เอเจนซีส์ - สื่อในอังกฤษ เช่น เดอะอินดิเพนเดนท์ รายงานว่า ในขณะนี้อิรักยังคงใช้เครื่องตรวจจับระเบิดปลอมรุ่น ADE-651 ที่มีราคาขายถึงเครื่องละ 40,000 ดอลลาร์ ในขณะที่ต้นทุนเพียง 20 ดอลลาร์ มีชาวอิรักมากกว่า 4,500 รายต้องสังเวยชีวิตไปเพราระเบิดหลังจากมีการลงโทษนักธุรกิจอังกฤษ เจมส์ แม็คคอร์มิคผู้ขายฐานฉ้อโกงไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดในวันจันทร์(30 กันยายน) เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้งในกรุงแบกแดด สังเวยชีวิตชาวอิรักไปมากกว่า 5 ราย แต่ทว่า นายกรัฐมนตรีอิรัก นูรี อัล-มาลิกี กลับยืนยันว่า “ไม้ล้างป่าช้าภาคแบกแดด” นี้ใช้ได้ผลจริง
มีรายงานพบว่าทางการอิรักยังใช้เครื่องตรวจจับระเบิดปลอมรุ่น ADE-651 อยู่ในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลของอิรักได้สั่งซื้อเข้ามาจากนักธุรกิจชาวอังกฤษ เจมส์ แม็คคอร์มิค ทั้งสิ้นราว 75 ล้าน ดอลลาร์ หรือราคาขายเครื่องละ 40,000 ดอลลาร์ ถึงแม้จะมีการตัดสินลงโทษจำคุกนักธุรกิจผู้นี้เป็นเวลา 10 ปี ไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
หนังสือพิมพ์เดอะอินดิเพนเดนท์ของอังกฤษรายงานว่า เครื่องตรวจจับระเบิดปลอมรุ่น ADE-651มีต้นทุนไม่เกิน 20 ดอลลาร์ โดยมีลักษณะการทำงานที่อิงนิยายวิทยาศาสตร์คล้ายกับเครื่องมือหลอกลวงที่อ้างว่าสามารถค้นหาลูกกอล์ฟได้ ซึ่งจากคำอ้างของแม็คคอร์มิคพบว่า เครื่องตรวจจับระเบิดนี้สามารถค้นพบได้ตั้งแต่ระเบิด ยาเสพติด ของเหลวต่างๆ งาช้าง และคน โดยเครื่องADE-651 นี้ถูกพบว่ายังถูกใช้งานในบริเวณจุดตรวจในอิรักเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาที่เกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์กลางกรุงแบกแดดคร่าชีวิตไปกว่า 55 ราย
นอกจากนี้สื่ออังกฤษยังรายงานต่อว่า มีชาวอิรักมากกว่า 4,500 รายต้องสังเวยชีวิตไปเพราระเบิดหลังจากมีการลงโทษนักธุรกิจอังกฤษผู้นี้ตั้งแต่เดือนเมษายนล่าสุดในข้อหาฉ้อโกง และในขณะเดียวกัน ทางการอิรักได้สัญญากับประชาชนว่าจะยกเลิกการใช้เครื่องตรวจจับระเบิดADE-651 และจะใช้หน่วยสุนัขดมกลิ่นตรวจจับระเบิดแทน แต่ทว่ามีเพียงแค่จังหวัดที่อยู่ทางใต้ของประเทศ 2 แห่งเท่านั้นที่ใช้หน่วยสุนัขดมกลิ่นแทนครื่องตรวจจับปลอมนี้
โดยเจ้าหน้าที่อิรักหลายรายได้อ้างว่า เป็นเพราะการที่รัฐบาลอิรักให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน จึงเป็นผลให้การยกเลิกการใช้อุปกรณ์ADE-651ต้องถูกเลื่อนออกไป
ครูในอิรักคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันจันทร์(30 กันยายน)ล่าสุดได้เปิดเผยว่า “ผมได้ผ่านเข้าไปที่ด่านตรวจทางที่จะไปเมืองซาดร์ ซึ่งเป็นด่านที่ใช้เครื่อง ADE-651ในการตรวจหาระเบิดก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์เกิดขึ้น “เครื่องมือตรวจระเบิดนี้มีลักษณะเหมือนไม้เท้า และมันควรจะชี้ได้หากมันตรวจพบระเบิด แต่ว่า “ไม้ล้างป่าช้าADE-651”นี้มันใช้การไม่ได้ ใครๆในอิรักก็รู้กัน”
