(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Geneva talks light spark for Iran deal
By Kitty Stapp
17/10/2013
การเจรจาในนครเจนีวาที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธ (16 ต.ค.) โดยรายงานข่าวระบุว่ามีการสนทนากันอย่างจริงจังตรงไปตรงมา กำลังก่อให้เกิดบรรยากาศแบบมองโลกในแง่ดีขึ้นมาว่า การหารือเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งประสบภาวะชะงักงันมาอย่างยาวนานแล้ว จะสามารถหลุดพ้นออกจากทางตันได้เสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่เตหะรานแสดงท่าทีเปิดกว้างต่อแนวความคิดที่จะให้คณะผู้ตรวจสอบนานาชาติสามารถเข้าถึงทุกส่วนทุกขั้นตอนของวงจรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของตนได้อย่างเต็มที่บริบูรณ์นั้น เป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิดความหวังกันว่าจะสามารถทำข้อตกลงกันได้สำเร็จในที่สุด ถึงแม้ประเด็นเรื่องการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรจะยังคงเป็นจุดที่สะดุดติดขัดอยู่
เจนีวา – การพูดจากันในนครเจนีวาระหว่างอิหร่านกับ 6 มหาอำนาจของโลกซึ่งรู้จักเรียกขานกันว่า “P5+1” ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ปิดฉากลงเมื่อวันพุธ (16 ต.ค.) โดยที่มีการสร้างสถิติ “ครั้งแรก” อันน่ายินดีขึ้นมาหลายรายการ และทุกๆ ฝ่ายต่างแสดงออกให้เห็นถึงการมีกำลังใจและความหวัง ตลอดจนคำมั่นสัญญาที่จะกลับมาเจรจากันต่อในเวลาอีกเพียงแค่ 3 สัปดาห์ข้างหน้า
พวกเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยังคงจงใจปิดปากสนิท ถึงแม้สื่อมวลชนกำลังพยายามติดตามแคะคุ้ย เกี่ยวกับรายละเอียดของข้อเสนอใหม่ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ โมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ (Mohammad Javad Zarif) ของอิหร่าน นำเสนอในรูปของไฟล์โปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ (PowerPoint) ต่อ P5+1 (ซึ่งประกอบด้วยชาติที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, และจีน บวกกับอีก 1 คือ เยอรมนี) เมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ได้รับการเปิดเผยก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เกี่ยวกับสิ่งที่น่าจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งของข้อตกลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในที่สุดในคราวนี้ ซึ่งก็คือ อิหร่านมีเจตนารมณ์ที่จะลงนามใน “พิธีสารเพิ่มเติมของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ” (Additional Protocol of the International Atomic Energy Agency) ในตอนท้ายของการบรรลุข้อตกลงกันในขั้นสุดท้าย
**องค์ประกอบต่างๆ ในข้อเสนอของฝ่ายอิหร่าน**
รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ อับบาส อารัจชิ (Abbas Araghchi) ซึ่งกลายเป็นผู้นำของคณะผู้แทนของเตหะราน ในการเจรจาหารือต่างๆ ภายหลังที่ ซาริฟ หัวหน้าคณะผู้เจรจาของอิหร่านได้นำเสนอข้อเสนอใหม่ไปในวันที่ 15 ตุลาคมแล้ว ได้บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสในการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกที่นครเจนีวาว่า อิหร่านนั้นเปิดกว้างพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอที่จะให้ตนเองปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวข้างต้น โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสุดท้ายที่แต่ละฝ่ายตกลงร่วมกัน
“พิธีสารเพิ่มเติม คือส่วนหนึ่งของการปิดเกม” อารัจชิ บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสในการให้สัมภาษณ์เมื่อตอนเช้าวันพฤหัสบดี (17 ต.ค.) ที่บริเวณล็อบบี้ของโรงแรมที่พักของเขา “มันเป็นสิ่งที่วางแบอยู่บนโต๊ะอยู่แล้ว ทว่ายังไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันในเวลานี้ มันจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในขั้นสุดท้าย” เขาแจกแจง
พิธีสารเพิ่มเติมที่พูดถึงนี้ มีลักษณะเป็นมาตรฐานการระวังป้องกันด้านนิวเคลียร์ขั้นก้าวหน้าที่ชาติผู้ลงนามสมัครใจยอมรับปฏิบัติตาม โดยที่จะต้องให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการต่อทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ใช้อักษรย่อว่า IAEA) ด้วย ทั้งนี้พวกนักวิเคราะห์ต่างมองเห็นกันมานานแล้วว่า การลงนามยอมรับพิธีสารเพิ่มเติมนี้ จะต้องกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในข้อตกลงใดๆ ก็ตามที ที่อิหร่านกับ P5+1 จะทำกันในเรื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างมากมายของเตหะราน
