xs
xsm
sm
md
lg

“อังเกลา แมร์เคิล” เตรียมหารือพรรคฝ่ายค้านใหญ่จับมือตั้งรัฐบาลใหม่เยอรมนี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ในเดือนที่แล้ว เตรียมหารือกับแกนนำพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างโซเชียล เดโมแครตส์ และกลุ่มกรีนส์เกี่ยวกับการจับมือกันตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของนางแมร์เคิล วัย 59 ปี ซึ่งครองอำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีเยอรมนีมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2005 มีขึ้น หลังเกิดความชะงักงันในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นบริหารประเทศ แม้พรรคการเมืองคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (CDU) ของนางแมร์เคิล และพรรคพันธมิตรอย่างคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) จะเป็นฝ่ายที่ได้คะแนนเสียงเกือบร้อยละ 42 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 กันยายนและกวาดที่นั่งได้เกือบครึ่งหนึ่งใน “บุนเดสทาก” หรือสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนี

สาเหตุที่ทำให้แมร์เคิลซึ่งเป็นผู้นำสายกลาง-ขวาต้องหันไปจับมือตั้งรัฐบาลชุดใหม่กับพรรคการเมืองฝ่ายกลาง-ซ้ายอย่าง “Sozialdemokratische Partei Deutschlands” หรือพรรคเอสพีดี ของนายเพียร์ ชไตน์บรึค อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่ได้คะแนนเสียงตามมาเป็นอันดับที่ 2 นั้นเป็นเพราะความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของพรรคพันธมิตรอีกพรรคหนึ่งของเธออย่างฟรี เดโมแครตส์ (เอฟดีพี) ที่ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 4.8 ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 ทำให้ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนนี้

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้บรรดาแกนนำของพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ หรือเอสพีดี ยังคงสงวนท่าทีในการตอบรับเข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับแมร์เคิล โดยแกนนำพรรคหลายคนรวมถึง อันเดรีย นาห์เลส เลขาธิการพรรคเอสพีดีออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายสำนักว่า ทางพรรคของตนจะไม่ตัดสินใจอย่างรีบร้อนเพื่อเข้าร่วมตั้งรัฐบาล

นักวิเคราะห์มองว่า มีความเป็นไปได้ที่ภาวะชะงักงันทางการเมืองของเยอรมนีอาจยืดเยื้อต่อไปจนถึงเดือนมกราคมปีหน้ากว่าที่จะมีความชัดเจนในเรื่องรัฐบาลชุดใหม่ซึ่งภาวะดังกล่าวจะไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงการแก้ปัญหาวิกฤตในกลุ่มยูโรโซนที่มีเยอรมนีเป็นหัวหอกหลักในการขับเคลื่อน

ขณะที่การจับมือกันตั้งรัฐบาลของฝ่ายซ้ายและขวาในเยอรมนีอาจทำให้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลต้องยอมถอยในบางประเด็นเพื่อให้เกิดการประนีประนอม โดยเฉพาะการที่เธออาจต้องยอมลดทอนความสำคัญของการบังคับใช้ “มาตรการรัดเข็มขัด” อันแสนเข้มงวด ต่อชาติสมาชิกที่กำลังประสบปัญหาในยูโรโซน
กำลังโหลดความคิดเห็น