xs
xsm
sm
md
lg

‘พม่า’ยอมรับมีเงินซุกอยู่ในบัญชีแบงก์ต่างประเทศ$7,000ล้าน

เผยแพร่:   โดย: มินต์ อู, วิน หน่อง โต, และ จ่อ ทุน หน่าย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Myanmar admits $7bn in overseas stash
By Myint Oo, Win Naung Toe and Kyaw Htun Naing
23/09/2013

ธนาคารกลางของพม่าออกมายอมรับว่ามีผู้ที่นำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ไปฝากเอาไว้ในบัญชีธนาคารในต่างประเทศ แต่ในเวลาเดียวกันแบงก์ชาติแดนหม่องก็ปฏิเสธข่าวที่มีผู้ออกมาระบุตัวเลขซึ่งสูงกว่าจำนวนดังกล่าวนี้มาก รวมทั้งที่พูดกันว่าเนื่องจากตัวเลขที่สูงลิ่วเช่นนี้เองจึงทำให้ธนาคารโลกปฏิเสธไม่ยอมยกหนี้สินที่พม่าติดค้างอยู่

ธนาคารกลางของพม่าออกมาแถลงเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาว่า มีผู้นำเอาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของพม่าคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ไปฝากเอาไว้ในบัญชีธนาคารในต่างประเทศ แต่ในเวลาเดียวกัน แบงก์ชาติแดนหม่องก็ปฏิเสธข่าวที่มีผู้ออกมาระบุตัวเลขซึ่งสูงกว่าจำนวนดังกล่าวนี้มาก รวมทั้งที่พูดกันว่าเนื่องจากตัวเลขที่สูงลิ่วเช่นนี้เองจึงทำให้ธนาคารโลกปฏิเสธไม่ยอมยกหนี้สินที่พม่าติดค้างอยู่

ในการแถลงข่าวที่กรุงเนปยีดอ (Naypyidaw) คราวนี้ จอ จอ หม่อง (Kyaw Kyaw Maung) ประธานธนาคารกลางของพม่าได้ปฏิเสธรายงานข่าวซึ่งออกมาก่อนหน้านั้น ที่ว่ารัฐบาลแดนหม่องถือครองเงินอยู่ถึง 11,000 ล้านดอลลาร์ โดยกระจายอยู่ตามบัญชีธนาคารในต่างประเทศรวม 5 บัญชี ทั้งนี้รายงานข่าวเหล่านี้ยังระบุต่อไปว่า จากตัวเลขเงินในครอบครองจำนวนมหาศาลเช่นนี้เอง จึงทำให้ธนาคารโลกยืนยันหนักแน่นว่าพม่าจะต้องชำระคืนเงินกู้ที่ยังติดค้างอยู่

“เราไม่ทราบอะไรเกี่ยวกับเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์ในแบงก์ต่างประเทศตามที่เสนอข่าวกันออกมานี่เลย” จอ จอ หม่อง แถลง “ตามตัวเลขทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างเป็นทางการของเรานั้น รัฐบาลพม่ามีเงินอยู่ในบัญชีในแบงก์ต่างประเทศต่างๆ เพียงแค่ 7,600 ล้านดอลลาร์” เขาระบุ

จอ จอ หม่อง เรียกเงินเหล่านี้ว่าเป็น “ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ” ถึงแม้เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าในนั้นมีทั้ง “เงินงบประมาณ (ของรัฐบาล) และบัญชีธนาคารที่เป็นของเอกชน” เขาบอกว่าเงินเหล่านี้ “จะถูกนำออกมาใช้เมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา” ทว่าประธานธนาคารกลางของพม่าผู้นี้ก็ไม่ได้แจกแจงอย่างชัดเจนว่าเงินเหล่านี้ฝากเอาไว้ที่ใดบ้าง หรือรัฐบาลเป็นเจ้าของเงินเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน และเอกชนเป็นผู้ควบคุมเอาไว้มากน้อยเพียงใด

เขาให้ข้อมูลแต่เพียงว่า ทางธนาคารกลางของพม่า, ธนาคารการค้าต่างประเทศพม่า (Myanma Foreign Trade Bank), และธนาคารพาณิชย์เพื่อการลงทุนพม่า (Myanma Investment Commercial Bank) คือสถาบันของรัฐบาลที่ถือครองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ในต่างแดน นอกจากนั้นยังมีธนาคารเอกชนของพม่าจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงิน 7,600 ล้านดอลลาร์นี้เอาไว้ส่วนหนึ่ง

