ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกพัดถล่มด้วยพายุของเม็กซิโกและญี่ปุ่น ถือเป็นหนึ่งในข่าวที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากระดับของความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่า ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์เสมอมา และไม่มีความเป็นไปได้ใดๆที่มนุษย์จะเอาชนะธรรมชาติได้
ยอดผู้เสียชีวิตจากการพัดถล่มของพายุโซนร้อน “มานูเอล” และเฮอริเคน “อิงกริด” ที่ซัดถล่มเม็กซิโกพร้อมกันตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 80 รายแล้ว และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก ขณะที่ล่าสุดในวันพฤหัสบดี (19) มีการยืนยันแล้วว่าพายุโซนร้อนมานูเอล ได้ทวีกำลังแรงขึ้น จนกลายเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 ไปแล้วและมีความเร็วลมที่ศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 115 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณรัฐซินาลัว ของเม็กซิโก
พายุโซนร้อน “มานูเอล” ที่พัดขึ้นฝั่งด้านตะวันตกของเม็กซิโกที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่พายุเฮอริเคน “อิงกริด” ที่พัดถล่มพื้นที่แถบตะวันออกเฉียงเหนือของเม็กซิโก ก็ได้สร้างความเสียหายที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่
มิเกล อังเฆล โอโซริโอ ชอง รัฐมนตรีมหาดไทยเม็กซิโกออกมายอมรับว่า ขณะนี้พื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศได้รับผลกระทบจากการพัดถล่มของพายุทั้งสองลูก โดยพื้นที่ที่เกิดการสูญเสียมากที่สุดคือ ที่รัฐเกร์เรโร ที่มีผู้เสียชีวิตราวครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ จากการโจมตีโดยพายุทั้งสองลูก
ขณะที่เมืองตากอากาศชื่อดังอย่าง อกาปุลโก ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก มีรายงานน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร ทำให้ทางหลวงสายหลักที่มุ่งหน้าสู่เมืองถูกตัดขาด และมีนักท่องเที่ยวกว่า 40,000 คน ติดค้างอยู่ในอกาปุลโก ตลอดจนเมืองตากอากาศอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ด้าน “เปเม็กซ์” บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกต้องประกาศอพยพเจ้าหน้าที่ออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันอย่างน้อย 3 แห่งในอ่าวเม็กซิโก ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่เม็กซิโกถูกถล่มด้วยพายุโซนร้อนพร้อมกันถึง 2 ลูกนั้นต้องย้อนกลับไปถึงเมื่อปี 1958 แต่ทว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในเวลานี้นับเป็นครั้งแรกที่เม็กซิโกต้องเผชิญกับการโจมตีจากพายุโซนร้อนและเฮอริเคนพร้อมกันในคราวเดียว
ในอีกด้านหนึ่งพายุไต้ฝุ่น “มานหยี่” ได้พัดถล่มพื้นที่แถบตอนกลางของญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ (16) ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 คน และบ้านเรือนอีกหลายพันหลังได้รับความเสียหาย รวมถึงส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายส่วนของเมืองเกียวโตและบริเวณใกล้เคียง จนต้องมีการสั่งอพยพประชาชนกว่า 300,000 ครัวเรือน ออกนอกพื้นที่
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นรายงานว่า ไต้ฝุ่นมานหยี่พัดขึ้นฝั่งที่เมืองโตโยฮาชิ จังหวัดไอจิด้วยความเร็วลมไม่ต่ำกว่า 162 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและอิทธิพลของมันทำให้เกิดดินถล่มในหลายจังหวัดจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย มีผู้สูญหาย 4 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 130 คน ขณะที่บ้านเรือนกว่า 4,000 หลังถูกน้ำท่วม และอีกอย่างน้อย 270 หลังได้รับความเสียหายหนัก
และที่น่าตื่นตระหนกอย่างยิ่ง คือ พายุไต้ฝุ่นลูกนี้ยังพัดถล่มใส่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงบริเวณที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมาไดอิจิที่ประสบปัญหาการรั่วไหลเรื้อรังของรังสีนิวเคลียร์นานาชนิดมานานเกือบ 3 ปีด้วยเช่นกัน
อิทธิพลของพายุมานหยี่ทำให้เกิดฝนตกอย่างหนักบริเวณโรงไฟฟ้าแห่งนี้ซึ่งอยู่ในความดูแลของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เทปโก) ซ้ำเติมปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกในเรื่องถังเก็บน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเชื่อกันว่ามีรอยรั่วที่ทำให้น้ำปนเปื้อนรังสีอันตรายในถังไหลซึมไปรวมกับน้ำใต้ดิน และมีน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนรังสีนิวเคลียร์ไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกวันละกว่า 300 ตัน จนสร้างความหวาดกลัวการบริโภคอาหารทะเล “เมด อิน เจแปน” ไปทั่วในหลายประเทศ
ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งการพัดถล่มของพายุโซนร้อน “มานูเอล” และเฮอริเคน “อิงกริด”ที่เม็กซิโก รวมถึงพายุไต้ฝุ่น “มานหยี่” ที่ได้พัดถล่มพื้นที่แถบตอนกลางของญี่ปุ่น จึงเปรียบเสมือนเป็นการส่งสัญญาณเตือนจาก “ผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ซึ่งก็คือธรรมชาติว่า หากมนุษย์เรายังไม่เร่งหันมาใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ธรรมชาติก็พร้อมที่จะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้สร้าง ไปสู่การเป็น “ผู้ทำลายล้าง” ได้ทุกเมื่อเช่นเดียวกัน