xs
xsm
sm
md
lg

‘กลุ่มหนุนอิสราเอล’ผลักดันโจมตี‘ซีเรีย’เพื่อเตือน‘อิหร่าน’

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ และ ASTVผู้จัดการออนไลน์

(เก็บความและปรับปรุงจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pro-Israel groups mix Iran into Syria debate
By Jim Lobe
05/09/2013

ในตอนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กำลังพยายามใช้ปฏิบัติทางทหารเล่นงานซีเรียอยู่นั้น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอลซึ่งทรงอำนาจอิทธิพลอย่างยิ่ง ได้ออกโรงเป็นผู้นำในการกดดันรัฐสภาสหรัฐฯลงมติอนุมัติเรื่องนี้ แต่นอกเหนือจากกล่าวอ้างว่าดามัสกัสจะต้องถูกลงโทษเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศในเรื่องการห้ามใช้อาวุธเคมีแล้ว พวกกลุ่มนิยมอิสราเอลเหล่านี้ยังเน้นย้ำด้วยว่า การเล่นงานซีเรียนั้นจะเท่ากับเป็นการหยุดยั้งอิหร่านมิให้เดินหน้าสิ่งที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย

วอชิงตัน – เมื่อตอนที่รัฐสภาสหรัฐฯกำลังพิจารณาใคร่ครวญคำขอของบารัค โอบามา ที่ให้อนุมัติการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรีย มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอลอันทรงอำนาจอิทธิพลอย่างยิ่ง ได้ออกหน้าเป็นผู้นำในการผลักดันให้มีการปฏิบัติตามคำเรียกร้องของประธานาธิบดี

ทว่านอกเหนือจากเป็นเสียงสะท้อนป่าวร้องทัศนะของคณะรัฐบาลโอบามาที่ว่า จะต้องลงโทษเรื่องที่ดามัสกัสถูกกล่าวหาละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศซึ่งห้ามมิให้ใช้อาวุธเคมีแล้ว พวกกลุ่มนิยมอิสราเอลเหล่านี้ยังกำลังเน้นย้ำเหตุผลข้อเรียกร้องของพวกเขาเองไปด้วย ในระดับที่มากกว่าหรืออย่างน้อยที่สุดก็พอๆ กันกับทัศนะของทำเนียบขาวทีเดียว ทั้งนี้เหตุผลคำอธิบายเรื่องความจำเป็นที่จะต้องเล่นงานซีเรียตามที่กลุ่มพวกนี้ป่าวร้องเป็นพิเศษก็คือ การใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรียนั้น เท่ากับเป็นการหยุดยั้งอิหร่านมิให้เดินหน้าสิ่งที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์

“ประเด็นปัญหาซีเรียนั้นที่สำคัญมากก็คือ จำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจโดยมองผ่านบริบทในเรื่องอิหร่าน” ไมเคิล มาคอฟสกี (Michael Makovsky) ผู้อำนวยการสถาบันชาวยิวเพื่อกิจการความมั่นคงแห่งชาติ (Jewish Institute for National Security Affairs ใช้อักษรย่อว่า JINSA) แถลง ในขณะที่เขาเปิดตัวรายงานฉบับล่าสุดขององค์การของเขา ซึ่งใช้ชื่อว่า “ยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอิหร่านที่ติดอาวุธนิวเคลียร์” (Strategy to Prevent a Nuclear Iran) ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา

“การหยุดยั้งไม่ให้อิหร่านมีสมรรถนะทางด้านนิวเคลียร์ คือปัญหาคุกคามความมั่นคงแห่งชาติที่รีบด่วนที่สุดซึ่งกำลังเผชิญสหรัฐฯอยู่ในทุกวันนี้” เขากล่าวต่อ โดยที่เป็นการอ้างอิงส่วนอารัมภบทของรายงานฉบับนี้ ซึ่งเป็นผลผลิตของคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยอิหร่าน ((Iran Task Force) ที่ประกอบด้วยพวกเจ้าหน้าที่หลายๆ คนซึ่งเคยทำงานอยู่กับคณะรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช, นายทหารเกษียณอายุหลายๆ นาย, และเอกอัครราชทูตเดนนิส รอสส์ (Dennis Ross) ผู้เคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาระดับท็อปในประเด็นเรื่องอิหร่านให้โอบามาแทบจะตลอดวาระแรกแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา

