ทั่วโลกเริ่มนับถอยหลังรอดูปฏิบัติการทางทหารที่เชื่อว่าสหรัฐฯและชาติพันธมิตรจะใช้เป็นบทลงโทษต่อซีเรียในอีกไม่กี่วันนี้ หลังจากวอชิงตันและตะวันตกยืนยันหนักแน่นว่ากองกำลังของประธานาธิบดี บาชาร์อัล-อัสซาด อยู่เบื้องหลังการใช้อาวุธเคมีสังหารโหดพลเรือนที่ชานกรุงดามัสกัสไปถึง 1,300 ศพเมื่อวันพุธที่ 21 สิงหาคม ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าปฏิบัติการของตะวันตกคงจะเป็นได้แค่การตอบโต้ “เชิงสัญลักษณ์” เท่านั้น
รองประธานาธิบดีโจไบเดน ของสหรัฐฯ ออกมาแถลงอย่างชัดเจนครั้งแรกเมื่อวันอังคาร (27) ว่า สหรัฐฯมั่นใจว่ารัฐบาลซีเรียต้องรับผิดชอบกรณีการใช้แก๊สพิษซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากส่วน ชัค เฮเกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเผยว่ากองทัพอเมริกันเตรียมพร้อมเต็มที่รอเพียงคำสั่งไฟเขียวจากประธานาธิบดีบารัคโอบามา เท่านั้นก็จะสามารถโจมตีซีเรียได้ทันที ขณะที่ผู้ช่วยในทำเนียบขาวยืนยันว่ายังไม่มีการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย
วันพุธที่ผ่านมา(28) ผู้แทนจากอังกฤษ, จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซียและสหรัฐฯ ซึ่งเป็น 5 สมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เริ่มหารือถึงร่างมติที่อังกฤษเป็นผู้เสนอมา อันจะเป็นการเปิดทางให้นานาชาตินำกำลังทหารเข้าสั่งสอนรัฐบาลอัสซาดได้อย่างชอบธรรม
อังกฤษนั้นต้องการมติเห็นชอบจากยูเอ็นก่อน เพื่อจะสามารถใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นในการปกป้องพลเรือน ซึ่งอาจหมายถึงปฏิบัติการทางทหารด้วย ทว่าข้อเสนอนี้ถูกต่อต้านอย่างดุเดือดโดยรัสเซียซึ่งมองว่าการทำเช่นนั้นจะเท่ากับยูเอ็นสนับสนุนให้ตะวันตกใช้กำลังโค่นล้มอัสซาด
รัสเซียขอให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ รอให้คณะผู้ตรวจสอบอาวุธเคมีของยูเอ็นปฏิบัติภารกิจในซีเรียเสร็จสิ้นเสียก่อนจึงค่อยตัดสินใจดำเนินการใดๆ ขณะที่ บันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ บอกเมื่อวันพุธ(28)ว่าการทำงานของคณะผู้ตรวจสอบคงใช้เวลาอีกราว 4 วันจึงจะแล้วเสร็จ
ด้านออสเตรเลียซึ่งจะทำหน้าที่ประธานการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้(1) ประกาศสนับสนุนให้นานาชาติผนึกกำลังตอบโต้เหตุสังหารหมู่ประชาชนซีเรียแม้จะไม่มีมติจากคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นมาสนับสนุนก็ตาม โดย บ็อบ คาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียแถลงเมื่อวันพุธ(28)ว่า “ทางเลือกที่เราและทุกๆฝ่ายสนับสนุนก็คือ ใช้มาตรการตอบโต้ภายใต้คำสั่งของยูเอ็นแต่หากเป็นเช่นนั้นไม่ได้การกระทำที่โหดร้ายของรัฐบาลซีเรียซึ่งนำอาวุธเคมีออกมาเข่นฆ่าประชาชนหรือการใช้อาวุธเคมีไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดๆก็ถือเป็นเหตุอันสมควรให้นานาชาติตอบโต้ได้”