ในขณะที่ฮัสซัน อาบู ริดาห์ ซึ่งเพื่อนบ้านของเขาได้รับบาดเจ็บจากระเบิดอีกแห่งกล่าวกับสื่อว่า “ญาติของผมทำงานเป็นตำรวจ และเขาบอกว่าทุกคนรู้ว่าเครื่องนี้มันเป็นของปลอม แต่เมื่อไม่มีคำสั่งให้หยุดใช้และทางข้างบนก็ไม่ได้อนุมัติให้สิ่งใดมาแทน” และ “ อังกฤษควรจะห้ามไม่ให้มีการขายเครื่องตรวจจับระเบิดนี้ตั้งแต่แรก แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นความผิดของรัฐบาลอิรักที่มีคนเสียชีวิตจากระเบิด”
เป็นที่คาดกันว่า แม็คคอร์มิคนั้นขายเครื่อง ADE-651 ไปให้กับรัฐบาลอิรักราว 6,000 เครื่อง และขายให้กับตำรวจและกองทัพอีก 1,000 เครื่อง รวมถึงหน่วยรักษาสันติภาพของยูเอ็นในเลบานอน
ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอิรัก นูรี อัล-มาลิกี ยืนยันว่า เครื่องมือตรวจระเบิดADE-651 บางส่วนยังใช้งานได้มีประสิทธิภาพอยู่ “เครื่องมือตรวจวัตถุระเบิดที่ดีที่สุดในโลกมีความสามารถในการตรวจจับได้ไม่ถึง 60% ในแต่ละครั้ง ที่ใช้งาน และจากผลที่เราได้ลองใช้ดูนั้นพบว่า เครื่องตรวจจับADE-651นั้นมีประสิทธิภาพอยู่ในราว 20%-50% ดังนั้น มีบางส่วนที่เป็นของจริงยังใช้งานอยู่ได้และสามารถค้นหาระเบิดได้
และผลจากที่แม็คคอร์มิคถูกพิพากษาจำคุกนาน 10 ปี ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงอิรักที่รับผิดชอบด้านการตรวจจับการวางระเบิดของกระทรวงกิจการภายในอิรักและลูกน้องอีก 2 คนต้องโดนสั่งลงโทษจำคุกในข้อหาคอรัปชันในการจัดซื้อ เครื่องตรวจจับADE-651
ในขณะที่ “ไม้ล้างป่าช้าGT200” ของไทยที่ซื้อมาจากแกรี โบลตัน นักธุรกิจจากประเทศอังกฤษเช่นกัน ซึ่งเขาโดนศาลอังกฤษพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 7 ปี ด้วยข้อหาฉ้อโกง เพราเหตุที่เครื่องตรวจจับระเบิดGT200 นี้ไม่สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้จริง ซึ่งเครื่องตรวจระเบิดGT200มีต้นทุนแค่ 250 บาท แต่กลับขายไปในราคาที่แพงมากตั้งแต่ 500,000 บาท จนถึง 1,200,000 บาท ซึ่งในไทยนั้น ทางโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 สน.) พ.อ. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ เผยว่า “การใช้งานของGT200 ในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเลิกใช้ไปตั้งแต่ปี 2553 และไม่ทราบว่าอุปรณ์นี้เก็บอยู่ที่ใด แต่จากส่วนตัวนั้นคิดว่า เครื่องGT200 นั้น “ใช้ได้ผลจริง” หลายครั้งจนสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ แต่ที่ต้องยกเลิกไปเพราะสื่อนำเสนอข่าวและมีผลตรวจสอบออกมา” ส่วนด้านการเอาผิดทางคดีในไทยนั้นยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด