กมธ.วิฯ งบปี 57 ซักงบสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 268 ล้าน พร้อมถาม “ธาริต” แจงงบดีเอสไอ 1,122 ล้าน “บุญจง” งงไม่แจงงบราชการลับใช้ยังไง ด้านฝ่ายค้านจวกเมินรับจำนำข้าวคดีพิเศษ เจ้าตัวโบ้ยเป็นมติ กก.ดูตามความเหมาะสม
วันนี้ (19 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 มีนายวิทยา บุรณศิริ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยเป็นการพิจารณางบประมาณของกระทรวงยุติธรรมในส่วนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ วงเงิน 268,956,600 บาท โดยนายเอนก ยมจินดา ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ชี้แจงกรรมาธิการถึงงบประมาณที่ได้รับจัดสรรว่าจะใช้ในการพัฒนาระบบนิติวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ในงานด้านยุติธรรมและความมั่นคง ซึ่งงบประมาณในปี 2557 ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดงบรายจ่ายพื้นฐาน บุคลากร และงบลงทุนที่ใช้จัดซื้อคุรุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกันยังบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานยุติธรรมและความมั่นคงในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พร้อมเตรียมเก็บข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อเชื่อมโยงและประสานข้อมูลกับ FBI ของสหรัฐอเมริกาเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ พร้อมศึกษา วิจัยและพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กรรมาธิการ ได้สอบถามถึงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดGT200 ที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีการจัดซื้อมาจำนวนเท่าไร และใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใด รวมถึงการดำเนินการตรวจสอบทางคดีและทางวินัยของผู้ที่เกี่ยวข้องว่ามีขั้นตอนและความคืบหน้าอย่างไรด้วย
จากนั้นเป็นการพิจารณางบประมาณของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ วงเงิน 1,122,542,600 บาท โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ชี้แจงกรรมาธิการว่า ทางกรมฯ มีหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นองค์กรชั้นนำด้านการสืบสวนให้มีมาตรฐานสากลและได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน
ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ กรรมาธิการ กล่าวชื่นชมการทำงานของดีเอสไอ ที่สามารถดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ในหลายคดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนงบประมาณตามที่เสนอขอโดยไม่มีการปรับลด ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตุถึงการของบราชการลับ ซึ่งไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดต่อกรรมาธิการว่ามีแนวทางการใช้จ่ายเงินในลักษณะใดบ้าง
ขณะที่กรรมาธิการในสัดส่วนของฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตในทิศทางเดียวกัน ถึงกรณีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวไว้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งจากการตรวจสอบ กรรมาธิการเชื่อว่าคดีดังกล่าวควรบรรจุให้เป็นคดีพิเศษ เพราะมีความซับซ้อน กระบวนการยุติธรรมในระบบปกติอาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ นางผ่องศรี ธาราภูมิ กรรมาธิการ ขอให้นายธาริตชี้แจงงบประมาณในหลายส่วนที่ยังไม่มีความชัดเจน อาทิ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ค่าใช้จ่ายในการจัดเช่ารถยนต์ เพราะจากข้อมูลค่าใช้จ่ายดังกล่าวถูกจัดในหมวดหมู่ที่ไม่ถูกต้อง และในปีที่ผ่านมาไม่มีรายละเอียดการของบประมาณ
จากนั้นนายธาริตได้ชี้อีกครั้ง โดยยืนยันว่าเหตุที่ไม่รับคดีทุจริตต่างๆ ในโครงการรับจำนำข้าวเข้าเป็นคดีพิเศษ เพราะเป็นมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 22 คน เป็นผู้ร่วมลงมติ โดยพิจารณาจากความเหมาะสม ดังนั้นการตัดสินใจรับคดีดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพียงคนเดียว ส่วนข้อซักถามของกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณจะทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งเพื่อป้องกันความผิดพลาดของข้อมูล