ทางด้านรัฐมนตรีคลัง วิน เชน (Win Shein) ซึ่งอยู่ร่วมแถลงข่าวคราวนี้ด้วย ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่า รายงานที่ระบุว่าธนาคารโลกปฏิเสธไม่ยอมยกหนี้ที่พม่ายังติดค้างอยู่ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 890 ล้านดอลลาร์นั้น เป็นข่าวที่ผิดพลาดไม่เป็นความจริงเลย

“การที่คิดว่าธนาคารโลกปฏิเสธไม่ยอมยกหนี้สินให้พม่า สืบเนื่องจากมีเงินฝากมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์ในบัญชีแบงก์ต่างประเทศนั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงอย่างสิ้นเชิง” เขากล่าวพร้อมกับบอกว่าเขามีหลักฐานที่จะสนับสนุนคำพูดของเขา ถึงแม้เขาไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรมากไปกว่านี้

ขณะที่ เย ทุต (Ye Htut) โฆษกสำนักประธานาธิบดี ก็ท้าทายสื่อมวลชนให้ระบุชื่อและที่ตั้งของแบงก์ต่างประเทศซึ่งเป็นที่เก็บเงิน 11,000 ล้านดอลลาร์ตามที่กล่าวหากัน โดยแถลงว่ารัฐบาลพร้อมจะเข้าสอบสวนติดตาม ถ้าหากมีผู้แสดงหลักฐานออกมา

“เมื่อประมาณ 3-4 เดือนก่อน ก็มีรายงานข่าวทำนองเดียวกันนี้ในประเทศกรีซ แต่สื่อมวลชนที่เสนอข่าวเรื่องนั้น เขาระบุชื่อแบงก์และประเทศที่รัฐบาลกรีซไปเปิดบัญชีเอาไว้กันอย่างแน่นอนชัดเจน รัฐบาลกรีซจึงไปติดตามร่วมมือกับแบงก์เหล่านี้เพื่อแก้ไขปัญหา” เขาบอก “ถ้าใครก็ตามที่จะเอาหลักฐานที่น่าเชื่อถือออกมาแสดงแล้ว รัฐบาลนี้ก็จะแก้ไขปัญหานี้เช่นกัน”

**แอบซุกเงินไว้ในต่างแดน**

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เจลสัน การ์เซีย (Jelson Garcia) ผู้จัดการโปรแกรมเอเชีย (Asia Program Manager) ของศูนย์สารสนเทศการธนาคาร (Banking Information Center ใช้อักษรย่อว่า BIC) ที่มีฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ได้ออกมากล่าวว่า ในระหว่างการพบปะหารือกับธนาคารโลก, ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) , และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลายๆ ครั้งในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนปี 2012 นั้น เขาได้รับแจ้งมาว่าทางรัฐบาลพม่าครอบครองเงินทุนเอาไว้ในต่างแดนเป็นมูลค่า 11,000 ล้านดอลลาร์

การ์เซียยังเล่าในขณะเข้าร่วมการเสวนาที่ “ห้องสมุดสื่อมวลชนพม่า” (Library of Myanmar Media) ในนครย่างกุ้งคราวนี้ว่า ธนาคารโลกได้ปฏิเสธไม่ยอมยกเลิกหนี้สินซึ่งพม่ายังคงค้างชำระอยู่ เพราะทราบเรื่องเงินฝากที่อยู่ในบัญชีแบงก์ต่างประเทศ 5 บัญชีเหล่านี้นั่นเอง

ทั้งนี้ การ์เซียไม่ได้มีการระบุใดๆ ว่า เงินในบัญชีธนาคารต่างแดน 11,000 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว ครอบคลุมหมายรวมด้วยหรือไม่ถึงตัวเงินซึ่งพวกองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ได้เคยพูดกันมาก่อนหน้านี้ว่า คณะทหารผู้ปกครองพม่าในอดีตยักย้ายถ่ายเทมาจากเงินรายได้ในการส่งออกก๊าซธรรมชาติของประเทศ แล้วจากนั้นจึงส่งไปซุกซ่อนในต่างแดน

แต่ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์เดลี่เซเวน (Daily Eleven) ของพม่าได้เคยเสนอรายงานข่าวชิ้นหนึ่ง ซึ่งอ้างอิงเนื้อความในอีเมลที่ส่งมาจากการ์เซีย โดยในอีเมลดังกล่าวบอกว่า ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเงินฝากในต่างแดนของพม่าซึ่งออกมาจากการพบปะกับพวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายๆ นัดตามที่เขาพูดถึงนั้น มีการให้ “ตัวเลขประมาณการที่แตกต่างกันออกไป” และ “ไม่ได้มีการระบุเจาะจงว่าอยู่ในบัญชีแบงก์อะไรบ้าง”

