เอเจนซีส์ - เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การบินที่ “Cygnus” ยานอวกาศขนส่งสินค้าไร้คนขับของ Orbital Science Corp.ในสหรัฐฯสามารถเชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นผลสำเร็จในวันอาทิตย์ (29) นี้ ถึงแม้ว่าจะช้ากว่ากำหนดไปเป็นอาทิตย์ ก่อนที่จะสามารถนำมาใช้ในภารกิจได้จริงในเดือนธันวาคมนี้ Cygnus นี้ ต่างจากยานอวกาศขนส่งสินค้า Dragon ของบริษัท SpaceX ที่ออกแบบให้สำหรับการใช้เที่ยวเดียวเท่านั้น ที่ในเที่ยวกลับจะขนขยะจากสถานีอวกาศและทั้งตัวยานและขยะจะถูกเผาไหม้เมื่อบินเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก
ถือเป็นภารกิจบินทดสอบครั้งแรกของยานอวกาศขนส่งสินค้าไร้คนขับ “Cygnus” ของบริษัท Orbital Science Corp.สามารถสร้างประวัติศาสตร์ของระบบโลจิสติกส์อวกาศได้สำเร็จ ยานอวกาศ Cygnus นั้นที่ติดอยู่กับจรวด Antares ถูกปล่อยจากฐาน Walop Flight Facility ของนาซาที่รัฐเวอร์จิเนียในวันที่ 18 กันยายนนั้น สามารถเชื่อมเข้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นผลสำเร็จในวันอาทิตย์ (29) นี้
จากแรกเริ่มนั้นยานอวกาศ Cygnus มีกำหนดที่จะต้องถึงสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 22 นี้ แต่ทว่าต้องมีเหตุให้เลื่อนออกไป เนื่องจากมีอุปสรรคมาจากการสื่อสารและการที่ต้องให้ยานอวกาศโซยูสของรัสเซียที่บรรทุกนักบินอวกาศ 3 คนขึ้นไปประจำที่สถานีอวกาศนานาชาตินั้นเชื่อมต่อก่อนในวันที่ 25 กันยายน
ดังนั้นในช่วงที่ต้องมีการเลื่อนการปล่อยตัวออกไปนั้น ทางบริษัทได้แก้ปัญหาซอฟต์แวร์ที่ไม่ทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่า Cygnus จะทำการเชื่อมต่อเป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตามในเวลา 3.00 น.ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ของเช้าวันอาทิตย์ (29) Cygnus สามารถเข้าใกล้กับสถานีอวกาศนานาชาติสำเร็จ และในเวลา 7.00 น.ลูกา ปามิทาโน นักบินอวกาศอิตาเลียนบน ISS ได้ใช้แขนกลเกี่ยว Cygnus ไว้ได้ และเวลา 8.44 น.Cygnus นั้นสามารถเชื่อมเข้ากับ Harmony Module ของ ISS ไว้ได้ และนักบินอวกาศบน ISS เริ่มโหลดอุปกรณ์และสัมภาระออกจากตัวยานอวกาศ Cygnus เพื่อเข้าสู่ตัวสถานีอวกาศ ซึ่งสัมภาระนี้มีน้ำหนักรวมกว่า 700 กก.รวมไปถึงอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ อาหาร เสื้อผ้า และช็อกโกแลตสำหรับนักบินอวกาศ ซึ่งเป็นที่คาดกันว่า Cygnus จะอยู่กับสถานีอวกาศนานาชาติเป็นเวลา 30 วัน และหลังจากนั้นทางนักบินอวกาศจะส่งสิ่งที่ไม่ใช้แล้ว หรือขยะที่ต้องการทิ้งหนัก 800 กก.ไปกับยาน Cygnus กลับสู่โลก ซึ่งขยะพวกนั้นจะถูกเผาไหม้ไปพร้อมกับตัวยานเมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศในปลายเดือนตุลาคมนี้
จากรายงานพบว่า ความสามารถของ Cygnus ในการบรรทุกสิ่งของนี้อยู่ที่ 2,000 กก.แต่ทว่ายานรุ่นหลังๆ นี้ จะได้รับการปรับปรุงให้มีความสามารถบรรทุกได้ถึง 2,700 กก.โดยทางบริษัท Orbital Science Corp.มีสัญญามูลค่า 1.9 พันล้านดอลลาร์กับนาซา ที่จะต้องขนส่งอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ ทั้งสิ้น 20,000 กก.ในจำนวนการขนส่งทั้งหมด 8 ครั้ง โดยจะเริ่มภาระกิจเที่ยวแรกในเดือนธันวาคมนี้จนกระทั่งปี 2016
โดยทั้งจรวด Antares และยานอวกาศขนส่งสินค้า Cygnus นั้น เป็นหนึ่งในสองของระบบการขนส่งสินค้าในอวกาศที่ทางองค์การนาซาของสหรัฐฯให้เงินสนับสนุนราว 288 ล้านดอลลาร์ผ่านบริษัทเอกชน “Orbital Science Corp.” ในโครงการบริการระบบขนส่งสินค้าอวกาศ หรือ COTS และนอกจากนี้ นาซ่ายังได้ให้เงินอุดหนุนอีกราว 396 ล้านดอลลาร์ ให้กับบริษัทคู่แข่งอย่าง “Space Exploration Technologies Corp.” หรือ SpaceX ในการช่วยพัฒนาจรวด Falcon 9 และยานอวกาศขนส่งสินค้า Dragon ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดย SpaceX ได้สัญญา “Follow-on Commercial Resupply Service” ที่มีมูลค่าถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งก่อนหน้านั้นทาง SpaceX ประสบความสำเร็จในการใช้ยาน Dragon ขนส่งสัมภาระได้ถึง 2 เที่ยวบินมาแล้ว
จุดที่น่าสนใจนั้นจะพบว่า ยานขนส่งสินค้า Cygnus นั้น ต่างกับยานขนส่งสินค้า Dragon ตรงที่ “Cygnus นั้นไม่ได้ถูกออกแบบให้ส่งบินกลับโลก” เพราะตัวยานจะขนขยะหรือสิ่งต่างๆ ที่ไม่ต้องการและจะถูกเผาไหม้ไปเมื่อเริ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก นอกจากนี้ ในขณะนี้ทางนาซาของสหรัฐฯยังคงเป็นลูกค้าเพียงรายเดียวของ Cygnus แต่ทางบริษัท Orbital Science Corp.คาดหวังจะมีลูกค้ารายอื่นเพิ่มขึ้น เพราะทั้งสหรัฐฯและประเทศต่างๆ มีโครงการสำรวจอวกาศไปไกลกว่าสถานีอวกาศนานาชาติ ISS