“(การให้อิหร่านลงนามใน) พิธีสารเพิ่มเติมคือหนทางเดียวที่ทำให้คุณสามารถแน่ใจได้ว่าจะไม่มีกิจกรรมปิดลับซ่อนเร้นใดๆ ภายในประเทศนั้น” อาลี วาเอซ (Ali Vaez) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านของ อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) องค์การคลังสมองด้านกิจการระหว่างประเทศชื่อดัง อธิบายให้สำนักข่าวไอพีเอสฟัง “จาก (การที่อิหร่านลงนามใน) พิธีสารเพิ่มเติมฉบับนี้ จะทำให้ IAEA สามารถเข้าถึงทุกส่วนทุกขั้นตอนของวงจรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยที่ IAEA จะสามารถดำเนินการตรวจสอบอย่างฉับพลันโดยแจ้งล่วงหน้าเพียงแค่ 2 ชั่วโมงสำหรับสถานที่ทางนิวเคลียร์ที่อิหร่านได้ระบุให้ทราบแล้ว และแจ้งล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมงสำหรับสถานที่ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้มีการระบุให้ทราบ” เขากล่าว
ขณะที่ ตริตา ปาร์ซี (Trita Parsi) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านอีกคนหนึ่ง ระบุว่า อันที่จริงอิหร่านได้เคยเริ่มต้นที่จะปฏิบัติตามพิธีสารฉบับนี้ในช่วงปี 2003 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหารือกับกลุ่มที่เรียกขานกันว่า EU-3 (3 ชาติสมาชิกสำคัญของสหภาพยุโรป ได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี) ขณะที่เตหะรานมีความเข้าใจว่า จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างไร้อคติ เพื่อที่จะให้อิหร่านเดินหน้าโปรแกรมเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ของตนเองได้
แต่แล้ว EU+3 ก็ล้มเหลวไม่ได้สานต่อเรื่องนี้ไปจนจบ โดยที่มีรายงานว่าเหตุผลสำคัญเป็นเพราะมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงต่อข้อตกลงลักษณะดังกล่าวนี้ จากคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ และอิหร่านจึงยุติการปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติมนี้ในปี 2006
“ยุโรปนั้นได้รับสิ่งที่ตนเองเรียกร้องไปแล้ว อิหร่านในเวลานั้นไม่ได้กำลังดำเนินการเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ อีกทั้งยอมรับปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติม” ปาร์ซีบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “นี่เองคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ว่าทำไมในคราวนี้อิหร่านจึงต้องการให้มัน (การลงนามในพิธีสารเพิ่มเติม) อยู่ในช่วงปิดเกม นั่นคือจะต้องมีการระบุรายละเอียดให้ชัดเจนเสียก่อน” เขากล่าว
**สัญญาณบ่งบอกว่าน่าจะตกลงกันได้**
“เราไม่เคยได้พูดจาหารืออย่างเปิดเผย, ตรงไปตรงมา, มีรายละเอียด, และจริงจังเช่นนี้กับคณะผู้แทนฝ่ายอิหร่านมาก่อนเลย” เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของคณะรัฐบาลสหรัฐฯบอกกับบรรดาผู้สื่อข่าวในนครเจนีวา ขณะยืนยันว่าการหารือครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่เจนีวาอีกในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน “เราขอพูดว่า เรากำลังเริ่มต้นการเจรจาประเภทที่กำลังจะเดินหน้าไปยังสถานที่ซึ่ง ... ในทางเป็นจริงแล้ว ... คุณสามารถจินตนาการได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่คุณจะบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้นี้ชี้ด้วยว่า ยังคงมี “ความแตกต่างที่ฉกาจฉกรรจ์” ดำรงอยู่ แต่ก็กล่าวต่อไปว่า “ถ้าหากไม่มีความแตกต่างที่ร้ายแรงแล้ว เรื่องนี้ก็ควรที่จะแก้ไขคลี่คลายได้ตั้งแต่เมื่อนมนานมาแล้วละ”
ทางด้าน ซาริฟ ผู้กำลังทุกข์ทรมานจากอาการปวดหลังอย่างยิ่งยวด บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในตอนเย็นวันพุธ (16 ต.ค.) ในการแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษ/ภาษาเปอร์เซีย ว่า ที่เจนีวานี้ อิหร่านได้เข้าร่วมใน “การเจรจาที่เป็นเนื้อเป็นหนังและมุ่งมองไปในอนาคตข้างหน้า”