คาร์ ระบุด้วยว่า วิกฤตการณ์ซีเรียทำให้ทุกฝ่ายได้เห็นถึงปัญหายุ่งยากจากการใช้สิทธิ์ “วีโต” โดยสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ซึ่งถือว่าเป็น “ช่องโหว่” ในกระบวนการปกครองระหว่างประเทศโดยมีนัยยะถึงจีนและรัสเซียซึ่งเคยใช้สิทธินี้ขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นประกาศมติลงโทษซีเรียมาแล้วถึง 3 ครั้ง
ด้านรัฐบาลซีเรียเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย และออกมาประกาศกร้าวว่า พร้อมทำสงครามปกป้องตนเอง โดย วาลิด มูอัลเลม รัฐมนตรีต่างประเทศซีเรียได้แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอังคาร(27)ว่า ดามัสกัสมีอยู่2 ทางเลือกคือ ยอมจำนน หรือปกป้องตนเองด้วยวิถีทางต่างๆ“และทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ เราจะปกป้องตนเอง”
มูอัลเลม ยังคุยโตอีกด้วยว่าซีเรียมีแสนยานุภาพพอที่จะสร้างความประหลาดใจแก่โลกทั้งใบและเตือนให้ตะวันตกจงระวังการนำทหารเข้ารุกรานซีเรียเพื่อรับใช้ประโยชน์ของอิสราเอลและอัลกออิดะห์
ล่าสุดมีรายงานออกมาว่า กองกำลังของประธานาธิบดีบาชาร์อัล-อัสซาด เริ่มอพยพบุคลากรออกจากศูนย์บัญชาการทางทหารและความมั่นคงซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงดามัสกัสแล้วตั้งแต่วันพุธ(28) เพื่อรับมือกับการโจมตีของชาติตะวันตก โดยมีการยึดรถบรรทุกขนาดใหญ่หลายคัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะนำมาใช้เคลื่อนย้ายอาวุธหนักไปยังสถานที่อื่นๆ ขณะเดียวกันก็พบเห็นพลเรือนซีเรียกักตุนอาหารและอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย
นักวิเคราะห์เชื่อตะวันโจมตีได้แค่ “เชิงสัญลักษณ์”
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า แผนโจมตีซีเรียของชาติตะวันตกน่าจะเป็นเพียงมาตรการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่กองทัพ, หน่วยข่าวกรอง และสถานที่ที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลแต่จะไม่รุนแรงถึงขั้นโค่นล้มประธานาธิบดี บาชาร์อัล-อัสซาดลงได้
เจฟฟรีย์ ไวท์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวอชิงตันเพื่อการวิเคราะห์นโยบายตะวันออกใกล้ (Washington Institute for Near East Policy) ชี้ว่าเป้าหมายโดยเฉพาะเจาะจงอาจจะเป็นศูนย์บัญชาการในกรุงดามัสกัส, ฐานทัพหรือหน่วยสนับสนุนของกองกำลังติดอาวุธที่ 4 และกองกำลังรีพับลิกันการ์ดซึ่งเป็นสองหน่วยงานหลักที่ปฏิบัติการทิ้งระเบิดโจมตีที่พักอาศัยของพลเรือน
กองกำลังรีพับลิกันการ์ดซึ่งเป็นหน่วยรบที่เพียบพร้อมด้วยอาวุธอันทันสมัยและผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างดีที่สุดของซีเรีย อยู่ภายใต้การบัญชาการของ มาเฮอร์อัล-อัสซาด น้องชายของประธานาธิบดีซีเรียและทำหน้าที่คุ้มกันเมืองหลวงดามัสกัสโดยเฉพาะ
ผู้สันทัดกรณีคาดว่าสหรัฐฯและชาติตะวันตกอาจสั่งยิงขีปนาวุธแบบร่อนจากเรือดำน้ำ, เรือรบหรือแม้กระทั่งเครื่องบินรบที่ประจำการอยู่นอกน่านฟ้าและน่านน้ำของซีเรีย
