เอเอฟพี /เอเจนซีย์ - วันนี้ (17) หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ รายงานพิเศษจากข้อมูลที่ได้รับจากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ NSA ถึงหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ NSA มีส่วนสำคัญในการที่รัฐบาลอเมริกันใช้โดรนล่าสั่งหารตามรายชื่อที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา มีอยู่ในมือ โดยจากเอกสารลับที่โพสต์มียืนยันได้ว่า ฮัสซาน กูล หัวหน้าระดับสูงของเครือข่ายอัลกออิดะห์ที่เสียชีวิต เพราะการโจมตีด้วยโดรนในปี 2012 นั้นเป็นเพราะ NSA ใช้ระบบล้วงความลับข้อมูลคอมพิวเตอร์แดรเกเนต (Dragnet) จนสามารถแกะรอยที่อยู่ปัจจุบันของเขาและปลิดชีพได้สำเร็จ
จากเอกสารลับของหน่วยงาน NSA สหรัฐฯที่อยู่ในมือหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ทำให้ยืนยันได้ถึงความสำคัญของหน่วยงานความมั่นคงแห่งนี้ต่อปฎิบัติการล่าสังหารของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งยืนยันได้ว่าการเสียชีวิตของ “ฮัสซาน กูล” หัวหน้าระดับสูงระดับปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ที่ปากีสถานในปีที่ผ่านมานั้นถูกแกะรอยได้จากการที่ NSA ใช้ระบบล้วงความลับจากคอมพิวเตอร์แดรเกเนต (Dragnet) สืบผ่านทางอีเมลของภรรยากูล
ที่ผ่านมาสหรัฐฯไม่เคยยืนยันอย่างเป็นทางการว่าได้ลงมือปลิดชีพผู้นำระดับสูงของเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์แล้ว แต่ทว่าข้อมูลลับของ NSA ที่โพสต์ได้จากสโนว์เดนยืนยันเช่นนั้น
กูลถูกจับในปี 2004 ได้ที่อิรัก และต่อมาถูกหน่วยงาน CIA สหรัฐฯนำไปขังในคุกลับแห่งหนึ่งเพื่อทำการสอบปากคำในการล้วงความลับเกี่ยวกับโอซามะห์ บินลาเดน และนำมาสู่การที่สหรัฐฯใช้หน่วยซีลเข้าปลิดชีพบินลาเดนในที่สุด เป็นที่ทราบกันว่าหน่วยงาน CIA สหรัฐฯมีวิธีทรมานเพื่อรีดเค้นความลับจากผู้ต้องหาต่างๆ นานา เช่น จับคาลิด เชค โมฮัมเหม็ด ผู้นำอันดับ 3ของกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ กรอกน้ำเพื่อให้เขารู้สึกทรมานเหมือนกำลังจมน้ำตายเพื่อต้องการข้อมูลผู้นำสารที่จะนำไปสู่บินลาเดน เป็นต้น
โพสต์ยังเผยต่อว่า กูลถูกจองจำอยู่ในคุกลับของซีไอเอนาน 2 ปี และในปี 2006 สหรัฐฯ ได้ส่งตัวเขากลับไปที่ปากีสถานซึ่งเป็นประเทศภูมิลำเนาของเขา กูลได้รับอิสรภาพและกลับเข้าร่วมกลุ่มอัลกออิดะห์ได้อีกครั้ง นอกจากนี้โพสต์ยังยืนยันว่า การที่ CIAจะสามารถจับกูลและผู้ก่อการร้ายคนอื่นได้นั้นเป็นเพราะ NSA วางแดรเกเนตปูพรมครอบคลุมแถบตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เพื่อคอยสอดส่องข้อมูลที่ผ่านเข้ามาในระบบในการหาตำแหน่งของสมาชิกก่อการร้ายอัลกออิดะห์ รวมถึงข้อมูลอีเมลภรรยาของกูลที่ทาง NSA สามารถแกะรอยได้และได้ข้อมูลจากอีเมลพวกนั้นมากพอที่จะสืบรู้ถึงที่อยู่ปัจจุบันของภรรยากูลและกูล อ้างจากเอกสารที่ได้มาจากสโนว์เดน
