เดลิเมล์/ASTVผู้จัดการ - สื่อมวลชนของอังกฤษรายงานว่า รัฐบาลไทยเมื่อวันจันทร์ (2) ออกมาปฏิเสธจ้างนายโทนี แบลร์ ร่วมเวทีปาฐกถาสันติภาพ เป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท แต่ก็เผยอดีตนายกรัฐมนตรีแดนผู้ดีเคยได้รับเงินค่าร่วมบรรยายในที่สาธารณะที่ฟิลิปินส์เป็นเงินถึง 18 ล้านบาท สวนทางกับคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศที่บอกว่านายแบลร์ไม่มีค่าจ้าง
เดลิเมล์รายงานว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้รับค่าตอบแทนจำนวนข้างต้น โดยยืนยันบุคคลสำคัญที่มาร่วมปาฐกถาไม่ได้มีการขอหรือจัดเงินตอบแทนเป็นพิเศษ สิ่งที่จัดให้คือค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักเท่านั้น
ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษและทูตสันติภาพตะวันออกกลาง เป็นหนึ่งในแขกระดับสูงที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในไทยและทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยินดีที่ได้เข้าร่วมเวทีปาฐกถาในการสนับสนุนความคิดริเริ่มสานสันติและคืนความปรองดองของรัฐบาลไทย
โฆษกยืนยันว่า “การปาฐกถาจัดขึ้นตามพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีค่าจ้างและไม่เคยมีการจ้างด้วย มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและประชาธิปไตยของไทย และนายโทนี แบลร์ มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม”
เวทีปาฐกถานี้มีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันจันทร์ (2) โดยนอกจากนายแบลร์แล้ว ยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆร่วมด้วยอาทิอดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ มาร์ตติ อาห์ติซารี และพริสซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญในคณะกรรมาธิการซื่อสัตย์และปรองดอง
เดลิเมล์ระบุว่า กิจกรรมนี้ถูกจัดขึ้นโดยมีเจตนาคลี่คลายความยุ่งเหยิงทางการเมืองซึ่งเกาะกุมประเทศไทยมาตั้งแต่รัฐประหารโค่นล้มอำนาจทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในปี 2006 และนับตั้งแต่นั้นทักษิณ ก็หลบหลีไปใช้ชีวิตในต่างแดน ขณะที่รัฐบาลไทยในเวลานี้นำโดยนา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของเขา
ขณะเดียวกัน เวทีปาฐกถาครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคารที่แล้ว (27 ส.ค.) ได้มีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องขอให้นายแบลร์ถอนตัวจากกิจกรรมนี้ จนทางกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษต้องประกาศเตือนประชาชนงดเดินทางมายังสถานทูตอังกฤษประจำกรุงเทพฯ ในวันดังกล่าว
สื่อมวลชนอังกฤษแห่งนี้รายงานด้วยว่า ข้อเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเมื่อเร็วๆนี้ที่ปลดเปลื้องทุกคนที่ถูกจับกุม ตั้งข้อหาหรือโดนดำเนินคดีจากเหตุความรุนแรงตามหลังรัฐประหารถูกประท้วงอย่างกว้างขวาง โดยฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กีงวลว่ากฎหมายนี้คือความพยายามนำพาทักษิณคืนสู่อำนาจ
อนึ่ง เดลิเมล์รายงานว่า นายแบลร์เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับค่าจ้างสำหรับการพูดต่อที่สาธารณะสูงสุดของโลก โดยครั้งหนึ่งเคยได้รับค่าจ้างสูงถึง 364,000 ปอนด์ (ราว 18 ล้านบาท) สำหรับการร่วมปาฐกถาในฟิลิปินส์เป็นเวลาแค่ 30 นาที
รายงานนี้สวนทางกับคำพูดของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ที่ยืนยันกับสื่อมวลชนไทยว่าไม่ได้เสียเงินจ้างนายแบลร์ เพราะว่านายแบลร์ไม่ได้มีค่าจ้าง ไม่เหมือนนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และไม่อยากให้หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาโจมตีว่ารัฐบาลใช้เงินมากมาย