“เรามีความรู้สึกว่าเหล่าสมาชิกของ (P5+1) ก็ได้แสดงออกให้เห็นถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองอันจำเป็นสำหรับการผลักดันกระบวนการนี้ให้คืบหน้าไป และเวลานี้เราจะต้องลงไปในรายละเอียดกัน” ซาริฟ ผู้ซึ่งต้องนั่งบนรถเข็น กล่าวเป็นภาษาอังกฤษภายหลังที่การเจราจาหารือรอบสุดท้ายสิ้นสุดลง
ระหว่างการเจรจากันที่เจนีวา 2 วันคราวนี้ ได้มีการปิดประตูหารือระดับทวิภาคีกันในวันอังคาร (15 ต.ค.) ระหว่าง อารัจชิ กับบุคคลที่เป็นผู้นำคณะผู้แทนของสหรัฐฯที่เจนีวาคราวนี้ ซึ่งก็คือ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการการเมือง (Under Secretary of State for Political Affairs) เวนดี เชอร์แมน (Wendy Sherman) ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ที่มีการหารือระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านบังเกิดขึ้นเช่นนี้ในขณะที่ P5+1 กำลังดำเนินการเจรจาอย่างเต็มขั้นกับเตหะราน ถึงแม้ผู้บังคับบัญชาของเชอร์แมน ซึ่งก็คือ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี (John Kerry) กับ ซาริฟ ได้เคยพบปะหารือกันเป็นเวลา 30 นาที ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของ P5+1 เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ขณะที่ต่างฝ่ายต่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก
“การเจรจากันแบบทวิภาคีของเราเมื่อวานนี้ เป็นการเจรจาที่ได้ประโยชน์” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯผู้หนึ่งกล่าวในวันพุธ (16 ต.ค.)
เพียงข้อเท็จจริงที่ว่าการเจรจาคราวนี้กระทำกันเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก ก็ถูกมองว่าเป็น “ครั้งแรก” ที่น่ายินดีอีกประการหนึ่งแล้ว
“จังหวะของการเจรจาหารือดีขึ้นเป็นอย่างมาก” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯรายหนึ่งบอกกับพวกผู้สื่อข่าว พร้อมกับเสริมด้วยว่า การคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ “ก่อให้เกิดความสามารถชนิดที่จะพูดจาโต้ตอบกันได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องมีถ้าหากคุณต้องการที่จะให้มีการเจรจากันจริงๆ”
**การปิดเกมที่อาจเป็นไปได้**
ก่อนที่จะยืนยันว่าเขาจะไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดใดๆ ของข้อเสนอของเขา ซาริฟได้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า ในขั้นตอนปัจจุบัน อิหร่านจะยังไม่ปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติม พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “ประเด็นปัญหาเหล่านี้ถูกนำมาวางแบอยู่บนโต๊ะแล้ว” และ “กำลังมีการหารือกัน และจะมีการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาหารือกันต่อไปในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการเจรจา”
“เราต้องการได้รับหลักประกันว่า อิหร่านมีสิทธิในเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และก็ต้องการทำให้ผู้ที่นั่งอยู่ทางอีกฝ่ายหนึ่งของโต๊ะเจรจาบังเกิดความมั่นใจว่า โปรแกรมนิวเคลียร์ของเรานั้นเป็นไปเพื่อสันติ” อารัจชิ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวเป็นภาษาเปอร์เซียเมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.) “ขั้นตอนแรกนั้นจะครอบคลุมเรื่องการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันขึ้นมาใหม่ และเรื่องการชี้แจงคลี่คลายความกังวลห่วงใจของทั้งสองฝ่าย” เขากล่าว และบอกต่อไปว่า “พวกเครื่องมือในการตรวจสอบพิสูจน์ความจริง” ทั้งหลายของ IAEA อาจถูกนำมาใช้ประโยชน์ในระหว่างกระบวนการเจรจานี้
อารัจชิ ย้ำว่า ในขั้นตอนสุดท้ายนั้น จะมีการนำเอาคำวินิจฉัยชี้ขาดทางศาสนา (ฟัตวา) ของ อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ที่มีเนื้อหาต่อต้านการที่อิหร่านจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์หรือจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ มาใช้ในฐานะที่เป็น “ส่วนที่ทรงความสำคัญที่สุด”
“อิหร่านจะใช้สถานที่ทางนิวเคลียร์ของตนเอง รวมไปถึงเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ของตนเอง เพื่อวัตถุประสงค์ทางสันติ” เขากล่าวย้ำ และระบุว่า ในข้อเสนอของฝ่ายเตหะรานนั้น ในระยะสุดท้ายของข้อตกลงจะครอบคลุมถึง “การยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทั้งหมดที่ใช้กับอิหร่าน”