รายงานข่าวของเดลี่เซเวน ยังได้อ้างถึงคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกโดยธนาคารโลกในเวลาต่อมา อันมีเนื้อหาระบุว่าการ์เซียไม่ได้พูดในฐานะเป็นตัวแทนของธนาคารโลกแต่อย่างใดทั้งสิ้น นอกจากนั้นคำแถลงฉบับนี้ยังกล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลชาติต่างๆ จะถือครองทุนสำรองเอาไว้ในรูปของการฝากอยู่ในบัญชีธนาคารต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการนำเข้าสินค้าและบริการต่างๆ ตลอดจนในการบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตรา

หน่วยงาน BIC ที่การ์เซียทำงานอยู่นั้น เป็นองค์การซึ่งคอยทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของพวกสถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้งหลาย เป็นต้นว่า ธนาคารโลก และ เอดีบี ซึ่งได้เริ่มต้นเดินหน้าโปรแกรมพัฒตาต่างๆ ในพม่าแล้ว ภายหลังประธานาธิบดีเต็งเส่งดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างมากมาย นับแต่ที่รัฐบาลซึ่งตกแต่งหน้าตาให้กลายเป็นรัฐบาลพลเรือนของเขา ขึ้นครองอำนาจต่อจากคณะทหารผู้ปกครองประเทศในปี 2011

**รายได้ที่ถูกยับย้ายถ่ายเทไปซุกซ่อน**

เชื่อกันว่าระบอบปกครองของฝ่ายทหารในอดีตที่ผ่านมา ได้กัดแทะเบียดบังเงินรายได้การส่งออกก๊าซธรรมชาติของประเทศเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี และองค์การ เอิร์ธ ไรต์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Earth Rights International ใช้อักษรย่อว่า ERI) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน และทำหน้าที่คอยติดตามเฝ้าระวังประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติ ได้ระบุว่าคณะนายทหารใหญ่เหล่านี้แอบซุกซ่อนฝากเงินเอาไว้ในสิงคโปร์ ทั้งนี้ตามรายงานของวารสารออนไลน์ “อิรวดี” (Irrawaddy)

เมื่อปี 2009 ERI เคยระบุว่ามีหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่าคณะทหารปกครองพม่าในเวลานั้น ไม่ได้นำเอาเงินรายได้จำนวนราว 5,000 ล้านดอลลาร์รวมเข้าไปในงบประมาณของประเทศชาติ โดยเงินดังกล่าวมาได้มาจากโครงการแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทโททาล (Total) ยักษ์ใหญ่น้ำมันสัญชาติฝรั่งเศส และบริษัทหุ้นส่วนอันได้แก่ เชฟรอน (Chevron) ยักษ์ใหญ่น้ำมันสัญชาติอเมริกัน

ERI ระบุว่าเงินที่ถูกเบียดบังออกมาเหล่านี้ ได้ถูกส่งไปฝากไว้ที่ธนาคารโอเวอร์ซีส์ ไชนีส แบงกิ้ง คอร์เปอเรชั่น (Overseas Chinese Banking Corporation) และธนาคาร ดีบีเอส กรุ๊ป (DBS Group) 2 แบงก์ใหญ่ของสิงคโปร์ซึ่งทำ หน้าที่เป็น “สถานที่รับฝากหลักทรัพย์ในต่างแดน” (offshore repositories) ทว่าธนาคารทั้งสองต่างได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

ระหว่างการแถลงข่าวที่กรุงเนปยีดอ ในวันที่ 20 กันยายน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน มินต์ ซอว์ ซึ่งเข้าร่วมแถลงด้วย ก็ได้ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า มีการนำเอาเงินรายได้เป็นพันๆ ล้านดอลลาร์จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติของพม่าไปฝากไว้ในต่างประเทศ

มินต์ อู (Myint Oo), วิน หน่อง โต (Win Naung Toe ), และ จ่อ ทุน หน่าย (Kyaw Htun Naing) เป็นผู้รายงานข่าวนี้ให้แก่วิทยุเอเชียเสรีภาคภาษาพม่า (Radio Free Asia's Myanmar Service) เขต มาร์ (Khet Mar) เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษ และโจชัว ลิปส์ (Joshua Lipes) เป็นผู้เขียนรายงานข่าวนี้เป็นภาษาอังกฤษ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น