล็อกยังเป็นชาติที่ต้องพึ่งพาอาศัยความสนับสนุนทางทหารของอเมริกันอย่างมากมาย ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายทางด้านความมั่นคง ทั้งในแนวรบทางด้านใต้ (เกาะมินดาเนา) และทั้งในแนวรบทางด้านเหนือ (ทะเลจีนใต้)

ด้วยเหตุนี้เอง กำหนดการเดินทางไปเยือนมะนิลาของโอบามาจึงถูกโฆษณาป่าวร้องกันในฟิลิปปินส์ว่า มันเป็นเรื่องที่วอชิงตันกำลังแสดงออกทั้งในเชิงสัญลักษณ์และในทางความเป็นจริงชนิดจับต้องได้ ว่ามีความมุ่งมั่นและความผูกพันอันมั่นคงต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ เพียงไม่นานก่อนหน้าจะถึงเวลาที่กำหนดกันเอาไว้ว่าประธานาธิบดีอเมริกันจะเดินทางมาถึง พวกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ต่างออกมาแสดงความหวังกันเป็นทิวแถวว่า การมาเยือนของโอบามาคราวนี้จะบังเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการที่ทั้งสองประเทศจะได้ลงนามกันในข้อตกลงแม่บทว่าด้วยความร่วมมือทางกลาโหมฉบับใหม่ โดยที่ถ้าข้อตกลงแม่บทนี้สามารถเดินหน้าต่อไปจนมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว ก็จะเป็นการเปิดทางให้กองทหารสหรัฐฯสามารถเข้ามาปรากฏตัวในลักษณะของการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมิใช่ตั้งฐานทัพประจำ บนดินแดนของฟิลิปปินส์อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏตัวในฐานทัพอากาศคลาร์ก (Clark Air Base) และฐานทัพเรืออ่าวซูบิก (Subic Bay Naval Base) ซึ่งในอดีตต่างก็เคยเป็นฐานทัพที่ทรงความสำคัญที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯมาแล้ว

“(การมาเยือนฟิลิปปินส์ของโอบามา) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากจริงๆ เพราะมันคือการประกาศรับรองมองเห็นคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเราทั้งสอง” รัฐมนตรีต่างประเทศ อัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert Del Rosario) ของฟิลิปปินส์ กล่าวในระหว่างการไปแถลงชี้แจงเรื่องงบประมาณที่รัฐสภาฟิลิปปินส์เมื่อตอนปลายเดือนกันยายน ซึ่งเป็นสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงความคาดหวังของรัฐบาลแดนตากาล็อกในตอนนั้น “เรากำลังวาดหวังที่จะได้เห็นการเซ็นข้อตกแลงแม่บทในตอนนั้น (ตอนที่โอบามามาเยือน) ด้วย แต่เรายังจะต้องคอยติดตามต่อไปว่าจะเป็นไปได้หรือไม่”

อันที่จริงแล้ว ในฟิลิปปินส์เองกำลังมีการอภิปรายถกเถียงไม่ลงรอยกัน ในประเด็นที่ว่าข้อตกลงแม่บททางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ระหว่างแดนตากาล็อกกับแดนอินทรี ที่เสนอกันออกมานี้ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฟิลิปปินส์หรือเปล่า และควรที่จะถือเป็นข้อตกลงผูกพันกับต่างประเทศชนิดที่ต้องให้วุฒิสภารับรองให้สัตยาบันหรือไม่ โดยที่ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์นั้นยืนกรานว่ามันมีลักษณะเป็นข้อตกลงทางการบริหารแท้ๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีการลงสัตยาบัน ทว่าเสียงที่แสดงความกังวลก็กำลังขยายตัวออกไป ด้วยเหตุนี้พวกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์หลายรายจึงตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อโอบามามาเยือนมะนิลา อำนาจบารมีแบบดาราของเขาจะช่วยโน้มน้าวสาธารณชนวงกว้างให้เห็นดีเห็นงาม ตลอดจนสยบเสียงพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงฉบับนี้ทั้งในรัฐสภาและในภาคประชาชน

ฝ่ายที่กำลังผลักดันให้มีการลงนามในข้อตกลงแม่บทฉบับนี้ ยังมีความรู้สึกอันแรงกล้าว่า ฟิลิปปินส์มีความจำเป็นเร่งด่วนในทางยุทธศาสตร์ที่จะต้องทำสัญญาในลักษณะนี้กับอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันแดนตากาล็อกกำลังติดแหง็กอยู่ในกรณีพิพาททางดินแดนอันขมขื่นกับจีน จากการที่ทั้งสองประเทศต่างอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่หลายบริเวณของทะเลจีนใต้ทับซ้อนกันอยู่ แล้วเนื่องจากการที่มะนิลากับปักกิ่งไม่ได้มีโอกาสพบปะหารือทวิภาคีในระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงกันเลย จึงทำให้ช่องทางติดต่อสื่อสารกันระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่ในสภาพพังครืนใช้การไม่ได้ในทางเป็นจริง

รายงานหลายๆ ชิ้นที่ระบุว่า จีนกำลังขยายการสร้างเสริมที่มั่นของตนในพื้นที่ซึ่งพิพาทกันอยู่ เป็นต้นว่าที่เกาะปะการัง สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) รวมทั้งจีนยังกำลังขยายการออกตรวจการณ์แบบกึ่งทหารของตน (เป็นต้นว่าการตรวจการณ์โดยใช้เรือของหน่วยงานอื่นของรัฐบาล ที่ไม่ใช่เรือรบของกองทัพเรือ) ในบริเวณน่านน้ำที่พิพาทกันอยู่แห่งอื่นๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่กลายเป็นการตอกย้ำให้มะนิลายิ่งตระหนักถึงความไร้สมรรถภาพของตน เมื่อต้องเปรียบมวยแข่งขันกับแสนยานุภาพทางนาวีของจีน การเดินทางมาเยือนของโอบามา น่าจะสามารถช่วยบรรเทาความรู้สึกของฟิลิปปินส์ที่ว่าตนเองปวกเปียกอ่อนแอลงไปได้ รวมทั้งสามารถช่วยขจัดความระแวงสงสัยที่ว่าวอชิงตันจะปฏิบัติตามพันธกรณีในสนธิสัญญาที่ทำเอาไว้จริงๆ หรือไม่ หากว่าเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติของประเทศพันธมิตร ไม่ใช่ของสหรัฐฯเอง

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นนักวิเคราะห์กิจการต่างประเทศที่มีฐานอยู่ในมะนิลา โดยมีความสนใจเป็นพิเศษเรื่องทะเลจีนใต้และประเด็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ เขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเตนีโอ เด มะนิลา (Ateneo De Manila University) และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Economics of the Arab Spring: How Globalization Failed the Arab World, Zed Books, 2013 ซึ่งมีกำหนดออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้สามารถติดต่อกับเขาทางอีเมลได้ที่ jrheydarian@gmail.com
(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น