**มาตรการลงโทษคว่ำบาตรยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ**
“ครั้งแรก” อีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเจรจา P5+1 กับอิหร่านในคราวนี้ ได้แก่ การออก “คำแถลงร่วม” โดยออกในนามของ ซาริฟ และ แคเธอรีน แอชตัน (Catherine Ashton) ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู ในฐานะตัวแทนของฝ่าย P5+1 ทั้งนี้คำแถลงร่วมระบุว่า จะมีการนำพวกผู้ชำนาญการด้านการคว่ำบาตรเข้าร่วมในการประชุมหารือของ “คณะผู้เชี่ยวชาญ” ก่อนการเจรจาวันที่ 7-8 พฤศจิกายน ทั้งนี้เพื่อทำความกระจ่างเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสองฝ่ายและทำความกระจ่างเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในทางปฏิบัติ” นอกจากนั้นแล้ว “ครั้งแรก” อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาก็คือ มีพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯในด้านการใช้มาตรการคว่ำบาตร เข้าร่วมอยู่ในคณะผู้แทนที่นำโดยเชอร์แมนด้วย ในการเจรจาที่เจนีวาสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางฝ่าย P5+1 มีความตั้งใจที่จะเสนอมาตรการผ่อนคลายการคว่ำบาตรชนิดไหนและในจังหวะเวลาใดต่อฝ่ายอิหร่าน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงครอบคลุมรอบด้าน โดยที่ข้อตกลงดังกล่าวนี้น่าจะมีส่วนของมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นชั่วคราว (interim confidence-building measures หรือ CBMs) รวมอยู่ด้วย
เตหะรานนั้นยืนยันเรื่อยมาว่า ข้อตกลงสุดท้ายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นมา จะต้องยอมรับสิทธิของอิหร่านที่จะทำการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมบนดินแดนของตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิวเคลียร์ทางพลเรือนของตน แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ในเมื่อรัฐสภาของสหรัฐฯนั้น พวกกลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอลคือพวกที่อิทธิพลบารมีอย่างสูงสุด นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ของอิสราเอลได้พยายามรณรงค์ป่าวร้องมาหลายสัปดาห์แล้ว เพื่อต่อต้านคัดค้านข้อตกลงใดๆ ก็ตามทีที่มิได้กำหนดให้อิหร่านต้องยกเลิกส่วนสาระสำคัญในโปรแกรมนิวเคลียร์ของตน ซึ่งรวมถึงเรื่องการเพิ่มความเข้มข้นนิวเคลียร์บนดินแดนของอิหร่านเองด้วย
วุฒิสมาชิกอเมริกันคนสำคัญ 10 คนซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวพรรคเดโมแครตและชาวพรรครีพับลิกัน ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 11 ตุลาคมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา เสนอแนะว่า พวกเขา “กำลังเตรียมพร้อมที่จะผลักดันมาตรการคว่ำบาตรใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลในเตหะราน” โดยที่จะดำเนินการในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งหมายความว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนการเจรจารอบต่อไปในเจนีวานั่นเอง
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯผู้ทำหน้าที่บรรยายสรุปให้พวกผู้สื่อข่าวฟังภายหลังเสร็จสิ้นการเจรจาที่เจนีวาคราวนี้ บอกว่าคณะผู้แทนสหรัฐฯชุดนี้กำลังจะจัดการบรรยายสรุปแบบปิดลับให้รัฐสภารับฟังในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
“อำนาจที่จะตัดสินใจในตอนท้ายที่สุดย่อมขึ้นอยู่กับพวกเขา(รัฐสภา) แต่ข้าพเจ้า (หมายเหตุผู้แปล – เนื่องจากต้นฉบับภาษาอังกฤษในที่นี้ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า “I” โดยที่ไม่มีร่องรอยให้เดาไว้ว่าผู้พูดเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จึงขอใช้คำกลางๆ อย่างคำว่า “ข้าพเจ้า”) คาดหวังว่าเราจะยังคงสามารถเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเรามีกันอยู่” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกด้วยว่า จะมีการบรรยายสรุปต่อพวกชาติพันธมิตรสำคัญๆ ด้วย ซึ่งรวมถึงอิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย อันเป็นประเทศที่ทราบกันดีว่ามีความระแวงสงสัย ถ้าหากไม่ถึงขนาดต่อต้านอย่างแข็งขัน ต่อการทำข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่จะอนุญาตให้อิหร่านยังคงดำเนินกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์บนดินแดนของตนเองได้
