xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุม UN จัดพิธีลงนาม “อนุสัญญามินามาตะ” ควบคุมการใช้ “สารปรอท”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิษของสารปรอทที่แสดงผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิกลจริตอ่อนๆ และแขนขาบิดงอ
เอเอฟพี – ที่ประชุมองค์การสหประชาชาติจัดพิธีลงนามอนุสัญญาควบคุมการใช้สารปรอท อย่างเป็นทางการในวันนี้ (10) ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศมอบเงินทุน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนการกำจัดสารปรอทในประเทศยากจน

คณะผู้แทนจาก 140 ประเทศ และดินแดนจะร่วมลงนามอย่างเป็นทางการในอนุสัญญามินามาตะ (Minamata Convention) ข้อตกลงควบคุมสารปรอทฉบับแรกที่จะมีผลบังคับตามกฎหมาย โดยคำว่า “มินามาตะ” นั้นเป็นชื่อเมืองในญี่ปุ่น ซึ่งหลายสิบปีก่อนมีประชาชนนับหมื่นคนได้รับพิษจากสารปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม และเสียชีวิตไปราว 2,000 คน

สำหรับชาวญี่ปุ่น คำว่า “มินามาตะ” ยังสะท้อนถึงการตอบสนองปัญหาที่ล่าช้าของทางการ และผลพวงของอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนาโดยไร้ขอบเขตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

พิษจากสารปรอทเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในญี่ปุ่นเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1950 เมื่อนายแพทย์ผู้หนึ่งตรวจพบคนไข้ที่มีอาการภูมิคุ้มกันผิดปกติ ระบบประสาทส่วนกลางและสมองเสียหาย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ความเจ็บป่วยของชาวบ้านอาจเกิดจากสารพิษที่ปล่อยออกจากโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี น้ำเสียที่เจือปนสารปรอทยังคงถูกทิ้งลงสู่อ่าวมินามาตะ จนกระทั่งถึงปี 1968

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น มีถ้อยแถลงผ่านคลิปวิดีโอในพิธีเปิดการประชุมวานนี้ (9) ว่า ญี่ปุ่นยินดีมอบเงินสนับสนุนจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาแก้ไขปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม ระหว่างปี 2014-2016

“ด้วยเหตุว่า ประเทศของเราเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายเกี่ยวกับพิษภัยของสารปรอท และเอาชนะมันมาได้ ญี่ปุ่นจึงขอรับหน้าที่เป็นผู้นำในการขจัดสารพิษชนิดนี้ให้หมดไปจากโลก” อาเบะ กล่าว

อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของผู้นำญี่ปุ่นกลับสร้างความไม่พอใจต่อชาวเมืองมินามาตะ ซึ่งหลายคนยังทนทุกข์ทรมานจากผลกระทบของสารพิษที่ถูกทิ้งลงสู่อ่าวเมื่อหลายสิบปีก่อน

มาซามิ โอกาตะ วัย 55 ปี ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุนว่า “รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ไม่ควรประกาศวา “ชนะ” ปัญหาแล้ว เพราะความจริงเรายังไม่ได้เอาชนะโรคมินามาตะเลย”

อนุสัญญามินามาตะกำหนดกรอบเวลาให้ประเทศภาคีเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทภายในปี 2020 ไม่เว้นแม้กระทั่งปรอทวัดไข้ และให้รัฐบาลต่างๆ สั่งปิดเหมืองปรอทให้หมดสิ้นภายใน 15 ปี

อย่างไรก็ตาม นักอนุรักษ์ยังวิจารณ์ว่า อนุสัญญาฉบับนี้ไม่เอ่ยถึงการใช้สารปรอทในงานช่างฝีมือหรือเหมืองแร่ทองคำขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอันตรายโดยตรงต่อสุขภาพของคนงานเหมือง รวมถึงแรงงานเด็กจำนวนมากในประเทศกำลังพัฒนา

นักอนุรักษ์เหล่านี้ยังเตือนถึงอันตรายของการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนสารปรอท เช่น เนื้อวาฬ และโลมา ซึ่งเป็นอาหารประจำถิ่นของชุมชนชายทะเลในญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากวาฬและโลมาจัดเป็นผู้ล่าลำดับสูงสุด จึงได้รับสารปรอทปริมาณมากที่สะสมอยู่ในตัวเหยื่อของมัน

อนุสัญญามินามาตะจะเริ่มมีผลบังคับต่อเมื่อประเทศภาคีได้ให้สัตยาบันอย่างน้อย 50 ประเทศ ซึ่งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่เป็นผู้ผลักดันอนุสัญญา หวังว่าจะทำได้สำเร็จภายใน 3-4 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น