(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
David against nuclear Goliath in Japan
By Suvendrini Kakuchi
16/10/2013
พวกนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเคยได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ในช่วงที่ภัยพิบัติโรงไฟฟ้าปรมาณูฟูกูชิมะไดอิจิปี 2011 ผ่านพ้นไปไม่นาน ทว่าแรงหนุนช่วยดังกล่าวกำลังจืดจางลงเสียแล้วเนื่องจากทั้งรัฐบาลและพวกบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างโหมกระหน่ำหว่านล้อมสาธารณชน ให้เห็นดีเห็นงามกับการเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ในแดนอาทิตย์อุทัยกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
โตเกียว – เมื่อสัก 2 ปีครึ่งมาแล้ว อายาโกะ โองะ (Ayako Oga) ซึ่งปัจจุบันอายุ 30 ปี พบว่าตัวเธอเองช่างอับจนหมดหนทางเอาเสียจริงๆ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แล้วตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิกระหน่ำใส่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น จนทำให้เตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi) อยู่ในสภาพพิกลพิการ จากนั้นเธอกับสามีของเธอถูกบังคับให้ละทิ้งหมู่บ้านโอกุมะ มาจิ (Okuma Machi) ซึ่งเป็นที่พำนักอาศัยของพวกเธอ ที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าเพียงแค่ 5 กิโลเมตร
โองะ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเกษตรกร แต่วันนี้เธอกลายเป็นนักเคลื่อนไหวชั้นนำในขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของญี่ปุ่น โดยเข้าร่วมกับชาวบ้านร้านถิ่นในฟูกูชิมะหลายร้อยคนซึ่งต่างได้รับผลกระทบกระเทือนจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2011 เพื่อประท้วงคัดค้านแผนการของรัฐบาลที่จะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ผู้ซึ่งกำลังแข็งขันผลักดันวาระทางเศรษฐกิจที่ได้รับการขนานนามตามชื่อของเขาว่า “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) ได้ประกาศต่อที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า “เราจะเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ โดยยึดมั่นอ้างอิงอยู่กับมาตรฐานความปลอดภัยที่มีความเข้มงวดที่สุดในโลก”
เวลานี้ในขณะที่พำนักอาศัยอยู่พร้อมกับผู้ถูกบังคับให้อพยพหลายร้อยคนที่เมืองอาอิซุ วากามัตสึ (Aizu Wakamatsu) ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าที่เสียหายหนักแห่งนั้นประมาณ 100 กิโลเมตร โองะตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาอีก “การนำเสนอหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับด้านมืดของไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์คือสิ่งที่ฉันต้องทำ” เธอบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)
กระแสอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้พุ่งทะยานไปถึงจุดสูงสุดเนื่องจากเหตุการณ์ฟูกูชิมะ การสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ชั้นนำ “โตเกียวชิมบุง” (Tokyo Shimbun) ในเดือนกรกฎาคม 2012 แสดงให้เห็นว่า เกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 3,000 คนต่างคัดค้านไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่าภัยพิบัตินิวเคลียร์คราวนี้ได้บังคับให้ประชาชนราว 85,000 คนต้องออกจากบ้านเรือนของพวกเขาเอง แล้วยังมีรังสีปนเปื้อนผืนดินเป็นเนื้อที่กว้างขวาง ตลอดจนทำให้เกษตรกรและชาวประมงต้องสูญเสียรายได้มากมาย
อย่างไรก็ตาม โองะ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์คนอื่นๆ อาจจะพบว่าพวกเขากำลังกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียแล้ว ในเมื่อเวลานี้รัฐบาลที่มีพรรคลิเบอรัล เดโมแครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า LDP) ของนายกรัฐมนตรีอาเบะเป็นแกนนำ กำลังจับมือกับพวกบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ในการผลักดันให้เริ่มต้นเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์กันใหม่ โดยหยิบยกเหตุผลข้ออ้างในเรื่องวิกฤตพลังงานขาดแคลน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอยู่ราว 50 เครื่องของญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามาสนองความต้องการใช้พลังงานประมาณ 30% ของแดนอาทิตย์อุทัย ต่างถูกปิดเครื่องด้วยเหตุผลต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบตามวาระที่ต้องทำอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ญี่ปุ่นซึ่งมีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (จีดีพีของญี่ปุ่นมีมูลค่า 5.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงต้องนำเข้าพลังงานเกือบๆ 90% และกำลังเผชิญภาวะขาดดุลการค้าสูงลิ่วคิดเป็นมูลค่า 1.02 ล้านล้านเยน (10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใดๆ ก็ตามสามารถเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์กันใหม่ได้ ก็คือจะต้องได้รับความยินยอมจากท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงกำลังพยายามโฆษณาป่าวร้องว่าในการผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ต่อแต่นี้ไปจะต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยอันเข้มงวดกวดขัน
ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้ประกาศจัดตั้งองค์การกำกับจัดระเบียบด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Regulation Authority ใช้อักษรย่อว่า NRA) เพื่อให้เป็นหน่วยงานกำกับตรวจสอบอิสระขึ้นมาเมื่อเดือนกันยายน 2012 โดยประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับท็อปและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ผู้นำขององค์การนี้คือ ชุนอิชิ ทานากะ (Shunichi Tanaka) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่นครฟูกูชิมะ เขาเคยออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า การตอบโต้รับมือวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไม่ว่าจะเป็นของทางการญี่ปุ่น หรือของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์คอมพานี (Tokyo Electric Power Company หรือ TEPCO) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินงานโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ต่างก็อยู่ในสภาพ “กำลังทำอะไรงุ่มง่ามซุ่มซ่ามท่ามกลางความมืด” กันทั้งสิ้น
แนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยฉบับใหม่ที่ NRA เพิ่งประกาศออกมาบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้นั้น มีพื้นฐานอยู่บนแนวความคิดที่ว่าจะต้องตั้งแนวป้องกันเอาไว้หลายชั้นอย่างแน่นหนามากขึ้นกว่าเดิม โดยกำหนดให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเสริมแนวป้องกันชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการบังคับควบคุมทางด้านความปลอดภัยทั้งหมดไปในทันทีทันใด ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว, คลื่นสึนามิ, และเหตุการณ์ภายนอกอันร้ายแรงอื่นๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาทำการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังถูกกำหนดให้ต้องตรวจสอบพวกรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวที่ยังคงมีพลังอยู่ รวมทั้งจะต้องสร้างแนวกำแพงป้องกันคลื่นสึนามิที่สูงกว่าเดิม ตลอดจนต้องมีห้องควบคุมแห่งที่สอง
การโฆษณาป่าวร้องอย่างแข็งขันเหล่านี้ ดูเหมือนจะทำให้ประชาชนจำนวนมากยอมเชื่อถือคำมั่นสัญญาของรัฐบาลในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ การสำรวจความคิดเห็นที่กระทำโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุง (Asahi Shimbun) ของญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมปีนี้ บ่งบอกให้เห็นว่าพลังสนับสนุนการยุติการใช้ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์กำลังถดถอยอ่อนกำลังลง กล่าวคือ 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,000 คน ให้การสนับสนุนการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้งโดยให้กระทำตามแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เปรียบเทียบกับที่อยู่ในระดับ 37% ในการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มิตสุฮิโกะ ทานากะ (Mitsuhiko Tanaka) นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำงานเรื่องการออกแบบเตาปฏิกรณ์มาหลายสิบปี เปรียบเทียบการต่อสู้ของพวกนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ว่า เป็นเสมือน “เดวิด” (David) ผู้กำลังสู้รบกับยักษ์ใหญ่โกไลแอต (Goliath)
“พวกนักเคลื่อนไหวกำลังต่อสู้กับรัฐบาลผู้ทรงอำนาจและพวกบริษัทภาคธุรกิจที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ผู้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์กลายเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมขึ้นมาให้ได้” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “พวกเขามีอิทธิพลบารมีที่จำเป็นทั้งหลายทั้งปวงในการโยกคลอนมติมหาชนในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ถือว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือสิ่งที่สำคัญที่สุด”