นอกจากนี้โพสต์ยังย้ำว่า ข้อมูลที่ได้จากNSAนั้นช่วยทำให้ปฎิบัติการล่าสังหารของสหรัฐฯที่ “จับกุม/สังหาร” (ที่เชื่อว่าจะเป็น) “ฮัสซาน กูล” นั้นเกิดขึ้นได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2012 แต่อย่างไรก็ตาม ทางโพสต์ไม่เปิดเผยถึงรายละเอียดปลีกย่อยสำหรับปฎิบัติการ “Targeted killing” ตามที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯร้องได้ขอด้วยเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อปฎิบัติการของหน่วยงานและจะเป็นภัยต่อความมั่นคงสหรัฐฯ
เป็นที่สังเกตว่า ทางหน่วยงาน NSA ไม่เคยปฎิเสธถึงข้อมูลที่สโนว์เดนได้เผยออกมาก่อนหน้านี้ โดยทางหน่วยงานเพียงกล่าวโต้ผ่านแถลงการว่า “NSA นั้นใช้ปฏิบัติการกับเป้าหมายที่เป็นผู้ก่อการร้ายและภัยที่อาจจะคุกคามสหรัฐฯเท่านั้น”
ด้านปฎิบัติการโดรนล่าสังหารนั้นถือเป็นยุทธวิธีหลักที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามาใช้เพื่อต่อกรกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าหน่วยงาน CIA นั้นดูแลอยู่ทั้งหมด แต่การเปิดเผยล่าสุดในวันนี้ (17) ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์แสดงให้เห็นภาพว่า แท้จริงแล้วยังมีหน่วยงาน NSA ที่เป็นเสมือนตาและหูให้กับ CIA ป้อนข้อมูลเพื่อทำภาระกิจล่าสังหารนี้ให้สำเร็จ และ NSA เองยังมีหน่วยงานปฏิบัติการต่อต้านก่อารร้ายของตนเองภายใต้ชื่อ Counter-Terrorism Mission Aligned Cell หรือ CTMAC ที่มุ่งเพื่อจารกรรมข้อมูลของกลุ่มก่อการร้ายโดยเฉพาะ
และนอกจากนี้สื่อสหรัฐฯ เช่น The Christian Science Monitor ได้แสดงลำดับระยะเวลาของข้อมูลที่ถูกเปิดออกมาจากสโนว์เดน รวมไปถึงแต่ละหัวข้อที่ได้เปิดเผยออกมา เพื่อโยงถึงว่าเหตุใดประชาคมโลกจึงต้องเรียนรู้จากความลับที่ถูกเปิดมาจากอดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลผู้นี้
วันที่ 5-8 มิถุนายน
1.เกลนน์ กรีนวาล์ด ที่ปัจจุบันลาออกจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนแล้ว ได้เปิดเผยในข้อมูลชิ้นแรกว่า “สหรัฐฯได้แอบรวบรวมข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของผู้ใช้ในเครือข่าย Verizon
2.หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ได้เปิดเผยถึงโครงการปริซึมของ NSA ที่ได้รวบรวมข้อมูลผู้ใช้โดยตรงผ่านบริษัทที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก และแอปเปิล
3.และในวันที่ 8 มีการเปิดเผยถึง “boundless information” ที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือของ NSAนั้นช่วยองค์กรในการล้วงความลับได้อย่างไร และโดยวิธีไหน
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
1.เรียนรู้ว่าสหรัฐฯนั้นสามารถได้ข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายจากทางโทรศัพท์ รวมไปถึงข้อมุลที่เรียกว่า metadata ที่แสดงระยะเวลาการสนทนา จุดที่อยู่ของคู่สนทนาทั้ง2 ฝ่าย และข้อความสนทนา ถึงแม้โอบามาจะปฎิเสธว่าไม่มีการแอบดักฟัง “คำสนทนา” ก็ตาม
2.โครงการปริซึม แสดงให้เห็นว่าบริษัทเอกชนของสหรัฐฯให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯในการอนุญาตให้ทางการต่อสายตรงดูข้อมูลผู้ใช้บริการได้
3.“boundless information” นั้นแสดงให้เห็นถึงการที่สหรัฐฯรวบรวมข้อมูลในโลกโดยไม่มีขอบเขต