พล.อ. แวงซองต์ เดสปอร์ตส อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมทหาร เอกอลเดอแกร์(Ecole de Guerre)ของฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า การโจมตีซึ่งจะมีขึ้นคงเป็นเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการสู้รบทางทหารอย่างจริงจัง
“มันคือการตอบโต้เพื่อฟื้นความน่าเชื่อถือของโลกตะวันตก ซีเรียจะข้าม “เส้นแดง” ที่ โอบามา เคยประกาศไว้โดยที่ไม่ถูกตอบโต้เลยไม่ได้ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯเองก็จะเสียชื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอิหร่านเข้ามาเกี่ยวด้วย... แต่การตอบโต้จะเกินขอบเขตไปก็ไม่ได้ เพราะหากประธานาธิบดีอัสซาดเสียชีวิตหรือระบอบซีเรียล่มสลาย เหตุจลาจลและนองเลือดจะยิ่งลุกลามสู่ระดับชาติซึ่งจะถือเป็นความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ไม่ต่างจากกรณีของลิเบีย”
เดสปอร์ตสเห็นด้วยว่า การโจมตีน่าจะเกิดขึ้นในวงจำกัดและพุ่งเป้าไปยังสถานที่ซึ่งมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เช่น สำนักงานรัฐบาล, ศูนย์บัญชาการกองทัพ, ฐานทัพอากาศ หรือแม้แต่ทำเนียบประธานาธิบดี แต่ทั้งนี้ตะวันตกจะต้องมั่นใจแล้วว่าอัสซาด ไม่ได้อยู่ที่นั่น
มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากแหล่งข่าวในรัฐบาลตะวันตกหลายชาติซึ่งบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่ามาตรการตอบโต้ซีเรียจะเป็นไปอย่างจำกัดทั้งในด้านสถานที่และเวลา
อย่างไรก็ดี การโจมตีที่อาจมีขึ้นเร็วๆนี้คงไม่รุนแรงมากพอที่จะบั่นทอนแสนยานุภาพของกองทัพซีเรียหรือช่วยให้กบฏเป็นฝ่ายได้เปรียบขึ้นมาได้ แม้ตะวันตกจะเชื่ออยู่ลึกๆว่าปฏิบัติการครั้งนี้น่าจะก่อความแตกแยกภายในรัฐบาล, กดดันให้ผู้นำระดับสูงแปรพักตร์จากอัสซาดหรือสร้างความฮึกเหิมให้กับฝ่ายกบฎได้บ้างก็ตาม
คริสโตเฟอร์ฮาร์เมอร์ นักวิเคราะห์ด้านยุทธนาวีจากสถาบันเพื่อการศึกษาด้านสงคราม (Institute for the Study of War) ชี้ว่าจรวดโทมาฮอว์กราว 200 ลูกที่ติดตั้งอยู่บนเรือรบของสหรัฐฯ4 ลำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น “เกินพอ” สำหรับปฏิบัติการโจมตีที่รุนแรงในระดับกลางแต่จะไม่สามารถทำลายกองทัพหรือศักยภาพด้านอาวุธเคมีของซีเรียได้ทำได้เพียงขัดขวางปฏิบัติการของทหารซีเรียไว้ชั่วคราวเท่านั้น
“การเลือกโจมตีเป้าหมายในเชิงสัญลักษณ์เพื่อลงโทษ อัสซาดแทบไม่มีผลอะไรเลยในด้านยุทธศาสตร์”
ในขณะที่ชาวโลกเริ่มนับถอยหลังรอดูว่าซีเรียจะเผชิญบทลงโทษอย่างไร และด้วยเจตนารมณ์ที่ชาติตะวันตกประกาศออกมาอย่างชัดแจ้งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าขีปนาวุธคงจะทำลายได้แค่เพียงอาคารเปล่าๆที่ อัสซาดสั่งอพยพคนออกไปล่วงหน้าหลายวันแล้วรวมถึงศูนย์บัญชาการและรันเวย์ที่ก็สามารถซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ได้ไม่ยาก