เอเอฟพี - เกาหลีใต้ตัดสินใจยื่นข้อเสนอขอเปิดเจรจากับเกาหลีเหนือเรื่องนิคมอุตสาหกรรมแกซองอีกครั้ง โฆษกรัฐบาลแถลงวันนี้ (4) หลังจากที่โสมแดงยอมเปิดใช้ “ฮอตไลน์” และอนุญาตให้ผู้จัดการโรงงานโสมขาวเดินทางเข้าไปตรวจสภาพโรงงานที่ถูกปิดตายมานานถึง 3 เดือนได้
กระทรวงการรวมชาติเกาหลีใต้ส่งข้อความไปยังรัฐบาลเปียงยาง โดยเสนอให้แต่ละฝ่ายส่งเจ้าหน้าที่ 3 คนมาพบปะหารือที่หมู่บ้านปันมุนจอมภายในเขตปลอดทหารชายแดน วันเสาร์นี้ (6) คิม ฮยุง-ซ็อก โฆษกเกาหลีใต้ แถลง
“ทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสหารือเกี่ยวกับการตรวจเช็คสภาพเครื่องมือการผลิตในโรงงานต่างๆ รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิดนิคมอุตสาหกรรมแกซองอีกครั้ง” คิมกล่าว
เมื่อวานนี้ (3) รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมเปิด “สายด่วนกาชาด” ข้ามแดนอีกครั้ง และอนุญาตให้นักธุรกิจและผู้จัดการโรงงานของเกาหลีใต้เดินทางไปตรวจสภาพโรงงานของพวกเขาที่เมืองแกซองได้ หลังจากตัวแทนบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กว่า 40 แห่ง ขู่จะย้ายฐานการผลิตออกจากนิคมอุตสาหกรรมแกซอง เพราะทนไม่ได้ที่จะต้องตกเป็นเหยื่อปัญหาการเมืองต่อไป
ตัวแทนบริษัทโสมขาว 123 แห่งที่มีโรงงานอยู่ในแกซอง พยายามเรียกร้องให้เปียงยางและโซลเปิดเจรจาโดยเร็ว เพื่อให้เขตอุตสาหกรรมร่วมอันเป็นสัญลักษณ์มิตรภาพระหว่างสองเกาหลีกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ในจำนวนนี้มีอยู่ 46 บริษัทที่ผลิตสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาความชื้นเมื่อไม่มีพนักงานคอยดูแลรักษาในฤดูมรสุม
อาจารย์คิม ยอง-ฮยุน จากมหาวิทยาลัยเกาหลี ชี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เกาหลีเหนือจะยอมเจรจาเรื่องแกซอง เพราะเปียงยางก็ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตพลเมืองที่ยังยากจนข้นแค้น และหวังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติเข้าไปยังเขตอุตสาหกรรมร่วมแห่งนี้
ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีซึ่งเกิดจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้นิคมอุตสาหกรรมแกซองกลายเป็น “เหยื่อ” รายสำคัญของความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเปียงยางสั่งห้ามแรงงานเกาหลีใต้เดินทางข้ามแดนไปที่แกซองตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ก่อนจะประกาศถอนแรงงานเกาหลีเหนือทั้งหมด 53,000 คนในอีก 1 สัปดาห์ให้หลัง
นิคมอุตสาหกรรมแกซองก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 ภายใต้นโยบาย “ซันไชน์” ของอดีตประธานาธิบดีคิม แด-จุง แห่งเกาหลีใต้ ซึ่งต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์สองเกาหลี เขตอุตสาหกรรมร่วมแห่งนี้ยังเป็นแหล่งดึงดูดสกุลเงินแข็งให้กับรัฐบาลเปียงยาง และช่วยลดภาระค่าจ้างแรงงานในประเทศ