xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มกบฏมุสลิม “ปินส์” ประจันหน้าทหารเป็นวันที่ 2 ใช้ชาวบ้านร่วม 200 เป็น “โล่มนุษย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะขนส่งกำลังเสริมเข้าสู่พื้นที่ซึ่งถูกกลุ่มกบฏโจมตี ในเมืองซัมบวงกา
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ – กลุ่มกบฏมุสลิมใช้ชาวบ้านเกือบ 200 คนเป็น “โล่มนุษย์” และกราดกระสุนตอบโต้กองทหารฟิลิปปินส์วันนี้ (10 ก.ย.) ซึ่งนับเป็นวันที่สองของการประจันหน้ากัน หลังจากที่นักรบติดอาวุธหนักเหล่านี้ก่อเหตุโจมตีซัมบวงกา เมืองท่าทางภาคใต้ของแดนตากาล็อก บรรดาเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์รายงาน

มีเสียงปืนหลายชุดดังขึ้นจากชายหาดแถบชานเมืองซัมบวงกาเมื่อช่วงรุ่งสาง จากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการกับกลุ่มติดอาวุธของแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (เอ็มเอ็นแอลเอฟ) ซึ่งมุ่งขัดขวางการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) ที่เป็นกลุ่มกบฏคู่แข่งของเอ็มเอ็นแอลเอฟ

กองกำลังความมั่นคงสามารถควบคุมไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ด้วยการจำกัดวงสถานการณ์ไม่ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ มาร์ โรซัส รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแถลงกับบรรดานักข่าว โดยระบุเสริมว่าทางการฟิลิปปินส์กำลังพยายามเจรจาต่อรองกับนักรบเหล่านี้อยู่

ชาวบ้านราว 180 คนถูกใช้เป็น “โล่มนุษย์” ในหกหมู่บ้านที่ซึ่งกบฏกลุ่มนี้แทรกซึมอยู่ และมีกองกำลังความมั่นคงปิดล้อม โรซัสกล่าวขณะแถลงข่าวร่วมกับ มาเรีย อิซาแบล กลีมาโก ซัลลาซาร์ นายกเทศมนตรีเมืองซัมบวงกา

รัฐบาลฟิลิปปินส์เรียกชาวบ้านเหล่านี้ว่าเป็น “ตัวประกัน” ขณะที่โรซัสกล่าวว่า ดูเหมือนพวกเขาจะมีอิสระที่จะหนีออกมาหากพวกเขาต้องการ

“ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้จะไม่ใช่การจับตัวประกัน แต่กองกำลังของเอ็มเอ็นแอลเอฟซึ่งบุกเข้าไปในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ ใช้คนส่วนใหญ่เป็นโล่มนุษย์” เขาชี้แจง

“พวกเขาอยู่ในฐานะตัวประกันหรือไม่นั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด”

เมื่อวานนี้ (9) กลุ่มติดอาวุธซึ่งเป็นผู้ติดตามของนูร์ มิซูอารี หัวหน้ากลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟ ได้เดินทางด้วยเรือเข้าไปยังหมู่บ้านชาวประมงก่อนที่จะก่อเหตุรุนแรงในซัมบวงกา ซึ่งสร้างความหวาดผวาแก่เมืองที่มีประชากรเกือบหนึ่งล้านคนแห่งนี้
กลุ่มควันที่พวยพุ่งออกมาจากบริเวณที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทางการ กับกลุ่มกบฏเอ็มเอ็นแอลเอฟ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการเผาบ้านเรือนในบริเวณนั้น
ก่อนหน้านี้ มิซูอารีได้ออกมาประกาศ “อิสรภาพ” ให้กับพื้นที่ในภาคใต้ที่ประชาชนเป็นชาวมุสลิม จากฟิลิปปินส์ซึ่งมีพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแห่งนี้ ตลอดจนเรียกร้องให้บรรดาผู้ติดตามของเขาปิดล้อมสถานที่ราชการที่สำคัญต่างๆ

ประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน ซึ่งแถลงกับนักข่าวที่กรุงมะนิลา ปฏิเสธที่จะกำหนดเส้นตายให้กับการแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้

“เราจะไม่ขีดเส้นตายว่าเรื่องนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร แต่สิ่งที่เราต้องการรับประกันก็คือ จะไม่มีพลเมืองได้รับผลกระทบ บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตอีก” เขาเน้นย้ำ

การโจมตีระลอกแรกที่เกิดขึ้นได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 รายและบาดเจ็บ 14 คน ซึ่งยอดที่นายกเทศมนตรีบอกนักข่าววันนี้ ลดลงจากเมื่อวานนี้ (9) ที่เธอแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต 6 รายและบาดเจ็บ 24 คน แต่ก็ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขเปลี่ยนแปลง
พันโทรามอน ซากาลา โฆษกของกองทัพฟิลิปปินส์ได้ประมาณการว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มติดอาวุธราว 180 คนที่ใช้ปืนยาวและปืนครกเข้าต่อสู้ ซึ่งเป็นการแก้ไขตัวเลขเที่เขาระบุเมื่อวานนี้ว่ามีพวกกบฏ 200 ถึง 300 คน

