xs
xsm
sm
md
lg

มะกัน “เมิน” คำขู่โสมแดง ซ้อมรบทางทะเลกับโสมขาว-ญี่ปุ่น “วันนี้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากแฟ้ม) เรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ “ยูเอสเอสจอร์จวอชิงตัน” ของสหรัฐฯ
เอเอฟพี – สหรัฐฯ เริ่มซ้อมรบทางทะเลร่วมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นวันนี้ (10 ต.ค.) แม้เกาหลีเหนือขู่ว่าจะสร้างความเสียหายครั้งเลวร้ายก็ตาม ทางการเกาหลีใต้รายงาน

การซ้อมรบ 2 วัน ที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ กับเรือรบของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเข้าร่วม เริ่มขึ้นในบริเวณนอกชายฝั่งทางใต้ของคาบสมุทรเกาหลี กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ระบุ

การซ้อมรบครั้งนี้มีขึ้น ภายหลังที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ตกลงจะดำเนินยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อรับมือกับเกาหลีเหนือที่ขู่คุกคามจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตีมากขึ้นเรื่อยๆ มิหนำซ้ำยังเปิดเครื่องปฏิกรณ์พลูโตเนียมเก่าขึ้นมาอีกครั้ง

ในตอนแรกการซ้อมรบประจำปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแย้มว่า เป็นการซ้อมปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการบรรเทาสาธารณภัย กำหนดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์นี้ แต่ต้องถูกเลื่อนออกไปเพราะพายุไต้ฝุ่นที่ใกล้เข้ามา

“การซ้อมรบประจำปีครั้งนี้มุ่งดำเนินปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือทางทะเล เพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรม” วี วอง-ซป โฆษกของกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้บอกนักข่าว

ขณะที่สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ รายงานว่า ในการซ้อมรบครั้งนี้ นอกจากเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ “ยูเอสเอสจอร์จวอชิงตัน” แล้วยังมีการระดมเรือรบติดตั้งจรวดนำวิถี เฮลิคอปเตอร์ทำลายเรือดำน้ำ และอากาศยานเตือนภัยล่วงหน้ามาเข้าร่วมในปฏิบัติการด้วย

ทางด้านเกาหลีเหนือนั้นยังคงออกมาประณามการซ้อมรบร่วมในบริเวณพรมแดนทางใต้เหมือนเช่นทุกครั้ง อีกทั้งขู่ว่าจะตอบโต้ ซึ่งถึงเวลานี้ยังไม่ได้มีอะไรให้เห็นจริงจัง

เมื่อวันอังคาร (8) เกาหลีเหนือเตือนสหรัฐฯ ว่าจะเกิดมหันตภัยเลวร้าย และสั่งเตรียมพร้อมกำลังทหารของตน

สำหรับพวกนักวิเคราะห์ชี้ว่า ที่ระบอบปกครองอันโดดเดี่ยวแห่งนี้ออกมากล่าวยั่วยุเช่นนี้ ก็เพื่อดึงความสนใจของสหรัฐฯ และดึงชาติมหาอำนาจให้กลับมาเจรจากับตนอีกครั้ง

สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้เรียกร้องให้เกาหลีเหนือให้คำมั่นว่า จะยุติโครงการอาวุธนิวเคลียร์ก่อนที่ 6 ชาติจะกลับมาร่วมหารือกันในเรื่องโครงการนี้ของโสมแดงอีกครั้ง หลังจากที่การพูดคุยได้หยุดชะงักไปตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2008
กำลังโหลดความคิดเห็น