“ถ้าหากไม่มีการตอบโต้ (จากรัฐสภาอเมริกัน) ในเรื่อง (ที่ซีเรียถูกกล่าวหาว่า) ก้าวข้ามเส้นสีแดง (ด้วยการใช้อาวุธเคมี) แล้ว ฝ่ายอิหร่านก็จะสรุปบทเรียนจากเรื่องนี้ว่า เมื่อเราขีดเส้นสีแดง (เพื่อแสดงขอบเขตที่ห้ามมิให้ก้าวล้ำล่วงละเมิด) ขึ้นมานั้น เราไม่ได้หมายความเช่นนั้นจริงๆ หรอก” รอสส์ระบุในระหว่างร่วมงานแถลงข่าวการเปิดตัวรายงานฉบับนี้

“ดังนั้นเมื่อคณะรัฐบาลโอบามา ประกาศให้เป็นที่ชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกัน (ไม่ให้อิหร่านได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์) มันก็จะดูเป็นเพียงถ้อยคำโวหารมากกว่าจะมีการกระทำอันจริงจัง (ถ้าหากสหรัฐฯล้มเหลวไม่ลงมือทำอะไรในเรื่องเกี่ยวกับซีเรีย)” นี่คือทัศนะของรอสส์ ซึ่งปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่สถาบันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้แห่งกรุงวอชิงตัน (Washington Institute for Near East Policy ใช้อักษรย่อว่า WINEP) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองที่นิยมฝักใฝ่อิสราเอลอีกองค์กรหนึ่ง

“ดังนั้น ผมจึงมีความคิดเห็นว่ามันมีความสัมพันธ์กันโดยตรงทีเดียวระหว่างสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรีย กับการที่ฝ่ายอิหร่านจะรับรู้ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้อย่างไร”

คำเตือนเหล่านี้ปรากฏออกมาในขณะที่คณะรัฐบาลโอบามาดูเหมือนประสบความคืบหน้าในรัฐสภาเมื่อวันพุธ (4ก.ย.) ในการปลุกระดมป่าวร้องรัฐสภาให้สนับสนุนการใช้ปฏิบัติการทางทหาร

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา (the Senate Foreign Relations Committee) ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 10 ต่อ 7 เห็นชอบกับร่างมติที่ให้อำนาจแก่โอบามาในการดำเนินการโจมตีทางทหารต่อซีเรีย ผู้ที่โหวตคัดค้านนั้นเป็นวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต 2 คน และจากพรรครีพับลิกัน 5 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นวุฒิสมาชิกรีพับลิกันที่วาดหวังมุ่งจะชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปในอนาคตอยู่ 2 คน ได้แก่ มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) กับ แรนด์ พอล (Rand Paul) แล้วยังมีชาวเดโมแครตอีกคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการซึ่งงดออกเสียง

เพื่อระดมเสียงข้างมากให้ยินยอมเห็นชอบ ผู้จัดทำร่างมติฉบับนี้ได้ระบุจำกัดการให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีเอาไว้ที่ 60 วัน โดยอาจมีการต่ออายุได้อีก 30 วัน พร้อมกับห้ามการใช้กำลังภาคพื้นดินในซีเรีย “เพื่อวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติการสู้รบ”

ทว่าร่างมตินี้ยังมีเนื้อหาส่วนซึ่งมุ่งสร้างความพออกพอใจให้แก่พวกสายเหยี่ยวที่นำโดย จอห์น แมคเคน (John McCain) วุฒิสมาชิกคนสำคัญของพรรครีพับลิกัน ด้วยการเพิ่มข้อความที่ระบุว่า การปฏิบัติการใดๆ ก็ตามทีควรที่จะมีจุดมุ่งหมายให้ “เกิดความเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมในสมรภูมิ” ในทางที่เป็นผลดีแก่พวกกบฏ เพื่อที่จะได้เพิ่มพูนโอกาสในการบรรลุข้อตกลงด้วยการเจรจากันและยุติสงครามกลางเมืองในซีเรียที่ดำเนินมากว่า 2 ปีแล้ว ร่างมติฉบับนี้ยังเร่งเร้าให้สหรัฐฯเพิ่มความช่วยเหลือทางทหารแก่พวกกบฏอีกด้วย (หมายเหตุผู้แปล – ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ในที่สุดโอบามาได้ตัดสินใจชะลอการขอให้รัฐสภาพิจารณาร่างมติเรื่องนี้ออกไปก่อน โดยหันไปยอมรับข้อเสนอใหม่ของฝ่ายรัสเซีย ที่ให้ซีเรียส่งมอบอาวุธเคมีทั้งหมดแก่นานาชาติ แลกกับการไม่ถูกโจมตี)

ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ความพยายามของคณะรัฐบาลโอบามาที่จะให้ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาทำท่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญทีเดียว ภายหลังการออกมาให้ความสนับสนุนของกลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอล ซึ่งก่อนหน้านั้น (จวบจนกระทั่งถึงวันที่ 3 กันยายน) ยังคงใช้ท่าทีนิ่งเงียบไม่แสดงทัศนะใดๆ ในประเด็นปัญหานี้ต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางอากัปกิริยาเฉยๆ ต่อภายนอกนี้เอง แท้ที่จริงแล้ว สถาบันที่ทรงความสำคัญยิ่งหลายๆ แห่งในกลุ่มล็อบบี้นี้ กำลังออกแรงกดดันอย่างไม่กระโตกกระตากทั้งต่อคณะรัฐบาลและต่อพวกสมาชิกรัฐสภามาหลายๆ สัปดาห์แล้ว เพื่อให้หันไปใช้นโยบายที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อดามัสกัส กระทั่งก่อนหน้าเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมีในวันที่ 21 สิงหาคมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 1,400 คน และรัฐบาลซีเรียถูกระบุว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบเสียอีก

กลุ่มล็อบบี้เพื่ออิสราเอลได้เปลี่ยนท่าทีจากการนิ่งเงียบแต่กดดันในทางลับ มาเป็นการออกโรงผลักดันอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนในวันที่ 3 กันยายน เมื่อ คณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกันอิสราเอล (American Israel Public Affairs Committee ใช้อักษรย่อว่า AIPAC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทรงอำนาจที่สุดในหมู่พวกล็อบบี้เพื่ออิสราเอลนี้ ได้ออกมาสนับสนุนอย่างแข็งขันให้รัฐสภาอนุมัติอำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการใช้ปฏิบัติการทางทหารต่อซีเรีย เฉกเช่นเดียวกับ องค์การที่ประชุมของบรรดาประธานขององค์กรชาวยิวอเมริกัน (Conference of Presidents of American Jewish Organizations) และสันนิบาตต่อต้านการหมิ่นประมาททำลายชื่อเสียงของชาวยิว (Anti-Defamation League)

จากนั้นก็ติดตามมาด้วยกลุ่มอื่นๆ เป็นต้นว่า พันธมิตรชาวยิวรีพับลิกัน (the Republican Jewish Coalition ใช้อักษรย่อว่า RJC) กลุ่มซึ่งครอบงำโดยพวกผู้บริจาคมั่งคั่งร่ำรวยที่ต่อต้านโอบามาอย่างแข็งขันและได้จัดหาเงินทุนจำนวนหลายล้านดอลลาร์ให้แก่การรณรงค์หาเสียงของฝ่ายรีพับลิกันตลอดจนมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) แห่งอิสราเอล และพรรคลิคุด (Likud) ของเขา

ขณะที่กลุ่มล็อบบี้เหล่านี้ส่วนใหญ่ออกมาพูดจาในลักษณะขานรับจุดยืนของคณะรัฐบาลที่ว่า การใช้อาวุธเคมีจักต้องถูกลงโทษ แต่พวกเขาก็เน้นย้ำว่า สิ่งที่ถูกวางเป็นเดิมพันอยู่ด้วยในเวลานี้ก็คือเครดิตความน่าเชื่อถือของวอชิงตันในการบังคับปฏิบัติให้เป็นไป “เส้นแดง” ที่ขีดประกาศออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองจากสายตาของอิหร่าน

