เอพี - การต่อสู้ทางการเมืองในวอชิงตันกำลังเขย่าขวัญนักลงทุนและคุกคามเศรษฐกิจ เนื่องจากหากคองเกรสไม่สามารถตกลงเรื่องงบประมาณฉุกเฉินได้ก่อนวันอังคาร (1 ต.ค.) หน่วยงานจำนวนมากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะต้องปิดทำการ ไม่เพียงเท่านั้นอีกราวๆ ครึ่งเดือนถัดจากนี้ พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันยังจะเผชิญหน้ากันอีกยกหนึ่ง ในเรื่องการขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล โดยหากรัฐสภาอเมริกันไม่เห็นพ้องกันในเรื่องนี้ ก็จะถึงขั้นที่รัฐบาลอาจผิดนัดชำระหนี้กันทีเดียว
และต่อไปนี้คือคำถาม-คำตอบว่า การเผชิญหน้าในสองประเด็นสำคัญนี้จะมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน
ถาม: จะเกิดอะไรขึ้นภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์จากนี้ไป
ตอบ: เส้นตายเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่สุดสำหรับรัฐสภาและทำเนียบขาวคือ การตกลงกันให้ได้เกี่ยวกับงบประมาณฉบับฉุกเฉินชั่วคราว ซึ่งจะอัดฉีดเงินงบประมาณให้แก่รัฐบาลหลังจากปีงบประมาณปัจจุบันสิ้นสุดลงในวันจันทร์ (30 ก.ย.) ไม่เช่นนั้นหน่วยงานรัฐบาลกลางจำนวนมากจะต้องปิดทำการ แต่อุปสรรคคือ รีพับลิกันที่เป็นฝ่ายควบคุมสภาล่างต้องการพ่วงเงื่อนไขการตัดการสนับสนุนการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อแลกกับการอนุมัติงบประมาณชั่วคราว ซึ่งเดโมแครตที่มีเสียงข้างมากในสภาสูงและครองทำเนียบขาวยืนกรานคัดค้านเต็มที่ เวลานี้มีแนวโน้มสูงว่าจะมีการปิดหน่วยงานรัฐ เว้นแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยอมอ่อนข้อและเสียแต้มทางการเมืองเท่านั้น
ถาม: ประเด็นนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร
ตอบ: หน่วยงานรัฐบาลกลางถึง 1 ใน 3 ทีเดียวจะต้องปิดทำการ ข้าราชการและลูกจ้างรัฐบาลกลางราว 800,000 คน จากทั้งสิ้น 2.1 ล้านคนถูกพักงานโดยไม่ได้เงินเดือน อุทยานแห่งชาติต่างๆ ต้องปิด ขณะที่หน่วยงานทางการทหารและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ เป็นต้นว่า การควบคุมจราจรทางอากาศ การลาดตระเวนตามแนวพรมแดน และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย จะยังสามารถดำเนินงานตามปกติ
การปิดทำการหน่วยงานรัฐบางส่วนเช่นนี้ ถ้ากินเวลาไม่กี่วันก็อาจไม่กระทบเศรษฐกิจมากนัก แต่หากยืดเยื้อตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจถึงขึ้นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัว
เป็นต้นว่า การปิดอุทยานแห่งชาติเป็นเวลานานอาจกระทบต่อพวกโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ ขณะที่ความล่าช้าในการดำเนินการด้านวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติ อาจทำให้การค้าหยุดชะงัก นอกจากนี้ ข้าราชการลูกจ้างรัฐบาลกลาง 1 ใน 3 ที่ต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ย่อมจะระงับการใช้จ่ายและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม
โกลด์แมน แซคส์ประเมินว่า การปิดหน่วยงานรัฐ 3 สัปดาห์จะทำให้อัตราเติบโตระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคมชะลอลงถึง 0.9% และหากยังยืดเยื้อต่อไป อัตราเติบโตในไตรมาสหน้าอาจเหลือเพียง 1.6% เทียบกับ 2.5% ที่เคยคาดหมายกันไว้
ถาม: จะเกิดอะไรขึ้นหากในอีกราวครึ่งเดือนต่อจากนี้ คองเกรสไม่อนุมัติการขยายเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล
ตอบ: รัฐบาลจะไม่สามารถกู้ยืมเพิ่ม จึงต้องนำรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ มาชำระหนี้เดิม บีบให้ต้องลดการใช้จ่ายลง 32% นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คิดว่า รัฐบาลอาจใช้วิธีชะลอการชำระหนี้แต่ละส่วนไปก่อนจนกว่าจะรวบรวมเงินชำระได้ทั้งหมด
ที่แย่กว่านั้นคือ รัฐบาลอาจผิดนัดชำระดอกเบี้ยพันธบัตรคลัง นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรก ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้นานๆ อาจนำไปสู่วิกฤตการเงินโลก
ขณะเดียวกัน งานด้านการประกันสังคมและการจ่ายสวัสดิการอื่นๆ อาจล่าช้า ผู้รับเหมาสัญญาโครงการรัฐไม่ได้รับค่าจ้างและอาจต้องปลดพนักงาน ทหารอาจได้รับเงินเดือนล่าช้า
ถาม: เศรษฐกิจจะรอดพ้นจากอันตรายหรือไม่ หากรัฐสภาตกลงกันไม่ได้ในทั้งสองประเด็น
ตอบ: แม้กระทั่งในสถานการณ์ที่สามารถตกลงกันได้ทันหวุดหวิดก่อนพ้นเส้นตาย ก็ยังบังเกิดผลกระทบในทางลบขึ้นมาแล้ว ดังเช่นการต่อสู้ครั้งล่าสุดเกี่ยวกับการขยายเพดานการกู้ยืมในช่วงฤดูร้อนปี 2011 ที่แม้ผ่าทางตันได้ก่อนเส้นตายไม่กี่ชั่วโมง แต่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (เอสแอนด์พี) ยังคงประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาวของสหรัฐฯเป็นครั้งแรก ฉุดดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ดิ่งฮวบ 635 จุดในวันรุ่งขึ้น
เดือนสิงหาคมปีนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทำสถิติต่ำสุดนับจากเดือนเมษายน 2009 ที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย การใช้จ่ายในห้างค้าปลีกซบเซาลง
เดือนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินว่า การโต้เถียงเรื่องงบประมาณในแดนอินทรีอาจทำให้อัตราเติบโตต่อปีของประเทศอื่นๆ หดหายถึง 0.5% เช่นเดียวกับในปี 2011
อีธาน แฮร์ริส นักเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษาเศรษฐกิจระดับโลก ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์มองว่า การต่อสู้ในรัฐสภาครั้งนี้อาจทำให้คนอเมริกันชะลอการซื้อของใหญ่ เช่น รถยนต์ รวมทั้งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในฐานะทำเลธุรกิจของสหรัฐฯ และนายจ้างชะลอการจ้างงานหรือขยายธุรกิจ
ด้วยเหตุนี้ปลายสัปดาห์ที่แล้ว สภาหอการค้าอเมริกา สมาคมผู้ผลิตแห่งชาติ และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ จึงประสานเสียงเรียกร้องให้คองเกรสอนุมัติงบประมาณชั่วคราวฉุกเฉิน และขยายเพดานการกู้ยืมของรัฐบาล
ถาม: ถ้าเช่นนั้น เหตุใดเวลานี้ตลาดการเงินจึงไม่ยังตื่นตกใจอะไรกันมากมาย
ตอบ: ราคาหุ้นตกล่วงหน้าไปแล้ว 6 ใน 7 สัปดาห์หลังสุด แต่มูลค่าโดยรวมไม่ได้รูดลงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนจำนวนมากเริ่มชินและรู้ว่า ที่สุดแล้วคองเกรสจะตกลงกันได้ในนาทีสุดท้าย
นอกจากนั้นเศรษฐกิจอเมริกายังมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แม้อัตราเติบโตยังไม่มากแต่ก็มั่นคง ทั้งที่รัฐบาลขึ้นภาษีและตัดการใช้จ่ายก็ตาม เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในฐานะมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะยุโรปหลุดพ้นจากภาวะถดถอยในไตรมาส 2 นักลงทุนมากมายจึงอยู่ในอาการรอช้อนซื้อของถูก หากตลาดการเงินตกฮวบจากศึกงบประมาณในวอชิงตัน