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
Geneva talks light spark for Iran deal
By Kitty Stapp
17/10/2013
การเจรจาในนครเจนีวาที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธ (16 ต.ค.) โดยรายงานข่าวระบุว่ามีการสนทนากันอย่างจริงจังตรงไปตรงมา กำลังก่อให้เกิดบรรยากาศแบบมองโลกในแง่ดีขึ้นมาว่า การหารือเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านซึ่งประสบภาวะชะงักงันมาอย่างยาวนานแล้ว จะสามารถหลุดพ้นออกจากทางตันได้เสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่เตหะรานแสดงท่าทีเปิดกว้างต่อแนวความคิดที่จะให้คณะผู้ตรวจสอบนานาชาติสามารถเข้าถึงทุกส่วนทุกขั้นตอนของวงจรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของตนได้อย่างเต็มที่บริบูรณ์นั้น เป็นสิ่งที่จุดประกายให้เกิดความหวังกันว่าจะสามารถทำข้อตกลงกันได้สำเร็จในที่สุด ถึงแม้ประเด็นเรื่องการยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรจะยังคงเป็นจุดที่สะดุดติดขัดอยู่
เจนีวา – การพูดจากันในนครเจนีวาระหว่างอิหร่านกับ 6 มหาอำนาจของโลกซึ่งรู้จักเรียกขานกันว่า “P5+1” ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ปิดฉากลงเมื่อวันพุธ (16 ต.ค.) โดยที่มีการสร้างสถิติ “ครั้งแรก” อันน่ายินดีขึ้นมาหลายรายการ และทุกๆ ฝ่ายต่างแสดงออกให้เห็นถึงการมีกำลังใจและความหวัง ตลอดจนคำมั่นสัญญาที่จะกลับมาเจรจากันต่อในเวลาอีกเพียงแค่ 3 สัปดาห์ข้างหน้า
พวกเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยังคงจงใจปิดปากสนิท ถึงแม้สื่อมวลชนกำลังพยายามติดตามแคะคุ้ย เกี่ยวกับรายละเอียดของข้อเสนอใหม่ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศ โมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ (Mohammad Javad Zarif) ของอิหร่าน นำเสนอในรูปของไฟล์โปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ (PowerPoint) ต่อ P5+1 (ซึ่งประกอบด้วยชาติที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, และจีน บวกกับอีก 1 คือ เยอรมนี) เมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) ได้รับการเปิดเผยก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน เกี่ยวกับสิ่งที่น่าจะกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งของข้อตกลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในที่สุดในคราวนี้ ซึ่งก็คือ อิหร่านมีเจตนารมณ์ที่จะลงนามใน “พิธีสารเพิ่มเติมของทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ” (Additional Protocol of the International Atomic Energy Agency) ในตอนท้ายของการบรรลุข้อตกลงกันในขั้นสุดท้าย
**องค์ประกอบต่างๆ ในข้อเสนอของฝ่ายอิหร่าน**
รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ อับบาส อารัจชิ (Abbas Araghchi) ซึ่งกลายเป็นผู้นำของคณะผู้แทนของเตหะราน ในการเจรจาหารือต่างๆ ภายหลังที่ ซาริฟ หัวหน้าคณะผู้เจรจาของอิหร่านได้นำเสนอข้อเสนอใหม่ไปในวันที่ 15 ตุลาคมแล้ว ได้บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสในการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกที่นครเจนีวาว่า อิหร่านนั้นเปิดกว้างพร้อมที่จะพิจารณาข้อเสนอที่จะให้ตนเองปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับดังกล่าวข้างต้น โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงสุดท้ายที่แต่ละฝ่ายตกลงร่วมกัน
“พิธีสารเพิ่มเติม คือส่วนหนึ่งของการปิดเกม” อารัจชิ บอกกับสำนักข่าวไอพีเอสในการให้สัมภาษณ์เมื่อตอนเช้าวันพฤหัสบดี (17 ต.ค.) ที่บริเวณล็อบบี้ของโรงแรมที่พักของเขา “มันเป็นสิ่งที่วางแบอยู่บนโต๊ะอยู่แล้ว ทว่ายังไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันในเวลานี้ มันจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงในขั้นสุดท้าย” เขาแจกแจง
พิธีสารเพิ่มเติมที่พูดถึงนี้ มีลักษณะเป็นมาตรฐานการระวังป้องกันด้านนิวเคลียร์ขั้นก้าวหน้าที่ชาติผู้ลงนามสมัครใจยอมรับปฏิบัติตาม โดยที่จะต้องให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการต่อทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ใช้อักษรย่อว่า IAEA) ด้วย ทั้งนี้พวกนักวิเคราะห์ต่างมองเห็นกันมานานแล้วว่า การลงนามยอมรับพิธีสารเพิ่มเติมนี้ จะต้องกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในข้อตกลงใดๆ ก็ตามที ที่อิหร่านกับ P5+1 จะทำกันในเรื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างมากมายของเตหะราน