วันที่ 9 มิถุนายน
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เปิดตัวให้สัมภาษณ์เป็นครั้งแรก โดยยอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปิดเผยความลับผ่านหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ของอังกฤษ และหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ของสหรัฐฯ โดยเขาอ้างว่า “สาธารณชนมีสิทธิ์รู้ในสิ่งที่สหรัฐฯได้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขา”
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
ทำให้สหรัฐฯมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ตรึงเครียดกับจีน และที่สำคัญมีความตึงเครียดกับรัสเซียจนถึงขั้นโอบามายกเลิกการพบปะหารือกับผู้นำรัสเซียล่วงหน้าก่อนจะมีการประชุมระดับสุดยอดที่กรุงมอสโก
วันที่ 16 มิถุนายน
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนได้เปิดเผยว่าหน่วยงานความมั่นคงอังกฤษ GCHQ ได้แอบจารกรรมข้อมูลจากนักการเมืองประเทศอื่นในการประชุมผู้นำสุดยอด G20 ในปี 2009 และทำให้ทราบว่าทั้ง GCHQ และ NSA ได้แอบล้วงข้อมูลความลับผู้นำชาติอื่นที่รวมถึงผู้นำของประเทศตนเองอีกด้วย โดยสื่ออังกฤษยืนยันว่า NSA ให้การสนับสนุนทางการเงินในบางโครงการของ GCHQ และทาง NSA ของสหรัฐฯ ได้แชร์ข้อมูลที่ได้รวบรวมมากับหน่วยงานความมั่นคงอิสราเอล
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
มีความสำคัญในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นได้จากผู้นำของเยอรมันและบราซิลต่างตั้งคำถามถึงโครงการจารกรรมลับของสหรัฐฯภายใต้หน่วยงาน NSA ต่อโอบามา แต่เป็นที่น่ากังขาเพราะในเดือนกรกฎาคม สโนว์เดนเปิดเผยว่าทั้งหน่วยงานความมั่นคงของเยอรมันและสหรัฐฯได้ทำงานร่วมกันมา
วันที่ 31 กรกฎาคม
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนได้เปิดเผยได้เปิดเผยถึงโครงการ “Xkeyscore” ที่ทำให้NSA สามารถสืบวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างไม่จำกัดผ่านทางข้อมูลของผู้ใช้บริการ ซึ่งสโนว์เดนได้กล่าวเป็นนัยถึงโครงการนี้ไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งแรกที่กล่าวว่า เขาสามารถดักฟังใครก็ตามจากแอ็คเคาท์ต้นทางไปสู่ปลายทาง เช่นผู้พิพากษารัฐบาลกลาง หรือแม้แต่กระทั่งประธานาธิบดีถ้าหากเขามีอีเมลแอดเดรสส่วนตัวของประธานาธิบดี เป็นต้น
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
การเปิดเผยครั้งนี้ทำให้รู้ถึงลักษณะของปฎิบัติการลับที่ได้รับอนุญาตให้ทำอย่างถูกต้องตามกฏหมายโดยศาลลับด้านการข่าวสหรัฐฯ หรือ FISC
วันที่ 9 สิงหาคม
มีการแถลงการณ์ของเว็บไซต์ที่มีความปลอดภัยสูง Lavabit และ Silent Circle ในการที่พยายามจะปกป้องความลับของผู้ใช้จากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยอ้างจากแถลงการณ์ของเจ้าของ Lavabit ในวันที่ 2 สิงหาคม ที่เขาได้ประกาศปิดตัวเว็บไซต์ และสื่อสหรัฐฯ นิวยอร์กโพสต์ ได้รายงานว่า Lavabit ถูก FBI บีบให้ส่งข้อมูลของผู้ใช้บริการ การโดนบีบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ NGO รัสเซียซึ่งได้พบสโนว์เดนที่สนามบินกรุงมอสโกเปิดเผยว่าสโนว์เดนใช้บริการ Lavabit ติดต่อมา
