xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ “เอาคืน” ขับนักการทูตเวเนซุเอลาออกจากประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เคลลี เคย์เดอร์ลิง อุปทูตสหรัฐฯ ประจำเวเนซุเอลา ในการแถลงข่าวกรณีถูกขับออกจากตำแหน่ง
เอพี - สหรัฐฯ มีคำสั่งให้นักการทูตเวเนซุเอลา 3 คนออกนอกประเทศเมื่อวานนี้ (1 ต.ค.) โดยเป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลชาติละตินอเมริกาแห่งนี้ตัดสินใจขับไล่เจ้าหน้าที่ทูตอเมริกัน 3 คนออกจากเวเนซุเอลา ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุปทูตที่เป็นนักการทูตตำแหน่งสูงสุดของอเมริกันในประเทศนี้

ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลา ประกาศขับเคลลี เคเดอลิง อุปทูตสหรัฐฯ ออกจากประเทศพร้อมนักการทูตอีก 2 คน เมื่อวานนี้ (1) โดยอ้างว่าสมคบผู้นำฝ่ายค้านสนับสนุนการกระทำซึ่งเป็นการบ่อนทำลายรัฐ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้เสียงแข็ง และในช่วงบ่ายวานนี้ (1) ได้พูดเป็นนัยว่าอาจจะขับไล่นักการทูตเวเนซุเอลาออกไปเพื่อเป็นการแก้เผ็ด

เมื่อกลางดึกของคืนวานนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่าได้ขับซาลิกซ์โต ออร์เตกา รีออส อุปทูตเวเนซุเอลา และโมนิกา อเลฮันดรา ซันเชซ โมราเลส รองเลขานุการของสถานเอกอัครราชทูตเวเนซุเอลา ประจำกรุงวอชิงตัน และกงสุลมาริซอล คุตเตียร์เรซ เด อัลเมดา ประจำสถานกงสุลในเมืองฮุสตัน โดยมีคำสั่งให้พวกเขาเดินทางออกจากสหรัฐฯ ภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกรอบเวลาเดียวกับที่รัฐบาลเวเนซุเอลากำหนดให้นักการทูตสหรัฐฯ

“เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐบาลเวเนซุเอลาได้ตัดสินใจขับนักการทูตสหรัฐฯ ออกจากประเทศโดยอ้างข้อกล่าวหาที่ไร้เหตุผลอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำที่ทั้งสองฝ่ายต้องปรึกษากัน เรื่องนี้ไม่เป็นผลดีกับผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ” กระทรวงการต่างประเทศอเมริกันแถลง

ในช่วงสายของเมื่อวานนี้ (1) มาดูโรกล่าวว่า ประเทศเวเนซุเอลาซึ่งขับเคลื่อนโดยพรรคสังคมนิยมจะไม่รักษาสัมพันธไมตรีกับสหรัฐฯ ตราบใดที่นักการทูตอเมริกันยังคงมีพฤติการณ์ซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นความพยายามบ่อนทำลายประเทศของเขา

ในการแถลงที่ทำเนียบประธานาธิบดีเมื่อวานนี้ (1) มาดูโรกล่าวว่า “หากรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เข้าใจว่าพวกเขาต้องเคารพในอำนาจอธิปไตยของประเทศ ประเทศของเราก็จะไม่มีสัมพันธไมตรีต่อกัน หรือการติดต่อกันอย่างชาติพันธมิตรอีกต่อไป”

“จวบจนกระทั่งถึงวันที่รัฐบาลประธานาธิบดี (บารัค) โอบามา แก้ไขสถานการณ์นี้แล้ว เราจะเริ่มติดต่อกันด้วยจุดประสงค์ใหม่ๆ เพื่อหารือกันถึงประเด็นปัญหาทั่วๆ ไป” มาดูโร ผู้ซึ่งฮูโก ชาเบซ ประธานาธิบดีผู้ล่วงลับไปแล้วเลือกเขาขึ้นมาเป็นทายาทกล่าว

