เอเอฟพี/เอพี – กองทหารฟิลิปปินส์ประจันหน้ากับกลุ่มติดอาวุธมุสลิมจำนวนหลายร้อยคนในวันนี้ (9 ก.ย.) ภายหลังที่กลุ่มดังกล่าวออกอาละวาดในเขตชุมชนหลายแห่งทางชายฝั่งภาคใต้ของประเทศ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 8 ราย และจับชาวบ้านเป็นตัวประกันอย่างน้อย 20 คน ทั้งนี้เชื่อกันว่าเป็นการกระทำที่มุ่งขัดขวางการเจรจาเพื่อสันติภาพ
ทหารที่มีรถหุ้มเกราะเป็นอาวุธได้ตรึงกำลังรอบซัมบวงกา เมืองท่าในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ หลังจากที่กลุ่มกบฏแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (เอ็มเอ็นแอลเอฟ) จำนวน 200 ถึง 300 คนเดินเข้าไปในหมู่บ้านบริเวณชายฝั่งแถบชานเมืองซัมบวงกา รวม 6 หมู่บ้าน เมื่อช่วงก่อนรุ่งสาง พันโทรามอน ซากาลา โฆษกกองทัพฟิลิปปินส์แถลง
“พวกเขาพยายามเคลื่อนกำลังไปศาลาว่าการเมือง แต่เราไม่สามารถยินยอมให้มีการกระทำเช่นนั้น” เขากล่าวในการแถลงข่าว ที่กรุงมะนิลา โดยระบุเสริมว่าสามารถจับกุมผู้ถืออาวุธเหล่านี้ได้ 2 คน
ทางด้านรัฐบาลประธานาธิบดี เบนีโญ อากีโน ได้ออกมาประณามเหตุโจมตีครั้งนี้ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า เป็นแผนบ่อนทำลายการเจรจาสันติภาพซึ่งมุ่งหวังที่จะยุติการก่อกบฏในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ อันยืดเยื้อยาวนานมาถึง 42 ปี ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตชีวิตแล้ว 150,000 คน
“ทางการกำลังรับมือกับสถานการณ์ด้วยวิธีให้เกิดความเสี่ยงต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์น้อยที่สุด และจะนำสันติภาพ ตลอดจนความเป็นระเบียบเรียบร้อยกลับมายังเมืองซัมบวงกาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เอ็ดวิน ลาซีเอร์ดา โฆษกของอากีโนระบุในคำแถลง
มีรายงานว่าเกิดระเบิดเสียงดังกึกก้องไปทั่วซัมบวงกา ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าสำคัญ ในยุคที่ฟิลิปปินส์ตกเป็นอาณานิคมของสเปน และมีประชากรอาศัยอยู่เกือบล้านคน
ถนนสายต่างๆ โล่งไร้ผู้คน และบรรดาร้านรวง โรงเรียน หน่วยงานราชการต่างๆ ตลอดจนท่าอากาศยานต้องปิดตัวลง
พวกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของภาคเอกชนซึ่งติดอาวุธสงคราม ตลอดจนทหารต่างตรึงกำลังอยู่ตามท่าอากาศยาน โรงแรม ธนาคาร และอาคารอื่นๆ นักข่าวเอเอฟพีคนในพื้นที่รายงาน
อิซาแบล กลีมาโก-ซัลลาซาร์ นายกเทศมนตรีเมืองซัมบวงกา แจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ของกองกำลังความมั่นคง 4 คน และพลเรือนอีก 2 คนเสียชีวิต ขณะที่ประชาชน 1,500 คน ต้องหลบหนีออกจากบ้านเรือน ส่วนฝ่ายทหารระบุว่าพวกกบฏถูกสังหารไป 2 คน
คลิปบันทึกภาพเหตุการณ์ ซึ่งสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเอบีเอส-ซีบีเอ็นนำออกเผยแพร่ ได้เผยให้เห็นยานลำเลียงพลหุ้มเกราะหลายคันซึ่งวิ่งไปทั่วถนนสายต่างๆ ที่ว่างเปล่าในช่วงรุ่งสาง โดยที่มีการกั้นถนนหลายจุด
การโจมตีครั้งนี้มีขึ้นในเวลาที่รัฐบาล และแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (เอ็มไอแอลเอฟ) กำลังเตรียมการกลับมาเจรจาสันติภาพกันต่อเพื่อจัดทำข้อตกลงทางการเมือง ที่หวังกันว่าจะเสร็จเรียบร้อยทันให้ลงนามก่อนที่อากีโนจะลงจากตำแหน่งในปี 2016