กองทหารชั้นนำ 1,500 คนพร้อมด้วยตำรวจกลุ่มเล็กกว่าคอยสนับสนุน ได้เข้าปิดล้อมพื้นที่เกิดเหตุเพื่อตรึงกลุ่มติดอาวุธให้อยู่กับที่ และป้องกันไม่ให้กำลังเสริมของกลุ่มกบฏสามารถเข้าไปได้ เขากล่าวกับผู้สำนักข่าวเอเอฟพี

เอ็มมานูเอล ฟอนตานิลลา โฆษกกลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟกล่าวกับสถานีวิทยุดีซีเอ็มเอ็มว่า เหล่ากบฏเตรียมพร้อมจะอยู่ตรงนี้ไม่ยอมถอย

“กองกำลังของเราจะตรึงอยู่ตามจุดที่พวกเขาอยู่ในตอนนี้ พวกเขาจะคอยเป็นฝ่ายตั้งรับ” เขาให้สัมภาษณ์

มีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ ที่หนึ่งในหมู่บ้านซึ่งถูกกบฏจู่โจม ทหารที่รุกตามหลังยานลำเลียงพลหุ้มเกราะได้สาดกระสุนตอบโต้หน่วยซุ่มยิงของเอ็มเอ็นแอลเอฟที่ซุ่มตัวอยู่ในบ้าน ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นบอกสำนักข่าวเอเอฟพี

“ในช่วงเวลานี้ สิ่งสำคัญสูงสุดของเราคือความปลอดภัยและความมั่นคง ของตัวประกันและเมืองนี้” ซากาลากล่าว อีกทั้งเสริมว่าวันนี้การยิงต่อสู้ลดน้อยลงแล้ว และไม่มีความเสียหายเพิ่มเติม
ตำรวจหน่วยซุ่มยิงกำลังใช้กระจกเพื่อตรวจดูทิศทางของกลุ่มกบฏเอ็มเอ็นแอลเอฟ
“เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนภารกิจ เราจะปรับตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์” เขากล่าวสั้นๆ โดยไม่ได้ชี้แจงเพิ่มเติม

คลิปบันทึกภาพเหตุการณ์สถานีโทรทัศน์เอบีเอส-ซีบีเอ็นนำมาออกอากาศ เผยให้เห็นภาพของชาวบ้านหลายร้อยคน ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย กำลังนอนกับพื้นของโรงยิมที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน พวกเขาต่างถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องทิ้งบ้านหนีการสู้รบ

ทางด้าน มิซูอารีได้วิพากษ์วิจารณ์การเจรจาสันติภาพเบื้องต้น ซึ่งมีการลงนามร่วมกันระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ และกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟเมื่อปี 2012

เขากล่าวหาว่าข้อตกลงดังกล่าว เป็นการกีดกันกลุ่มของเขา และข้อตกลงสันติภาพที่เอ็มเอ็นแอลเอฟเซ็นเมื่อปี 1996

ฟอนตานิลลา โฆษกเอ็มเอ็นแอลเอฟกล่าวว่า แทนที่จะส่งกองทหารไปสู้กับกลุ่มติดอาวุธ รัฐบาลควรทำตามข้อตกลงในสนธิสัญญาปี 1996 ด้วยการนำข้อเรียกร้องของกลุ่มกบฏไปปรึกษาหารือกับคณะกรรมาธิการไกล่เกลี่ย ที่มีองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน

ทั้งนี้ กลุ่มติดอาวุธได้เปิดฉากโจมตี ในช่วงเวลาที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังเตรียมการที่จะเจรจาสันติภาพกับเอ็มไอแอลเอฟต่อ โดยการพูดคุยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยุติการก่อกบฏที่ยืดเยื้อยาวนานมา 42 ปี และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วถึง 150,000 ชีวิต

เหตุโจมตีที่ซัมบวงกาครั้งนี้ถือเป็นหนที่สองนับตั้งแต่ปี 2011 เมื่อกองกำลังของมิซูอารีได้จับกุมชาวบ้านหลายสิบคนเป็นตัวประกัน และคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก

หลายวันต่อจากนั้น เอ็มเอ็นแอลเอฟได้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดให้เป็นอิสระ เพื่อแลกเปลี่ยนกับเส้นทางที่มิซูอารีใช้หนีไปมาเลเซีย ดินแดนที่เขาถูกจับกุมและถูกส่งกลับฟิลิปปินส์

เขาถูกคุมขังอยู่ในค่ายตำรวจใกล้กรุงมะนิลาจนถึงปี 2008 ซึ่งเป็นเวลาที่รัฐบาลถอนข้อหาของเขาทั้งหมด
หน่วยซุ่มยิงของกองทัพฟิลิปปินส์กำลังดักซุ่มอยู่หลังต้นไม้ เพื่อยิงตอบโต้กลุ่มกบฏเอ็มเอ็นแอลเอฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น