ตัวทานากะเองคิดว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของทางการทั้งการอวดอ้างมาตรฐานความปลอดภัยและการพยายามโน้มน้าวให้สาธารณชนยอมรับนั้นล้วนแต่มีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง “นอกเหนือจากขาดความโปร่งใสในกระบวนวิธีเริ่มต้นเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าเหล่านี้แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งย่อมได้แก่เรื่องที่ว่าจนถึงเวลานี้พวกเจ้าหน้าที่ยังคงไม่ยินยอมเปิดเผยให้เห็นกันอย่างสมเหตุสมผลในทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสาเหตุอันแท้จริงของอุบัติเหตุที่ฟูกูชิมะ" เขาบอก
มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์คำอธิบายอย่างเป็นทางการที่ว่า คลื่นยักษ์สึนามิที่มีความสูงระดับ 13 – 15 เมตรเป็นสาเหตุเพียงประการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่าเนื่องจากเตาปฏิกรณ์หลายๆ เครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนั้นยังอยู่ในสภาพพิกลพิการ จึงทำให้ยังไม่มีการเผยแพร่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดออกมาสู่ภายนอก
ศาสตราจารย์ ฮิโรมิตสึ อิโนะ (Hiromitsu Ino) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ และเวลานี้เป็นประธานของกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ซึ่งใช้ชื่อว่า คณะกรรมการภาคพลเมืองว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ (Citizens' Commission on Nuclear Energy) เป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ “ผมไม่ได้พึงพอใจกับระเบียบกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของทางการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเลย เพราะมันไม่ได้ครอบคลุมถึงผลประโยชน์ของประชาชนวงกว้างและไม่ได้ครอบคลุมถึงมิติทางด้านจริยธรรมของไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “และสิ่งที่ผมระบุถึงเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปรึกษาหารือกับประชาชนอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา”
อิโนะยังเห็นว่า แนวทางปฏิบัติใหม่ที่ NRA ประกาศออกมายังไม่เข้มงวดรัดกุมเพียงพอ เขายกตัวอย่างว่า แนวทางปฏิบัตินี้เปิดทางให้ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถใช้เวลาอย่างไม่จำกัดในการติดตั้งอุปกรณ์ฟิวเตอร์ในเตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด โดยที่อุปกรณ์นี้ถูกมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการลดผลกระทบอันเป็นพิษเมื่อเกิดการระเบิดของไฮโดรเจน
เป็นที่เชื่อกันว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะมีความเลวร้ายที่สุดเป็นรองก็แค่เพียงภัยพิบัตินิวเคลียร์เชร์โนบิล (Chernobyl) ในยูเครน เมื่อปี 1986 เท่านั้น แล้วมันยังคงเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงขณะนี้ โดยที่รัฐบาลยังกำลังต้องสู้รบปรบมือเพื่อควบคุมน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนรังสีระดับสูง ไม่ให้ไหลซึมลงสู่ทะเลและอาณาบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้า
ตามข้อมูลของบริษัท TEPCO เอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตรวจพบว่าน้ำทะเลที่อยู่ใกล้ๆ เตาปฏิกรณ์ซึ่งเป็นอัมพาตนั้น มีระดับกัมมันตภาพรังสีซีเซียม (caesium) สูงมาก
ก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม รัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดฟูกูชิมะได้เผยแพร่ข้อมูลสถิติใหม่เกี่ยวกับการทดสอบต่อมไทรอยด์ของเด็กๆ เกือบ 200,000 คน ตัวเลขดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์อยู่ในอาซาฮีชิมบุงระบุว่า ตรวจพบว่าเด็กและเยาวชนจำนวน 44 คนมีอาการหรือสงสัยว่ามีอาการของโรคต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้พวกเขามีอายุในระหว่าง 6 ถึง 18 ปีเมื่อตอนที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
โองะเล่าว่าสามีของเธอได้กลับไปยังบ้านเก่าของพวกเธอเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตามโครงการที่ทางรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องจากบ้านมาเนื่องจากภัยนิวเคลียร์ ได้กลับไปเก็บรวบรวมหลักฐานเอกสารและข้าวของต่างๆ
“ฉันไม่ได้ไปกับเขาด้วย ถึงแม้ฉันจะอยากไปดูบ้านเก่าของฉันเหลือเกิน” เธอบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “ฉันต้องพยายามหลีกเลี่ยงรังสี เพราะฉันยังต้องการมีลูกในอนาคต คนหนุ่มคนสาวอย่างเราต่างตระหนักกันดีแล้วว่ามีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่สามารถพึ่งพาอาศัยได้และสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้”
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
David against nuclear Goliath in Japan
By Suvendrini Kakuchi
16/10/2013
พวกนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเคยได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ในช่วงที่ภัยพิบัติโรงไฟฟ้าปรมาณูฟูกูชิมะไดอิจิปี 2011 ผ่านพ้นไปไม่นาน ทว่าแรงหนุนช่วยดังกล่าวกำลังจืดจางลงเสียแล้วเนื่องจากทั้งรัฐบาลและพวกบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ต่างโหมกระหน่ำหว่านล้อมสาธารณชน ให้เห็นดีเห็นงามกับการเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ในแดนอาทิตย์อุทัยกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
โตเกียว – เมื่อสัก 2 ปีครึ่งมาแล้ว อายาโกะ โองะ (Ayako Oga) ซึ่งปัจจุบันอายุ 30 ปี พบว่าตัวเธอเองช่างอับจนหมดหนทางเอาเสียจริงๆ ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แล้วตามมาด้วยคลื่นยักษ์สึนามิกระหน่ำใส่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น จนทำให้เตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi) อยู่ในสภาพพิกลพิการ จากนั้นเธอกับสามีของเธอถูกบังคับให้ละทิ้งหมู่บ้านโอกุมะ มาจิ (Okuma Machi) ซึ่งเป็นที่พำนักอาศัยของพวกเธอ ที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าเพียงแค่ 5 กิโลเมตร
โองะ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเกษตรกร แต่วันนี้เธอกลายเป็นนักเคลื่อนไหวชั้นนำในขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของญี่ปุ่น โดยเข้าร่วมกับชาวบ้านร้านถิ่นในฟูกูชิมะหลายร้อยคนซึ่งต่างได้รับผลกระทบกระเทือนจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม 2011 เพื่อประท้วงคัดค้านแผนการของรัฐบาลที่จะเริ่มเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ผู้ซึ่งกำลังแข็งขันผลักดันวาระทางเศรษฐกิจที่ได้รับการขนานนามตามชื่อของเขาว่า “อาเบะโนมิกส์” (Abenomics) ได้ประกาศต่อที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า “เราจะเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ โดยยึดมั่นอ้างอิงอยู่กับมาตรฐานความปลอดภัยที่มีความเข้มงวดที่สุดในโลก”
เวลานี้ในขณะที่พำนักอาศัยอยู่พร้อมกับผู้ถูกบังคับให้อพยพหลายร้อยคนที่เมืองอาอิซุ วากามัตสึ (Aizu Wakamatsu) ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าที่เสียหายหนักแห่งนั้นประมาณ 100 กิโลเมตร โองะตัดสินใจเด็ดเดี่ยวว่าจะไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นมาอีก “การนำเสนอหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับด้านมืดของไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์คือสิ่งที่ฉันต้องทำ” เธอบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)
กระแสอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้พุ่งทะยานไปถึงจุดสูงสุดเนื่องจากเหตุการณ์ฟูกูชิมะ การสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์ชั้นนำ “โตเกียวชิมบุง” (Tokyo Shimbun) ในเดือนกรกฎาคม 2012 แสดงให้เห็นว่า เกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 3,000 คนต่างคัดค้านไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร เมื่อพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่าภัยพิบัตินิวเคลียร์คราวนี้ได้บังคับให้ประชาชนราว 85,000 คนต้องออกจากบ้านเรือนของพวกเขาเอง แล้วยังมีรังสีปนเปื้อนผืนดินเป็นเนื้อที่กว้างขวาง ตลอดจนทำให้เกษตรกรและชาวประมงต้องสูญเสียรายได้มากมาย
อย่างไรก็ตาม โองะ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์คนอื่นๆ อาจจะพบว่าพวกเขากำลังกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียแล้ว ในเมื่อเวลานี้รัฐบาลที่มีพรรคลิเบอรัล เดโมแครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party ใช้อักษรย่อว่า LDP) ของนายกรัฐมนตรีอาเบะเป็นแกนนำ กำลังจับมือกับพวกบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ในการผลักดันให้เริ่มต้นเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์กันใหม่ โดยหยิบยกเหตุผลข้ออ้างในเรื่องวิกฤตพลังงานขาดแคลน และความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอยู่ราว 50 เครื่องของญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ามาสนองความต้องการใช้พลังงานประมาณ 30% ของแดนอาทิตย์อุทัย ต่างถูกปิดเครื่องด้วยเหตุผลต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบตามวาระที่ต้องทำอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ญี่ปุ่นซึ่งมีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (จีดีพีของญี่ปุ่นมีมูลค่า 5.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงต้องนำเข้าพลังงานเกือบๆ 90% และกำลังเผชิญภาวะขาดดุลการค้าสูงลิ่วคิดเป็นมูลค่า 1.02 ล้านล้านเยน (10,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใดๆ ก็ตามสามารถเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์กันใหม่ได้ ก็คือจะต้องได้รับความยินยอมจากท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงกำลังพยายามโฆษณาป่าวร้องว่าในการผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ต่อแต่นี้ไปจะต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยอันเข้มงวดกวดขัน
ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้ประกาศจัดตั้งองค์การกำกับจัดระเบียบด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Regulation Authority ใช้อักษรย่อว่า NRA) เพื่อให้เป็นหน่วยงานกำกับตรวจสอบอิสระขึ้นมาเมื่อเดือนกันยายน 2012 โดยประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งเหล่านักวิทยาศาสตร์ระดับท็อปและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย ผู้นำขององค์การนี้คือ ชุนอิชิ ทานากะ (Shunichi Tanaka) ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่นครฟูกูชิมะ เขาเคยออกมาแถลงอย่างเป็นทางการว่า การตอบโต้รับมือวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไม่ว่าจะเป็นของทางการญี่ปุ่น หรือของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์คอมพานี (Tokyo Electric Power Company หรือ TEPCO) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินงานโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ต่างก็อยู่ในสภาพ “กำลังทำอะไรงุ่มง่ามซุ่มซ่ามท่ามกลางความมืด” กันทั้งสิ้น
แนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยฉบับใหม่ที่ NRA เพิ่งประกาศออกมาบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้นั้น มีพื้นฐานอยู่บนแนวความคิดที่ว่าจะต้องตั้งแนวป้องกันเอาไว้หลายชั้นอย่างแน่นหนามากขึ้นกว่าเดิม โดยกำหนดให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเสริมแนวป้องกันชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 ของตนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมทั้งมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียการบังคับควบคุมทางด้านความปลอดภัยทั้งหมดไปในทันทีทันใด ในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว, คลื่นสึนามิ, และเหตุการณ์ภายนอกอันร้ายแรงอื่นๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาทำการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังถูกกำหนดให้ต้องตรวจสอบพวกรอยเลื่อนของแผ่นดินไหวที่ยังคงมีพลังอยู่ รวมทั้งจะต้องสร้างแนวกำแพงป้องกันคลื่นสึนามิที่สูงกว่าเดิม ตลอดจนต้องมีห้องควบคุมแห่งที่สอง
การโฆษณาป่าวร้องอย่างแข็งขันเหล่านี้ ดูเหมือนจะทำให้ประชาชนจำนวนมากยอมเชื่อถือคำมั่นสัญญาของรัฐบาลในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ การสำรวจความคิดเห็นที่กระทำโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีชิมบุง (Asahi Shimbun) ของญี่ปุ่นในเดือนกรกฎาคมปีนี้ บ่งบอกให้เห็นว่าพลังสนับสนุนการยุติการใช้ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์กำลังถดถอยอ่อนกำลังลง กล่าวคือ 40% ของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,000 คน ให้การสนับสนุนการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้งโดยให้กระทำตามแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เปรียบเทียบกับที่อยู่ในระดับ 37% ในการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มิตสุฮิโกะ ทานากะ (Mitsuhiko Tanaka) นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำงานเรื่องการออกแบบเตาปฏิกรณ์มาหลายสิบปี เปรียบเทียบการต่อสู้ของพวกนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ว่า เป็นเสมือน “เดวิด” (David) ผู้กำลังสู้รบกับยักษ์ใหญ่โกไลแอต (Goliath)
“พวกนักเคลื่อนไหวกำลังต่อสู้กับรัฐบาลผู้ทรงอำนาจและพวกบริษัทภาคธุรกิจที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ผู้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์กลายเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมขึ้นมาให้ได้” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “พวกเขามีอิทธิพลบารมีที่จำเป็นทั้งหลายทั้งปวงในการโยกคลอนมติมหาชนในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ถือว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจคือสิ่งที่สำคัญที่สุด”
