เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนี ระบุกรีซไม่สมควรได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มยูโรโซนตั้งแต่แรก ชี้อดีตนายกฯ เมืองเบียร์ แกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ทำผิดพลาดมหันต์ที่รับ “ประเทศตัวถ่วง” เข้าร่วมใช้เงินยูโร
“กรีซไม่สมควรได้รับอนุญาตให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มยูโรโซนและเงินยูโรแต่แรก พวกเขาคือตัวก่อปัญหาให้แก่ชาติสมาชิกอื่นๆ อดีตนายกรัฐมนตรีชโรเดอร์ตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เปิดโอกาสให้กรีซได้ลงเรือลำเดียวกับพวกเรา” แมร์เคิลกล่าวต่อกลุ่มผู้สนับสนุนราว 1,000 คนระหว่างการหาเสียงให้กับสมาชิกพรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (ซีดียู) ของเธอที่เมืองเรนด์สบวร์กเมื่อวันอังคาร (27)
ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ของเยอรมนี เป็นผู้ที่ยอมรับในปี 2001 ให้กรีซสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นเงินตราสกุลหลักได้ ทั้งที่กรีซมีเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าชาติสมาชิกอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังมีปัญหาด้านวินัยการคลังมาช้านาน
ก่อนหน้านี้ แมร์เคิลเพิ่งเปิดใจให้สัมภาษณ์กับ “โฟกัส” นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ ก่อนจะถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน โดยนายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนียืนยันว่าเธอไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดเรื่องการลด-ล้างหนี้สินให้แก่กรีซ ชาติสมาชิกยูโรโซนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวจนเกือบประสบภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ
แมร์เคิลเตือนว่า วิธีการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไม่ต่างจากปรากฏการณ์ “โดมิโน” และจะนำมาซึ่งความไม่แน่นอนที่จะเป็นผลร้ายโดยตรงต่อความพร้อมและความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในยูโรโซน
นายกรัฐมนตรีหญิงของเยอรมนีย้ำว่า ในความเป็นจริงแล้วประเด็นเรื่องหนี้สินและการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของกรีซมีกำหนดจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งในปีหน้า แต่กว่าจะถึงตอนนั้นกรีซยังคงมีสิ่งสำคัญหลายประการที่ต้องดำเนินการ และถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลเอเธนส์จะต้องยึดมั่นในแนวทางแห่งการปฏิรูปต่อไป โดยย้ำว่าการแก้ปัญหาในกรีซนั้นได้ดำเนินมาถูกทางแล้ว
ความเคลื่อนไหวของนางแมร์เคิลสวนทางกับท่าทีของโวล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี ที่ออกมาให้ความเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กรีซอาจจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการลด-ล้างหนี้สิน
ขณะที่ยานนิส สตูร์นาราส รัฐมนตรีคลังกรีซออกมาเปิดเผยในวันอาทิตย์ (25) ว่า หากกรีซจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือเป็นรอบที่ 3 จริง วงเงินช่วยเหลือที่กรีซสมควรได้รับนั้นจะต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านยูโร และจะต้องไม่มีการบังคับใช้มาตรการรัดเข็มขัดใดๆ เพิ่มเติมอีก
ก่อนหน้านี้ กรีซต้องขอรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจมาแล้ว 2 ครั้งจากสหภาพยุโรป (อียู) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี)โดยครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปี 2010 ในวงเงิน 110,000 ล้านยูโร และครั้งที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้วอีก 140,000 ล้านยูโร ขณะที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ในเดือนที่แล้วว่า กรีซอาจต้องการความช่วยเหลืออีกราว 11,000 ล้านยูโรในระหว่างปี 2014-2015