“การตัดสินใจอันสำคัญยิ่งยวดคราวนี้บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่อิหร่านกำลังรีบเร่งมุ่งไขว่คว้าสมรรถนะทางด้านนิวเคลียร์มาครอบครอง” AIPAC ระบุในการออกโรงสนับสนุนร่างมติ “สั่งสอน” ซีเรีย

“หากรัฐสภาล้มเหลวไม่รับรองร่างมตินี้แล้ว ก็จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศชาติของเราในการป้องกันไม่ให้มีการใช้และไม่ให้มีการแพร่กระจายประดาอาวุธนอกแบบแผน และดังนั้นก็จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ความมั่นคงและผลประโยชน์ของประเทศชาติของเรา ตลอดจนของเหล่าพันธมิตรในภูมิภาคแถบนั้นของเรา”

ข้อความทำนองเดียวกันนี้ก็ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับใหม่ของ JINSA ตลอดจนในการแสดงความคิดเห็นระหว่างงานเปิดตัวรายงานฉบับนี้ของ รอสส์ และ อีริค เอเดลแมน (Eric Edelman) อดีตปลัดกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯฝ่ายนโยบาย (undersecretary of defense for policy) ในยุคของบุช ผู้เป็น 2 ประธานร่วมของคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยอิหร่าน (Iran Task Force) รวมทั้งสมาชิกคนอื่นๆ ของทีมงานนี้

“ผมมีความคิดเห็นว่า การที่รัฐสภาจะต้องอนุมัติการใช้กำลัง (ต่อซีเรีย) นั้น มีความสำคัญจริงๆ ... ในการยืนยันความน่าเชื่อถือของคำแถลงของประธานาธิบดี (ที่ว่าจะป้องกันไม่ให้อิหร่านได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์) โดยเฉพาะเมื่อมองจากสายตาของอิหร่าน” เอเดลแมนกล่าว

“ถ้าหากอิหร่านไม่เชื่อว่าเรายังมีทางเลือกที่จะใช้การทหารอยู่จริงๆ เบื้องลึกลงไปในเจตนารมณ์ที่จะทำการเจรจาของเรา มันก็จะไม่มีการเจรจาที่จะประสบความสำเร็จได้เลย” เขากล่าวต่อโดยเป็นการพาดพิงถึงการเจรจาระหว่าง P5+1 (P5+1 หมายถึงชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน, รัสเซีย บวกกับเยอรมนี) กับอิหร่าน ซึ่งมีเค้าว่าอาจจะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาเจรจาหารือกันใหม่อีกในช่วงปลายเดือนนี้

คณะทำงานเฉพาะกิจของ JINSA ชุดนี้ ส่วนใหญ่ทีเดียวประกอบด้วยสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจชุดก่อน ซึ่งได้จัดทำรายงานว่าด้วยอิหร่านที่มีจุดยืนแบบสายเหยี่ยวมากๆ ออกมาเป็นชุดให้แก่ทางศูนย์นโยบายไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่ง (Bipartisan Policy Center ใช้อักษรย่อว่า BPC) ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ในรายงานฉบับล่าสุด คณะทำงานเฉพาะกิจได้เสนอว่า วอชิงตันควรต้องระบุวัตถุประสงค์เชิงนโยบายอย่างเปิดเผยชัดเจนว่า วัตถุประสงค์สำคัญประการหนึ่งก็คือ “เพื่อทำให้อิหร่านไม่มีความสามารถที่จะพัฒนาสมรรถนะในด้านอาวุธนิวเคลียร์” โดยที่รายงานได้ให้คำจำกัดความว่า สมรรถนะที่ว่านี้หมายถึง จุดที่อิหร่านจะ “ผลิตวัสดุฟิสไซล์ (fissile material)เพื่อใช้ในอาวุธนิวเคลียร์ได้ โดยใช้เวลาน้อยกว่ากรอบระยะเวลาซึ่งต้องใช้เพื่อการตรวจจับและการตอบโต้ต่อกิจกรรมดังกล่าว” ทั้งนี้ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญบางรายนั้น อิหร่านน่าที่จะไปถึงจุดนี้ภายในกลางปี 2014