“(การให้อิหร่านลงนามใน) พิธีสารเพิ่มเติมคือหนทางเดียวที่ทำให้คุณสามารถแน่ใจได้ว่าจะไม่มีกิจกรรมปิดลับซ่อนเร้นใดๆ ภายในประเทศนั้น” อาลี วาเอซ (Ali Vaez) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านของ อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) องค์การคลังสมองด้านกิจการระหว่างประเทศชื่อดัง อธิบายให้สำนักข่าวไอพีเอสฟัง “จาก (การที่อิหร่านลงนามใน) พิธีสารเพิ่มเติมฉบับนี้ จะทำให้ IAEA สามารถเข้าถึงทุกส่วนทุกขั้นตอนของวงจรเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของอิหร่าน โดยที่ IAEA จะสามารถดำเนินการตรวจสอบอย่างฉับพลันโดยแจ้งล่วงหน้าเพียงแค่ 2 ชั่วโมงสำหรับสถานที่ทางนิวเคลียร์ที่อิหร่านได้ระบุให้ทราบแล้ว และแจ้งล่วงหน้าภายใน 24 ชั่วโมงสำหรับสถานที่ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้มีการระบุให้ทราบ” เขากล่าว
ขณะที่ ตริตา ปาร์ซี (Trita Parsi) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านอีกคนหนึ่ง ระบุว่า อันที่จริงอิหร่านได้เคยเริ่มต้นที่จะปฏิบัติตามพิธีสารฉบับนี้ในช่วงปี 2003 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาหารือกับกลุ่มที่เรียกขานกันว่า EU-3 (3 ชาติสมาชิกสำคัญของสหภาพยุโรป ได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี) ขณะที่เตหะรานมีความเข้าใจว่า จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างไร้อคติ เพื่อที่จะให้อิหร่านเดินหน้าโปรแกรมเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ของตนเองได้
แต่แล้ว EU+3 ก็ล้มเหลวไม่ได้สานต่อเรื่องนี้ไปจนจบ โดยที่มีรายงานว่าเหตุผลสำคัญเป็นเพราะมีเสียงคัดค้านอย่างรุนแรงต่อข้อตกลงลักษณะดังกล่าวนี้ จากคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ และอิหร่านจึงยุติการปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติมนี้ในปี 2006
“ยุโรปนั้นได้รับสิ่งที่ตนเองเรียกร้องไปแล้ว อิหร่านในเวลานั้นไม่ได้กำลังดำเนินการเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ อีกทั้งยอมรับปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติม” ปาร์ซีบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “นี่เองคือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ว่าทำไมในคราวนี้อิหร่านจึงต้องการให้มัน (การลงนามในพิธีสารเพิ่มเติม) อยู่ในช่วงปิดเกม นั่นคือจะต้องมีการระบุรายละเอียดให้ชัดเจนเสียก่อน” เขากล่าว
**สัญญาณบ่งบอกว่าน่าจะตกลงกันได้**
“เราไม่เคยได้พูดจาหารืออย่างเปิดเผย, ตรงไปตรงมา, มีรายละเอียด, และจริงจังเช่นนี้กับคณะผู้แทนฝ่ายอิหร่านมาก่อนเลย” เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของคณะรัฐบาลสหรัฐฯบอกกับบรรดาผู้สื่อข่าวในนครเจนีวา ขณะยืนยันว่าการหารือครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่เจนีวาอีกในระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน “เราขอพูดว่า เรากำลังเริ่มต้นการเจรจาประเภทที่กำลังจะเดินหน้าไปยังสถานที่ซึ่ง ... ในทางเป็นจริงแล้ว ... คุณสามารถจินตนาการได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่คุณจะบรรลุข้อตกลงได้สำเร็จ”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้นี้ชี้ด้วยว่า ยังคงมี “ความแตกต่างที่ฉกาจฉกรรจ์” ดำรงอยู่ แต่ก็กล่าวต่อไปว่า “ถ้าหากไม่มีความแตกต่างที่ร้ายแรงแล้ว เรื่องนี้ก็ควรที่จะแก้ไขคลี่คลายได้ตั้งแต่เมื่อนมนานมาแล้วละ”
ทางด้าน ซาริฟ ผู้กำลังทุกข์ทรมานจากอาการปวดหลังอย่างยิ่งยวด บอกกับพวกผู้สื่อข่าวในตอนเย็นวันพุธ (16 ต.ค.) ในการแถลงข่าวเป็นภาษาอังกฤษ/ภาษาเปอร์เซีย ว่า ที่เจนีวานี้ อิหร่านได้เข้าร่วมใน “การเจรจาที่เป็นเนื้อเป็นหนังและมุ่งมองไปในอนาคตข้างหน้า”
“เรามีความรู้สึกว่าเหล่าสมาชิกของ (P5+1) ก็ได้แสดงออกให้เห็นถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองอันจำเป็นสำหรับการผลักดันกระบวนการนี้ให้คืบหน้าไป และเวลานี้เราจะต้องลงไปในรายละเอียดกัน” ซาริฟ ผู้ซึ่งต้องนั่งบนรถเข็น กล่าวเป็นภาษาอังกฤษภายหลังที่การเจราจาหารือรอบสุดท้ายสิ้นสุดลง