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
เรารู้ได้ว่า หลังจากเหตุการณ์นี้ถูกเปิดเผยขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯถูกตั้งคำถามว่าเซิร์ฟเวอร์ข้อมูลที่อยู่ในสหรัฐฯนั้นจะปลอดภัยจากการถูกรัฐบาลสหรัฐฯใช้อำนาจตรวจสอบหรือไม่
วันที่ 15 สิงหาคม
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า จากรายงานตรวจสอบภายในของหน่วยงานNSA และพบว่า ทางหน่วยงานได้ละเมิดกฏภายในองค์กรของตัวเองทั้งสิ้น 2,776 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 จนถึงเดือนมีนาคม 2012
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2013 วอลล์สตรีท เจอร์นัล ได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้แอบใช้โครงการระบบล้วงความลับของ NSA เพื่อผลประโยชน์ด้านฉันชู้สาวของตนเอง โดยทางวอลล์สตรีท เจอร์นัล ย้ำว่านี่เป็นการขัดระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในสหรัฐฯ
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ NSA ใช้ประโยชน์จากข้อมูลMetadata ที่ทางหน่วยงานรวบรวมเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และทำให้เหล่าผู้สนับสนุนรักษาสิทธิส่วนตัวต่างลุกขึ้นมาโวยวายในเรื่องนี้
วันที่ 28 กันยายน
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้รายงานว่า NSA ได้รวบรวมข้อมูลผูใช้โซเชียลมีเดียเพื่อต้องการจะรู้ความสัมพันธ์ระหว่างใครกับใคร (ทั้งที่รู้จักในชีวิตจริง และที่รู้จักแค่ทางออนไลน์) รวมไปถึงที่อยู่ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งปฎิบัติการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2010 หลังจากที่ทาง NSA ได้เริ่มวิเคราะห์ข้อมูลการใช้โทรศัพท์และล็อกอินของอีเมล อ้างจากรายงานของสื่อสหรัฐฯ และในวันที่ 14 ตุลาคม ทางหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เปิดเผยว่า ทาง NSA ได้รวบรวมลิสของ “อีเมลแอดเดรส” และ “แชตแอดเดรส” เพื่อทำให้เติมเต็มความเข้าใจเรื่องราวความสัมพันธ์ของยูสเซอร์ในโลกโซเชียลมีเดีย
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
เพราะที่ผ่านมา NSA อ้างมาตลอดว่า การรวบรวมข้อมุลทำขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายการข่าวต่างประเทศเท่านั้น และจะกระทำภายนอกดินแดนสหรัฐฯ
วันที่ 4 ตุลาคม
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนเผยว่า NSA ตั้งเป้าไปที่เครือข่าย Tor ซึ่งเป็นเว็บเราเซอร์ไม่แสดงการใช้งานของผู้ใช้ โดยหน่วยงานสหรัฐฯต้องการเจาะระบบความปลอดภัยของเครือข่ายนี้เพื่อดูฐานข้อมูลผู้ใช้บริการ
เหตุใดจึงมีความสำคัญ
มันอาจดูมีเหตุผลที่สหรัฐฯจะกังวลกับเว็บไซต์ เช่น Tor ซึ่งในเพาเวอร์พอยต์ของNSA มีหัวข้อ “Tor Stinks” (เพราะสัญลักษณ์ของเว็บไซต์เป็นรูปหัวหอม) แสดงให้เห็นว่า รัฐมีความต้องการที่จะเจาะระบบเวปไซต์นี้เพื่อรวบรวมข้อมูลโดยไม่สนใจใน “สิทธิความเป็นส่วนตัว” ของผู้ใช้บริการ