รายงานฉบับนี้กล่าวต่อไปว่า จากการที่ ฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ วอชิงตันจึงควรที่จะ “พยายามดำเนินงานด้านการทูต” อย่างไรก็ดี พวกสมาชิกในคณะทำงานเฉพาะกิจชุดนี้ดูจะประสบความล้มเหลวในการบรรลุความคิดเห็นร่วมกันว่า ในการดำเนินการทางทูตดังกล่าวนี้ ข้อตกลงอะไรบ้างจึงจะเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้

ทั้งนี้ขณะที่สมาชิกบางคนในคณะทำงานเฉพาะกิจ รวมทั้งตัว รอสส์ ด้วย กล่าวว่าสหรัฐฯควรที่จะเสนอทำข้อตกลงว่า จะอนุญาตให้อิหร่านทำการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมระดับไม่เกิน 5% อีกทั้งจำกัดปริมาณยูเรเนียมเข้มข้นที่เตหะรานจะสามารถเก็บรักษาไว้โดยที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์การตรวจสอบอันเข้มงวด ทว่ามีสมาชิกคนอื่นๆ ที่บอกว่าไม่ควรอนุญาตให้อิหร่านมีสมรรถนะในการเพิ่มความเข้มข้นวัสดุนิวเคลียร์ใดๆ ทั้งนั้น

ในเวลาเดียวกัน พวกสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจชุดนี้ดูจะมีความเห็นต้องตรงกัน ในการคัดค้านเสียงเรียกร้องเมื่อเร็วๆ นี้ของพวกสถาบันคลังสมองและผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่านหลายๆ ราย ซึ่งจะให้วอชิงตันแสดงท่าทีเป็นมิตรไมตรีต่อคณะรัฐบาลใหม่ในเตหะราน เป็นต้นว่า การออกมายอมรับว่าอิหร่านมีสิทธิที่จะเพิ่มความเข้มข้นวัสดุนิวเคลียร์ หรือ “การชิงเป็นฝ่ายส่งสัญญาณในระหว่างการพูดจาหารือกันว่ามีเจตนารมณ์ที่จะยกเลิกมาตรการลงโทษคว่ำบาตร”อิหร่าน

ตรงกันข้าม รายงานล่าสุดนี้กลับเร่งเร้าให้สหรัฐฯเพิ่มแรงกดดันต่ออิหร่านมากขึ้นอีก ด้วยการประกาศใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรใหม่ๆ ตลอดจนด้วยการตระเตรียมและพัฒนา “สมรรถนะการโจมตีทางทหารอย่างเป็นจริงเป็นจังมากๆ ซึ่งจะสามารถใช้เล่นงานสิ่งปลูกสร้างทางนิวเคลียร์และสิ่งปลูกสร้างทางยุทธศาสตร์ต่างๆ ของอิหร่าน รวมทั้งตระเตรียมและพัฒนาโอกาสต่างๆ อันหลากหลายที่จะสามารถดำเนินสงครามทางการเมืองเพื่อคัดค้านระบอบปกครองอิหร่านได้”

โดยในเรื่องการตระเตรียมสมรรถนะการโจมตีทางทหารนั้น รอสส์เสนอแนะว่า “เราควรต้องมีการสาธิต (ให้เห็นอานุภาพของ “ระเบิดทำลายบังเกอร์ใต้ดิน” bunker-buster bomb ขนาด 30,000 ปอนด์) โดยนำเอาคลิปการสาธิตนี้ใส่ไว้ในยูทูบ และปล่อยให้มันแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ปล่อยให้ฝ่ายอิหร่านได้เห็นคลิปดังกล่าวนี้ เพราะโดยพื้นฐานแล้วนี่คือศักยภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเอาไว้ใช้จัดการกับพวกเขานั่นเอง ...”

“ผมยังคงคิดว่าเมื่อมาถึงจุดนี้ เมื่อพิจารณาจากจุดยืนของเราในซีเรียแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือการลงมือกระทำตามร่างมติที่เสนอต่อรัฐสภา และลงมือกระทำในลักษณะที่ต้องให้ถูกมองว่าเป็นไปอย่างทรงประสิทธิภาพ มีความหมายและเอาจริงเอาจัง” เขากล่าวต่อ

จิม โล้บ จัดทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.lobelog.com.

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น