หลังจากที่มีการเซ็นข้อตกลงเพื่อสันติภาพเบื้องต้นไปแล้วในปี 2012 การเจรจาต่อจากนั้นจึงตั้งเป้าที่จะให้ได้ข้อตกลงการแบ่งสรรอำนาจระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับเอ็มไอแอลเอฟ ซึ่งมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มโมโรที่เป็นชาวมุสลิมในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ นำโดย เอ็มเอ็นแอลเอฟ ได้เคยลงนามข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์มาแล้วเมื่อปี 1996 ทว่านักรบหลายร้อยคนของกลุ่มนี้ยังคงไม่ยอมวางอาวุธ และกล่าวหาฝ่ายทางการเรื่อยมาว่าผิดสัญญาในเรื่องที่จะเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ปกครองตนเองของโมโร
ขณะเดียวกัน กลุ่มนี้ได้แตกแยกออกเป็นหลายกลุ่มย่อย โดยที่เอ็มเอ็นแอลเอฟเองค่อยๆ ลดอิทธิพลลงเรื่อยๆ ขณะที่ เอ็มไอแอลเอฟ ซึ่งเป็นพวกที่แตกออกมากลุ่มใหญ่ที่สุดและยังคงจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลต่อไปนั้น กลับมีความเข้มแข็งก้าวผงาดขึ้นแทนที่
จากการเจรจาสันติภาพระหว่างเอ็มไอแอลเอฟกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ใกล้จะได้ข้อตกลงรายละเอียดแล้วนั้น คาดหมายกันว่าเอ็มไอแอลเอฟจะยอมปลดอาวุธกองกำลังที่มีขนาดราว 12,000 คนของตน แลกกับการที่รัฐบาลจะยอมให้เอ็มไอแอลเอฟได้สิทธิปกครองตนเองในดินแดนผืนใหญ่ทางภาคใต้ โดยที่พื้นที่จำนวนมากทีเดียวจะทับซ้อนกับเขตปกครองตนเองซึ่งรัฐบาลเคยทำความตกลงไว้กับเอ็มเอ็นแอลเอฟ
รอมเมล บันเลาอี ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันเพื่อการวิจัยสันติภาพ ความรุนแรง และการก่อการร้าย ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยทางด้านความมั่นคงระดับหัวกะทิของฟิลิปปินส์ ระบุว่า การก่อเหตุของเอ็มเอ็นแอลเอฟครั้งนี้น่าจะหวังผลบ่อนทำลายการเจรจาสันติภาพ
“แรงจูงใจของ (นูร์) มีซูอารี (หัวหน้ากลุ่มเอ็มเอ็นแอลเอฟ) ต้องการที่จะสื่อ... (ว่า) การลงนามข้อตกลงสันติภาพร่วมกันระหว่างรัฐบาล กับกลุ่มเอ็มไอแอลเอฟนั้น ไม่ใช่สิ่งที่รับประกันได้ว่าสงครามจะสิ้นสุดลง”
เขาวิเคราะห์ต่อไปว่า “สิ่งที่น่ากลัวในตอนนี้ก็คือ มิซูอารีอาจจัดตั้งแนวร่วม กับพวกกลุ่มอันตรายอื่นๆ ที่ตั้งเป้าโจมตีฟิลิปปินส์”
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง มิซูอารีได้ออกมาประกาศกร้าวอีกครั้งว่า จะสถาปนารัฐอิสลามที่เป็นเอกราชขึ้นในภาคใต้ของฟิลิปปินส์
“ถึงรัฐบาลฟิลิปปินส์ ข้าพเจ้าคิดว่าข้อความของเราชัดเจนพอแล้ว ว่าเราไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์อีกต่อไป” มิซูอารีระบุในหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาล ซึ่งสำนักข่าวเอเอฟพีได้เห็นฉบับที่เป็นสำเนา
เขายังได้เรียกร้องให้กองกำลังของเขา “ปิดล้อม และตรึงกำลังกองทหาร ตำรวจ และสถานที่ราชการอื่นๆ รวมทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ ตลอดจนหน่วยงานราชการ และองค์การเอกชนที่สำคัญอื่นๆ ทั้งหมด”
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มิซูอารีเข้าโจมตีซัมบวงกา
เมื่อปี 2001 มิซูอารีและผู้ติดตามได้จับตัวประกันหลายสิบคน และคร่าชีวิตคนจำนวนมากในเมืองซัมบวงกา และที่เกาะโจโล ซึ่งอยู่ใกล้เคียง ที่เป็นบ้านเกิดของเขา
หลายวันจากนั้น เอ็มเอ็นแอลเอฟได้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดให้เป็นอิสระ เพื่อแลกเปลี่ยนกับเส้นทางที่มิซูอารีใช้หนีไปมาเลเซีย ดินแดนที่เขาถูกจับกุมและถูกส่งกลับฟิลิปปินส์
เขาถูกคุมขังอยู่ในค่ายตำรวจใกล้กรุงมะนิลาจนถึงปี 2008 ซึ่งเป็นเวลาที่รัฐบาลถอนข้อหาของเขาทั้งหมด