ตัวทานากะเองคิดว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของทางการทั้งการอวดอ้างมาตรฐานความปลอดภัยและการพยายามโน้มน้าวให้สาธารณชนยอมรับนั้นล้วนแต่มีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง “นอกเหนือจากขาดความโปร่งใสในกระบวนวิธีเริ่มต้นเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าเหล่านี้แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งย่อมได้แก่เรื่องที่ว่าจนถึงเวลานี้พวกเจ้าหน้าที่ยังคงไม่ยินยอมเปิดเผยให้เห็นกันอย่างสมเหตุสมผลในทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสาเหตุอันแท้จริงของอุบัติเหตุที่ฟูกูชิมะ" เขาบอก
มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่วิพากษ์วิจารณ์คำอธิบายอย่างเป็นทางการที่ว่า คลื่นยักษ์สึนามิที่มีความสูงระดับ 13 – 15 เมตรเป็นสาเหตุเพียงประการเดียวเท่านั้นที่ทำให้เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิจิได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่าเนื่องจากเตาปฏิกรณ์หลายๆ เครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนั้นยังอยู่ในสภาพพิกลพิการ จึงทำให้ยังไม่มีการเผยแพร่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดออกมาสู่ภายนอก
ศาสตราจารย์ ฮิโรมิตสึ อิโนะ (Hiromitsu Ino) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ และเวลานี้เป็นประธานของกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ซึ่งใช้ชื่อว่า คณะกรรมการภาคพลเมืองว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ (Citizens' Commission on Nuclear Energy) เป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ “ผมไม่ได้พึงพอใจกับระเบียบกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของทางการที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเลย เพราะมันไม่ได้ครอบคลุมถึงผลประโยชน์ของประชาชนวงกว้างและไม่ได้ครอบคลุมถึงมิติทางด้านจริยธรรมของไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์” เขาบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “และสิ่งที่ผมระบุถึงเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อได้มีการปรึกษาหารือกับประชาชนอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลา”
อิโนะยังเห็นว่า แนวทางปฏิบัติใหม่ที่ NRA ประกาศออกมายังไม่เข้มงวดรัดกุมเพียงพอ เขายกตัวอย่างว่า แนวทางปฏิบัตินี้เปิดทางให้ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถใช้เวลาอย่างไม่จำกัดในการติดตั้งอุปกรณ์ฟิวเตอร์ในเตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด โดยที่อุปกรณ์นี้ถูกมองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการลดผลกระทบอันเป็นพิษเมื่อเกิดการระเบิดของไฮโดรเจน
เป็นที่เชื่อกันว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะมีความเลวร้ายที่สุดเป็นรองก็แค่เพียงภัยพิบัตินิวเคลียร์เชร์โนบิล (Chernobyl) ในยูเครน เมื่อปี 1986 เท่านั้น แล้วมันยังคงเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงขณะนี้ โดยที่รัฐบาลยังกำลังต้องสู้รบปรบมือเพื่อควบคุมน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนรังสีระดับสูง ไม่ให้ไหลซึมลงสู่ทะเลและอาณาบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้า
ตามข้อมูลของบริษัท TEPCO เอง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ตรวจพบว่าน้ำทะเลที่อยู่ใกล้ๆ เตาปฏิกรณ์ซึ่งเป็นอัมพาตนั้น มีระดับกัมมันตภาพรังสีซีเซียม (caesium) สูงมาก
ก่อนหน้านั้นในเดือนสิงหาคม รัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัดฟูกูชิมะได้เผยแพร่ข้อมูลสถิติใหม่เกี่ยวกับการทดสอบต่อมไทรอยด์ของเด็กๆ เกือบ 200,000 คน ตัวเลขดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์อยู่ในอาซาฮีชิมบุงระบุว่า ตรวจพบว่าเด็กและเยาวชนจำนวน 44 คนมีอาการหรือสงสัยว่ามีอาการของโรคต่อมไทรอยด์ ทั้งนี้พวกเขามีอายุในระหว่าง 6 ถึง 18 ปีเมื่อตอนที่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ
โองะเล่าว่าสามีของเธอได้กลับไปยังบ้านเก่าของพวกเธอเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตามโครงการที่ทางรัฐบาลจัดขึ้นเพื่อให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องจากบ้านมาเนื่องจากภัยนิวเคลียร์ ได้กลับไปเก็บรวบรวมหลักฐานเอกสารและข้าวของต่างๆ
“ฉันไม่ได้ไปกับเขาด้วย ถึงแม้ฉันจะอยากไปดูบ้านเก่าของฉันเหลือเกิน” เธอบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “ฉันต้องพยายามหลีกเลี่ยงรังสี เพราะฉันยังต้องการมีลูกในอนาคต คนหนุ่มคนสาวอย่างเราต่างตระหนักกันดีแล้วว่ามีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่สามารถพึ่งพาอาศัยได้และสามารถเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้”
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)