xs
xsm
sm
md
lg

“เอดีบี” เตรียมหั่นเป้า ศก.ไทยเหลือ 4.0-4.3% ชี้ “ส่งออก” ต่ำกว่าคาด เชื่อบาทไม่โดนถล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอดีบี” เตรียมปรับประมาณการ ศก.ไทยลงเหลือ 4.0-4.3% ในเดือน ต.ค.นี้ หลังการส่งออกไทยชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ และภาคการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลงจากภาระหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น พร้อมมอง “ค่าบาท” ไม่โดยถล่มเหมือน “รูปี-รูเปียะห์” เพราะพื้นฐานแกร่ง ทุนสำรองยังมีสูง

นางลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส สำนักงานผู้แทนประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า เอดีบีเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือร้อยละ 4.0-4.3 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.9 และการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 8 ภายในเดือนตุลาคม 2556 นี้ เนื่องจากการส่งออกของไทยชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลงจากภาระหนี้ครัวเรือน

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และยุโรป ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการส่งเสริมภาคการส่งออกของไทย รวมถึงการใช้จ่ายจากภาครัฐ ที่จะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะช่วยดึงการลงทุนจากภาคเอกชน และหากในปีหน้ารัฐบาลสามารถดำเนินโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทได้ตามเป้าหมาย ก็จะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้เพิ่มขึ้น

ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย เป็นสถานการณ์ที่เอดีบีคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะถอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนไหลกลับ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ในไทยจะไม่รุนแรงเท่ากับประเทศอินโดนีเซีย และอินเดีย เนื่องจากไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง จึงยังไม่น่ากังวล ส่วนความกังวลหนี้ภาคครัวเรือน เอดีบีไม่มีความเป็นห่วง แม้ว่าระดับหนี้ภาคครัวเรือนจะสูง แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เกิดหนี้เสีย ยังมีการชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่ยอมรับว่าส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชนลดลง

นอกจากนี้ เอดีบียังเปิดเผยถึงรายงานเรื่อง “Asia's Economic Transformation” พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าสู่ประเทศภาคอุตสาหกรรมแล้ว เนื่องจากมีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตเกินร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับ GDP และมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเกินร้อยละ 18 แต่โดยรวมประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำอยู่ เพราะว่าประเทศไทยยังมีการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมสูงมากถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม

ดังนั้น หากจะให้ประเทศไทยมีรายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มขึ้น ควรจะยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อนำประชากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพราะจากการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเอดีบี พบว่า หากแรงงานในประเทศที่กำลังพัฒนายังอยู่ในภาคเกษตรกรรมจำนวนมาก จะไม่เอื้อต่อการพัฒนาไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เพราะการเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจะสร้างความมั่นคงทางด้านรายได้ การดำรงชีพจากกองทุนประกันสังคม และสวัสดิการต่างๆ ซึ่งสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และจะทำให้รายได้ประชากรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็น 12,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับมาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น