ทางด้าน เจน ซากี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้แจงว่าข้อกล่าวหาของฝ่ายเวเนซุเอลานั้น เกี่ยวข้องกับการที่บุคลากรในสถานทูตสหรัฐฯ เดินทางไปรัฐโบลีวาร์ สถานที่ตั้งของบรรดาโรงเหล็กเจ้าปัญหา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งสำคัญของเวเนซุเอลา
ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร
“พวกเขาไปที่นั่นเพื่อปฏิบัติภารกิจทางการทูตทั่วไป ตามที่เราบอกไปแล้วและไม่ควรจะมีใครรู้สึกตกใจ” ซากีกล่าว

ในการแถลงข่าวที่กรุงคาราคัส เคเดอริง กล่าวว่าเธอและนักการทูตคนอื่นๆ จะออกจากเวเนซุเอลาในวันนี้ (2) ก่อนที่ถึงเส้นตาย 48 ชั่วโมงที่กำหนดไว้ “การทำงานของสถานทูตจะยังดำเนินต่อไป ส่วนเรื่องที่ใครจะเป็นคนทำนั้นจะไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก” เธอกล่าว

เธอยังบอกอีกด้วยว่า ถ้าข้อกล่าวหาที่พวกเขาได้รับเกิดจากการที่พวกเขาไปพบชาวเวเนซุเอลาก็ต้องบอกเลยว่า “เราได้พบชาวเวเนซุเอลาจริงๆ”

“การประชุมร่วมกับภาคประชาสังคมเหล่านี้ อาจจะเป็น (การพบปะกับ) ซูมาเต (กลุ่มสังเกตการเลือกตั้งอิสระ) อาจจะเป็นกลุ่มผู้หญิง อาจเป็นบรรดาแม่ที่สูญเสียลูกๆ ไป หรือบางทีอาจจะเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อยากจะรณรงค์ให้มีการทำความสะอาดสวนสาธารณะสักแห่งหนึ่ง” เธอกล่าว “ถ้าเราไม่พูดคุยกับคนเหล่านี้ ก็เท่ากับเราก็ไม่ได้ทำงานของเรา”

ทั้งนี้ นักการทูตอเมริกันอีก 2 คนที่ถูกขับไล่พร้อมกับเคลลี เคย์เดอร์ลิง อุปทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงการากัส ซึ่งถือเป็นนักการทูตระดับสูงสุดเนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำที่นั่น คือเดวิด มู และอลิซาเบธ ฮอฟฟ์แมน เจ้าหน้าที่กงสุลผู้ซึ่งทำงานฝ่ายการเมืองในสถานเอกอัครราชทูต

เมื่อวานนี้ (1) สถานีโทรทัศน์ของทางการเวเนซุเอลาได้เผยแพร่ภาพถ่ายและวีดีโอขณะที่คณะทูตสหรัฐฯ 3 คนอยู่ในรัฐโบลิวาร์ และอเมโซนัส ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งการเดินทางไปเยือนสำนักงานของซูมาเต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ช่วยจัดการลงคะแนนเสียงถอดถอนชาเบซออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2004 ทว่าล้มเหลว ขณะที่ เอเลียส จาอัว รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวเนซุเอลาได้กล่าวหาว่า พวกเขาสมคบกับซูมาเตคิด “แผนการ” ที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสภาจังหวัดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม

ขณะที่ ดาชิเอล โลเปซ สมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการซูมาเต ปฏิเสธว่าสมาชิกของกลุ่มไม่ได้เข้าพบคณะทูตที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศ โดยเขาให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์เมื่อวานนี้ (1) ว่าซูมาเตเพียงแค่อำนวยสถานที่เพื่อจัดการประชุมระหว่างคณะทูต กับองค์กรศาสนาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “ไม่มีการประชุมร่วมกับซูมาเต และไม่มีสมาชิกของซูมาเตอยู่ในห้องประชุม” เขายืนยัน

มาดูโรกล่าวว่า กลุ่มนักการทูตสหรัฐฯ ที่รัฐบาลของเขาเฝ้าติดตามมาได้ 4 เดือน “อุทิศตนให้กับการประชุมร่วมกับพวกขวาจัดของเวเนซุเอลา เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน และสนับสนุนการบ่อนทำลายระบบไฟฟ้า และเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา”
กำลังโหลดความคิดเห็น