เอเจนซีส์ - อังเกลา แมร์เคิล เผชิญความท้าทายสำคัญในการชักชวนคู่แข่งพรรคกลาง-ซ้ายมาร่วมฟอร์มรัฐบาล ภายหลังพรรคอนุรักษ์นิยมของเธอเก็บชัยชนะยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ และส่งให้แมร์เคิลกลายเป็นผู้นำทรงอิทธิพลที่สุดของยุโรป
แม้แต่ศัตรูทางการเมืองยังยอมรับว่า แมร์เคิล ว่าที่นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ของเยอรมนี เป็นผู้ชนะที่ยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของประเทศนับจากวิกฤตหนี้ยูโรโซนระเบิดขึ้นในปี 2010
ขณะที่หนังสือพิมพ์เมืองเบียร์ต่างพากันยกย่องว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (22) เป็นชัยชนะส่วนตัวของแมร์เคิลอย่างแท้จริง
พรรคคริสเตียน เดโมเครติค ยูเนียน (ซีดียู) ของแมร์เคิล และพรรคคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (ซีเอสยู) ซึ่งเป็นพรรคพี่พรรคน้องกับซีดียู กวาดคะแนนทั้งสิ้น 41.5% สูงสุดนับจากปี 1990 และขาดเพียง 5 ที่นั่งในการครองเสียงข้างมากเด็ดขาดครั้งแรกในสภาล่าง หรือบุนเดสแท็ก ในรอบครึ่งศตวรรษ
ขณะที่พรรคโซเชียล เดโมแครต (เอสพีดี) ที่แมร์เคิลเคยดึงมาร่วมรัฐบาลในสมัยแรกระหว่างปี 2005-2009 นั้น ได้คะแนน 25.7% ดีขึ้นกว่าผลงานเลวร้ายที่สุดในยุคหลังสงครามนั่นคือในครั้งการเลือกตั้งปี 2009 เพียงเล็กน้อย
“เราได้รับสิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของอังเกลา แมร์เคิล" ปีเตอร์ อัลไมเออร์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมและพันธมิตรใกล้ชิดของแมร์เคิล ประกาศทางทีวี และเสริมว่า สิ่งสำคัญคือการมีเสียงข้างมากอย่างมีเสถียรภาพ
นอกจากสามพรรคที่กล่าวมา ยังมีพรรคกรีนส์ที่ได้คะแนน 8.4% ลดฮวบจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และมีอีกเพียงพรรคเดียวที่ได้เข้าสู่สภาล่างคือ พรรคเลฟต์ที่ได้คะแนน 8.6% ส่วนฟรี เดโมแครตส์ (เอฟพีดี) ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันและชูนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจ ได้คะแนนไม่ถึง 5% ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำสุดในการเข้าสู่สภา จึงจะไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาเลย
หลังจากได้คะแนนเลือกตั้งย่ำแย่ที่สุดจากการร่วมรัฐบาลครั้งก่อน ในคราวนี้เอสพีดีอาจลังเลที่จะเป็นพันธมิตรกับแมร์เคิลอีก เว้นแต่จะมีรางวัลใหญ่เป็นกระทรวงสำคัญมาล่อใจ เช่น กระทรวงการคลัง ซึ่งจะเท่ากับเป็นการยุติบทบาทของวูล์ฟกัง ชอเบิล ขุนคลังปัจจุบันวัย 71 ปีที่ได้รับการนับถืออย่างกว้างขวาง
นอกจากนั้น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำและขึ้นภาษีคนรวยที่เอสพีดีลุยหาเสียง ล้วนถูกแมร์เคิลต่อต้าน กระทั่งมานูเอล ชเวซิก รองประธานพรรคกลาง-ซ้ายพรรคนี้เอ่ยปากว่า การตั้งรัฐบาลผสมกับซีดียูเป็นไปได้ยากมาก แถมผู้เชี่ยวชาญยังฟันธงว่า แม้เอสพีดีตกปากรับคำเข้าร่วมรัฐบาล ก็อาจใช้เวลาเจรจากับแมร์เคิลนานเป็นเดือน และถือเป็นการฟอร์มรัฐบาลที่ยากที่สุดในยุคหลังสงครามเลยทีเดียว
ผลลัพธ์คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปของสหภาพการธนาคารยุโรป และการสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมแก่กรีซและอาจรวมถึงโปรตุเกสหยุดชะงัก
กระนั้น โพลที่ออกมาบ่งชี้ว่า คนเยอรมันต้องการรัฐบาลที่เป็นการจับมือกันระหว่างพวกกลาง-ขวา กับกลาง-ซ้าย เช่นเดียวกับพันธมิตรในยุโรปของเบอร์ลินที่หวังว่า เอสพีดีอาจทำให้แนวทางของแมร์เคิลที่มุ่งเน้นการรัดเข็มขัดสำหรับสมาชิกยูโรโซนที่มีปัญหาผ่อนคลายลงบ้าง
หากเอสพีดีไม่ยอมเจรจาด้วย แมร์เคิลอาจหันไปหาพรรคกรีนส์แทน แต่ก็เช่นเดียวกัน เพราะรีเนต คูนาสต์ สมาชิกระดับนำของพรรคสิ่งแวดล้อมรายนี้บอกว่า นึกภาพไม่ออกว่า กรีนส์จะร่วมรัฐบาลกับแมร์เคิลได้อย่างไร
ขณะเดียวกัน พรรคอัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี (เอเอฟดี) ที่เคลือบแคลงในแนวทางเงินสกุลเดียวและได้เข้าสู่สภาครั้งแรก ประกอบกับกระแสต่อต้านการอุ้มสมาชิกขี้โรคในยูโรโซน อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับยุโรปของแมร์เคิล
แม้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะส่งให้แมร์เคิลเป็น 1 ในผู้นำไม่กี่คนของยุโรปที่อยู่รอดจากวิกฤตหนี้ หลังจากผู้นำอีก 19 คนหลุดตำแหน่งนับจากต้นปี 2010 นั้น ทว่า แมร์เคิลยังต้องเผชิญความท้าทายสำคัญมากมายไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์มาสนับสนุนการพึ่งพาอาศัยพลังงานหมุนเวียน จนถึงการกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับยูโรโซน
แม้นำพาเศรษฐกิจเยอรมนีฟื้นตัวและลดอัตราว่างงานลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ทำให้คะแนนนิยมของแมร์เคิลพุ่งเสียดฟ้า แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังห่วงว่า เศรษฐกิจเมืองเบียร์อาจเสียศูนย์ หากไม่มีการปฏิรูปและขาดแผนการริเริ่มใหม่เพื่อหลีกหนีวิกฤตประชากร
แมร์เคิลรับรู้ปัญหาดี ระหว่างแถลงทางทีวีพร้อมกับผู้นำพรรคอื่นๆ เธอบอกว่า สี่ปีข้างหน้าจะเต็มไปด้วยความท้าทายทั้งในประเทศ ในยุโรป และทั่วโลก
“แต่เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้สี่ปีต่อไปเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จสำหรับเยอรมนี”