เอเอฟพี – เกาหลีเหนือเริ่มกระบวนการผลิตพลูโตเนียมที่โรงงานนิวเคลียร์ในเมืองยองบยอนอีกครั้ง สอดคล้องกับที่เคยประกาศไว้ว่าจะไม่เลิกสะสมอาวุธนิวเคลียร์ไม่ว่ากรณีใดๆ สถาบันวิจัยในสหรัฐฯเผยวานนี้ (11)
สถาบันสหรัฐฯ-เกาหลีแห่งมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ระบุว่า ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา เผยให้เห็นกลุ่มควันสีขาวลอยออกมาจากอาคารด้านข้างเตาปฏิกรณ์ขนาด 5 เมกะวัตต์ในเมืองยองบยอน ซึ่งใช้สำหรับผลิตพลูโตเนียม บ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือได้ “เปิดใช้เตาปฏิกรณ์แล้ว”
นิค แฮนเซน และ เจฟฟรีย์ ลูอิส สองนักวิจัยจากสถาบันสหรัฐฯ-เกาหลี เขียนไว้บนบล็อก 38 North ว่า เตาปฏิกรณ์ตัวนี้ “สามารถผลิตพลูโตเนียมได้ประมาณ 6 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบให้เปียงยางค่อยๆ สะสมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นได้ทีละน้อย”
เดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดจัด รัฐบาลโสมแดงประกาศว่าจะเปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกแห่งในเมืองยองบยอน “เพื่อเสริมศักยภาพของกองกำลังติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ”
เกาหลีเหนือสั่งปิดเตาปฏิกรณ์เมืองยองบยอน เมื่อปี 2007 ตามข้อตกลงลดอาวุธแลกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ทำร่วมกับ 5 มหาอำนาจ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, รัสเซีย และสหรัฐฯ โดยได้สั่งทุบหอระบายความร้อนเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ด้วย
อย่างไรก็ดี ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อวันที่ 27 มีนาคม ซึ่งสถาบันสหรัฐฯ-เกาหลีนำออกมาเผยแพร่ในเดือนเมษายนปีนี้ แสดงให้เห็นถึงการก่อสร้างเพิ่มเติมบริเวณเตาปฏิกรณ์ โดยพบร่องรอยการก่อสร้างตลอดแนวถนนและด้านหลังของอาคารครอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อจะติดตั้งระบบลดอุณหภูมิซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับเตาปฏิกรณ์
เปียงยางต้องอาศัยเตาปฏิกรณ์เมืองยองบยอนในการผลิตพลูโตเนียม ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อปี 2006 และ 2009 ตามลำดับ
รัฐบาลต่างชาติและผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ยังไม่อาจสรุปได้ว่า เกาหลีเหนือใช้พลูโตเนียมเป็นวัตถุดิบในการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหรือไม่ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า เปียงยางกำลังมุ่งมั่นผลิตยูเรเนียมเพื่อเป็นอีกช่องทางไปสู่การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ด้วย