รอยเตอร์/เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเยอรมนีเป็นฝ่ายคว้าชัย ในการเลือกตั้งทั่วไปในเมืองเบียร์ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ (22) แม้แนวร่วมพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมของเธอจะล้มเหลวในการครองเสียงข้างมากในรัฐสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และอาจจำเป็นต้องหันไปจับมือกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นบริหารประเทศ
จนถึงขณะนี้ผลการเลือกตั้งบางส่วนบ่งชี้ว่า พรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (ซีดียู) ของแมร์เคิล และพรรคการเมืองพรรคน้องอย่างคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (ซีเอสยู) ซึ่งมีฐานเสียงสำคัญในแคว้นบาวาเรียได้คะแนนเสียงรวมกันราวร้อยละ 42 ซึ่งเป็นระดับของคะแนนเสียงที่สูงที่สุดที่พรรคซีดียู/ซีเอสยู ได้รับนับตั้งแต่ปี 1990 หรือตั้งแต่การรวมเยอรมันตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งยังคงให้การสนับสนุนนางแมร์เคิล แม้คะแนนนิยมของเธอจะตกไปบ้างในช่วงก่อนหน้านี้ จากบทบาทของเธอในการเป็นตัวตั้งตัวตีแก้ปัญหาวิกฤตยูโรโซน ให้กับหลายประเทศที่ไร้วินัยทางการคลังจนมีหนี้สินล้นพ้นตัว
อย่างไรก็ดี เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคะแนนเสียงราว 42 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนที่นั่งราว 296-301 ที่นั่ง ที่แนวร่วมพรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมสายกลาง-ขวา ซีดียู/ซีเอสยู ได้รับนั้นไม่เป็นการเพียงพอ ที่จะครองเสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จใน “บุนเดสทาก” หรือสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีได้
และนั่นหมายความว่า แมร์เคิลอาจจำเป็นต้องหันไปจับมือตั้ง “ซูเปอร์รัฐบาลผสม” กับพรรคการเมืองฝ่ายกลาง-ซ้าย อย่างพรรค “Sozialdemokratische Partei Deutschlands” หรือ พรรคเอสพีดี ของนายเพียร์ ชไตน์บรึค อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่ได้คะแนนเสียงตามมาเป็นอันดับที่ 2 ที่ราวร้อยละ 25.5 หรือคิดเป็นจำนวนที่นั่งราว 182-184 ที่นั่ง
“นี่คือผลการเลือกตั้งที่สุดยอด เราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างร่วมกันเพื่อทำให้ช่วงเวลา 4 ปีจากนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จสำหรับเยอรมนี” แมร์เคิลกล่าวต่อผู้สนับสนุนหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ
ขณะที่นายชไตน์บรึคยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับความพ่ายแพ้แม้พรรคเอสพีดีจะต้องเผชิญกับผลการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับที่ 2 นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และยังคงไม่ให้ความเห็นใดๆต่อความเป็นไปได้ ในการจับมือกับนางแมร์เคิลเพื่อตั้งรัฐบาลผสม “grand coalition”
ด้านผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่ออกมาก่อนวันเลือกตั้งก็บ่งชี้ว่า สาธารณชนชาวเยอรมันส่วนใหญ่ต้องการเห็นการจับมือตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายกลาง-ขวาของนางแมร์เคิล และพรรคฝ่ายกลาง-ซ้ายของนายชไตน์บรึค
ซึ่งการจับมือกันตั้งรัฐบาลของฝ่ายซ้ายและขวาในเยอรมนีอาจทำให้นายกรัฐมนตรีแมร์เคิลต้องยอมถอยในบางประเด็นเพื่อให้เกิดการประนีประนอม โดยเฉพาะการที่เธออาจต้องยอมลดทอนความสำคัญของการบังคับใช้ “มาตรการรัดเข็มขัด” อันแสนเข้มงวด ต่อประเทศสมาชิกที่กำลังประสบปัญหาในยูโรโซน
ด้านซิกมาร์ กาเบรียล ประธานพรรคเอสพีดีออกมาเปิดเผยว่า ทางพรรคจะยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลกับแมร์เคิลอย่างทันทีทันใด แม้ก่อนหน้านี้ทางพรรคจะเคยจับมือกับแมร์เคิลตั้งรัฐบาลผสม “grand coalition” มาแล้วระหว่างปี 2005-2009 ในช่วงสมัยแรกในการบริหารประเทศของแมร์เคิล
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่นางแมร์เคิลจะต้องหันไปจับมือกับฝ่ายซ้ายเพื่อตั้งรัฐบาลนั้นมาจากความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของพรรคพันธมิตรอีกพรรคหนึ่งของเธออย่างฟรี เดโมแครตส์ (เอฟดีพี) ที่ได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ 4.8 ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 ทำให้ไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนนี้ โดยผลการเลือกตั้งที่ออกมายังถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่พรรคเอฟดีพีไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวในบุนเดสทาก
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ความหอมหวานของชัยชนะในการเลือกตั้งของแมร์เคิล อาจหายไปในระยะเวลาอันสั้น เพราะรัฐบาลเยอรมนีในอีก 4 ปีจากนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ และภาระอันหนักอึ้ง ในการหาทางออกที่เหมาะสมให้กับเศรษฐกิจทั้งของเยอรมนีเอง และวิกฤตในชาติสมาชิกยูโรโซนที่ยังคงไม่หลุดพ้นภาวะถดถอยและยังมีอัตราว่างงานที่สูงลิ่ว