ระหว่างการเจรจากันที่เจนีวา 2 วันคราวนี้ ได้มีการปิดประตูหารือระดับทวิภาคีกันในวันอังคาร (15 ต.ค.) ระหว่าง อารัจชิ กับบุคคลที่เป็นผู้นำคณะผู้แทนของสหรัฐฯที่เจนีวาคราวนี้ ซึ่งก็คือ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการการเมือง (Under Secretary of State for Political Affairs) เวนดี เชอร์แมน (Wendy Sherman) ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ที่มีการหารือระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านบังเกิดขึ้นเช่นนี้ในขณะที่ P5+1 กำลังดำเนินการเจรจาอย่างเต็มขั้นกับเตหะราน ถึงแม้ผู้บังคับบัญชาของเชอร์แมน ซึ่งก็คือ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี (John Kerry) กับ ซาริฟ ได้เคยพบปะหารือกันเป็นเวลา 30 นาที ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของ P5+1 เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ขณะที่ต่างฝ่ายต่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในนครนิวยอร์ก
“การเจรจากันแบบทวิภาคีของเราเมื่อวานนี้ เป็นการเจรจาที่ได้ประโยชน์” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯผู้หนึ่งกล่าวในวันพุธ (16 ต.ค.)
เพียงข้อเท็จจริงที่ว่าการเจรจาคราวนี้กระทำกันเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก ก็ถูกมองว่าเป็น “ครั้งแรก” ที่น่ายินดีอีกประการหนึ่งแล้ว
“จังหวะของการเจรจาหารือดีขึ้นเป็นอย่างมาก” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯรายหนึ่งบอกกับพวกผู้สื่อข่าว พร้อมกับเสริมด้วยว่า การคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ “ก่อให้เกิดความสามารถชนิดที่จะพูดจาโต้ตอบกันได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องมีถ้าหากคุณต้องการที่จะให้มีการเจรจากันจริงๆ”
**การปิดเกมที่อาจเป็นไปได้**
ก่อนที่จะยืนยันว่าเขาจะไม่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดใดๆ ของข้อเสนอของเขา ซาริฟได้บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า ในขั้นตอนปัจจุบัน อิหร่านจะยังไม่ปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติม พร้อมกับกล่าวต่อไปว่า “ประเด็นปัญหาเหล่านี้ถูกนำมาวางแบอยู่บนโต๊ะแล้ว” และ “กำลังมีการหารือกัน และจะมีการหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาหารือกันต่อไปในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการเจรจา”
“เราต้องการได้รับหลักประกันว่า อิหร่านมีสิทธิในเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และก็ต้องการทำให้ผู้ที่นั่งอยู่ทางอีกฝ่ายหนึ่งของโต๊ะเจรจาบังเกิดความมั่นใจว่า โปรแกรมนิวเคลียร์ของเรานั้นเป็นไปเพื่อสันติ” อารัจชิ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวเป็นภาษาเปอร์เซียเมื่อวันอังคาร (15 ต.ค.) “ขั้นตอนแรกนั้นจะครอบคลุมเรื่องการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันขึ้นมาใหม่ และเรื่องการชี้แจงคลี่คลายความกังวลห่วงใจของทั้งสองฝ่าย” เขากล่าว และบอกต่อไปว่า “พวกเครื่องมือในการตรวจสอบพิสูจน์ความจริง” ทั้งหลายของ IAEA อาจถูกนำมาใช้ประโยชน์ในระหว่างกระบวนการเจรจานี้
อารัจชิ ย้ำว่า ในขั้นตอนสุดท้ายนั้น จะมีการนำเอาคำวินิจฉัยชี้ขาดทางศาสนา (ฟัตวา) ของ อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ที่มีเนื้อหาต่อต้านการที่อิหร่านจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์หรือจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ มาใช้ในฐานะที่เป็น “ส่วนที่ทรงความสำคัญที่สุด”
“อิหร่านจะใช้สถานที่ทางนิวเคลียร์ของตนเอง รวมไปถึงเตาปฏิกรณ์เพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ของตนเอง เพื่อวัตถุประสงค์ทางสันติ” เขากล่าวย้ำ และระบุว่า ในข้อเสนอของฝ่ายเตหะรานนั้น ในระยะสุดท้ายของข้อตกลงจะครอบคลุมถึง “การยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทั้งหมดที่ใช้กับอิหร่าน”
**มาตรการลงโทษคว่ำบาตรยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ**
“ครั้งแรก” อีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเจรจา P5+1 กับอิหร่านในคราวนี้ ได้แก่ การออก “คำแถลงร่วม” โดยออกในนามของ ซาริฟ และ แคเธอรีน แอชตัน (Catherine Ashton) ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของอียู ในฐานะตัวแทนของฝ่าย P5+1 ทั้งนี้คำแถลงร่วมระบุว่า จะมีการนำพวกผู้ชำนาญการด้านการคว่ำบาตรเข้าร่วมในการประชุมหารือของ “คณะผู้เชี่ยวชาญ” ก่อนการเจรจาวันที่ 7-8 พฤศจิกายน ทั้งนี้เพื่อทำความกระจ่างเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสองฝ่ายและทำความกระจ่างเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ในทางปฏิบัติ” นอกจากนั้นแล้ว “ครั้งแรก” อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมาก็คือ มีพวกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯในด้านการใช้มาตรการคว่ำบาตร เข้าร่วมอยู่ในคณะผู้แทนที่นำโดยเชอร์แมนด้วย ในการเจรจาที่เจนีวาสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามกันต่อไปว่า ทางฝ่าย P5+1 มีความตั้งใจที่จะเสนอมาตรการผ่อนคลายการคว่ำบาตรชนิดไหนและในจังหวะเวลาใดต่อฝ่ายอิหร่าน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงครอบคลุมรอบด้าน โดยที่ข้อตกลงดังกล่าวนี้น่าจะมีส่วนของมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นชั่วคราว (interim confidence-building measures หรือ CBMs) รวมอยู่ด้วย
เตหะรานนั้นยืนยันเรื่อยมาว่า ข้อตกลงสุดท้ายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นมา จะต้องยอมรับสิทธิของอิหร่านที่จะทำการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมบนดินแดนของตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนิวเคลียร์ทางพลเรือนของตน แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ในเมื่อรัฐสภาของสหรัฐฯนั้น พวกกลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอลคือพวกที่อิทธิพลบารมีอย่างสูงสุด นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ของอิสราเอลได้พยายามรณรงค์ป่าวร้องมาหลายสัปดาห์แล้ว เพื่อต่อต้านคัดค้านข้อตกลงใดๆ ก็ตามทีที่มิได้กำหนดให้อิหร่านต้องยกเลิกส่วนสาระสำคัญในโปรแกรมนิวเคลียร์ของตน ซึ่งรวมถึงเรื่องการเพิ่มความเข้มข้นนิวเคลียร์บนดินแดนของอิหร่านเองด้วย
วุฒิสมาชิกอเมริกันคนสำคัญ 10 คนซึ่งมีทั้งที่เป็นชาวพรรคเดโมแครตและชาวพรรครีพับลิกัน ได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 11 ตุลาคมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา เสนอแนะว่า พวกเขา “กำลังเตรียมพร้อมที่จะผลักดันมาตรการคว่ำบาตรใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลในเตหะราน” โดยที่จะดำเนินการในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ซึ่งหมายความว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนการเจรจารอบต่อไปในเจนีวานั่นเอง
เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯผู้ทำหน้าที่บรรยายสรุปให้พวกผู้สื่อข่าวฟังภายหลังเสร็จสิ้นการเจรจาที่เจนีวาคราวนี้ บอกว่าคณะผู้แทนสหรัฐฯชุดนี้กำลังจะจัดการบรรยายสรุปแบบปิดลับให้รัฐสภารับฟังในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
“อำนาจที่จะตัดสินใจในตอนท้ายที่สุดย่อมขึ้นอยู่กับพวกเขา(รัฐสภา) แต่ข้าพเจ้า (หมายเหตุผู้แปล – เนื่องจากต้นฉบับภาษาอังกฤษในที่นี้ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า “I” โดยที่ไม่มีร่องรอยให้เดาไว้ว่าผู้พูดเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง จึงขอใช้คำกลางๆ อย่างคำว่า “ข้าพเจ้า”) คาดหวังว่าเราจะยังคงสามารถเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเรามีกันอยู่” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอกด้วยว่า จะมีการบรรยายสรุปต่อพวกชาติพันธมิตรสำคัญๆ ด้วย ซึ่งรวมถึงอิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย อันเป็นประเทศที่ทราบกันดีว่ามีความระแวงสงสัย ถ้าหากไม่ถึงขนาดต่อต้านอย่างแข็งขัน ต่อการทำข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่จะอนุญาตให้อิหร่านยังคงดำเนินกระบวนการเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์บนดินแดนของตนเองได้
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)