เอเอฟพี - นักธุรกิจโสมขาวทยอยข้ามแดนไปยังนิคมอุตสาหกรรมแกซองในฝั่งเกาหลีเหนือวันนี้ (16) หลังจากที่ทั้ง 2 ประเทศบรรลุข้อตกลงเปิดเขตอุตสาหกรรมร่วมซึ่งตกเป็นเหยื่อข้อพิพาทจนต้องปิดตัวมานานถึง 5 เดือนเต็ม
ภาพของรถยนต์, รถบรรทุก และบรรดาผู้จัดการโรงงานที่ผ่านข้ามชายแดนไปเมื่อเวลา 08.30 น. (06.30 น.ตามเวลาในไทย) นับเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนที่สุดในความพยายามที่จะฟื้นฟูมิตรภาพของสองเกาหลี
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะทำงานร่วมกันได้ดีเหมือนเคย” ผู้จัดการโรงงานสิ่งทอวัย 50 ปีคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ โดยขอสงวนนาม
“ว่ากันตามตรง ผมเองก็ยังหวั่นใจอยู่ เพราะไม่รู้รัฐบาลเกาหลีเหนือจะเปลี่ยนใจอีกเมื่อไหร่”
บรรยากาศแห่งความผ่อนคลายและความหวังที่ชายแดนเมืองแกซองวันนี้ (16) ผิดกันโดยสิ้นเชิงกับกระแสหวั่นวิตกถึงหายนะที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่นิคมอุตสาหกรรมถูกสั่งปิดไปเมื่อเดือนเมษายน
ต้นปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ตึงเครียดที่สุด สืบเนื่องจากการที่เกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และเมื่อถูกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คว่ำบาตรเพิ่ม โสมแดงก็ขู่จะตอบโต้ด้วย “สงครามเทอร์โมนิวเคลียร์” กับสหรัฐฯและชาติพันธมิตร และยังถอนแรงงานกว่า 53,000 คนออกจากนิคมอุตสาหกรรมร่วมที่เคยเป็นสัญลักษณ์ความร่วมมือของสองเกาหลีมานานหลายปี
เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทั้งสองฝ่ายได้หันหน้าเจรจาเพื่อฟื้นนิคมอุตสาหกรรมแกซองอีกครั้ง โดยเกาหลีเหนือยอมรับเงื่อนไขของโซลที่ต้องการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามายังแกซอง
เกาหลีใต้นั้นเชื่อว่า หากกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทในแกซอง เกาหลีเหนือก็จะไม่สามารถสั่งปิดนิคมอุตสาหกรรมได้ตามอำเภอใจอีก
นิคมอุตสาหกรรมแกซองถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2004 โดยเป็นผลงานจากนโยบาย “ซันไชน์” ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี คิม แด-จุง แห่งเกาหลีใต้ ซึ่งต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์สองเกาหลี เขตอุตสาหกรรมร่วมแห่งนี้ยังเป็นแหล่งดึงดูดสกุลเงินแข็งให้กับรัฐบาลเปียงยางผ่านการเก็บภาษี และช่วยลดภาระค่าจ้างแรงงานโสมแดงได้อย่างมากมาย
ภารกิจแรกที่ผู้จัดการโรงงานทุกแห่งจะต้องทำก็คือ ตรวจสอบสภาพสายการผลิตที่ถูกปิดตายมานานถึง 5 เดือน และประเมินว่าจะสามารถเปิดใช้งานอย่างเต็มศักยภาพได้เมื่อใด
กระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ระบุว่า ผู้จัดการโรงงานและคนงานราว 820 คนมีแผนจะข้ามแดนไปยังแกซองในวันนี้ (16) และราว 400 คนจะค้างคืนอยู่ที่นั่นเพื่อตรวจสอบความพร้อมของโรงงาน
เพื่อป้องกันมิให้นิคมอุตสาหกรรมตกเป็นเหยื่อปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต เกาหลีเหนือและใต้ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดูแลกิจการแกซอง และหาทางออกร่วมกันเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับการผลิตสินค้า โดย คิม คี-วุง ประธานคณะกรรมการร่วมฝ่ายเกาหลีใต้ชี้ว่า คณะทำงานของเขาจะมุ่งพัฒนาให้แกซองมีศักยภาพด้านการแข่งขันในระดับนานาชาติ
ในทางทฤษฎี นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้เปิดรับนักลงทุนต่างชาติอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีนักลงทุนจากนอกคาบสมุทรเกาหลีรายใดที่กล้าเสี่ยง
เปียงยางและโซลจะจัดกิจกรรมโรดโชว์นำนักลงทุนต่างประเทศเดินทางไปเยี่ยมชมสายการผลิตที่แกซองในเดือนตุลาคมนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังกังขาว่าจะมีนักธุรกิจรายใดกล้านำเงินไปลงทุนกับนิคมอุตสาหกรรมซึ่งดูแลโดย 2 ประเทศที่ยังอยู่ในภาวะสงครามทางเทคนิค
“เจ้าของบริษัทต่างชาติที่สติดีๆ คนไหนบ้างจะอยากเข้าไปลงทุนที่แกซอง” ไอดาน ฟอสเตอร์-คาร์เตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีจากมหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล