เอเอฟพี - ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เข้าหารือกับประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ ว่าด้วยความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะส่งทหารเข้าไปประจำการในดินแดนตากาล็อกเพิ่มขึ้น วันนี้ (30)
เฮเกล เดินทางถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ตามหมายกำหนดการเดิม ในขณะที่สถานการณ์ซีเรียกำลังตึงเครียดจากเหตุสังหารหมู่พลเรือนด้วยอาวุธเคมีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยล่าสุดกองเรือรบของสหรัฐพร้อมขีปนาวุธแบบร่อนได้เดินทางเข้าประชิดซีเรีย และจะเปิดฉากโจมตีได้ทันทีที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีคำสั่ง
เฮเกลชี้ว่า เขาและประธานาธิบดีอากีโน ยืนยันถึงความคืบหน้าในการพูดคุย เพื่อเปิดโอกาสให้สหรัฐฯนำกำลังพลเข้าประจำการในฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น หลังจากที่หมู่เกาะแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งฐานทัพใหญ่ๆ ของอเมริกาหลายแห่งในช่วงก่อนปี 1992
รัฐบาลมะนิลาจะอนุญาตให้ทหารอเมริกัน ตลอดจนเครื่องบินรบและเรือรบของสหรัฐฯ ใช้ฟิลิปปินส์เป็นเส้นทางผ่านได้ชั่วคราว ในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ปรับยุทธศาสตร์มาเน้นความสำคัญของภูมิภาคเอเชีย หลังจากที่พัวพันกับสงครามในตะวันออกกลางมานานหลายปี
ถ้อยแถลงในเชิงบวกของเฮเกล เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าการเจรจาความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์น่าจะได้ข้อสรุป ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเดินทางเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้
“ผมได้พูดคุยกับท่านประธานาธิบดี และท่านก็เฝ้ารอคอยที่จะมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง” เฮเกลกล่าว โดยชี้ว่าทำเนียบขาวจะแถลงรายละเอียดเพิ่มเติมภายหลัง
ก่อนหน้านี้ สภาสูงฟิลิปปินส์ได้โหวตคัดค้านการอนุญาตให้สหรัฐฯ ส่งทหารเข้ามาในประเทศ ซึ่งนายใหญ่เพนตากอนก็พยายามที่จะบรรเทากระแสต่อต้านนี้ โดยยืนยันว่า วอชิงตันจะไม่คิดตั้งฐานทัพถาวรบนหมู่เกาะฟิลิปปินส์
“สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการมีฐานทัพถาวรในฟิลิปปินส์ เพราะนั่นจะเป็นการหวนกลับไปสู่แนวคิดแบบสงครามเย็นที่หมดสมัยไปแล้ว” เฮเกลเอ่ยขณะแถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ ณ ทำเนียบมาลากันยัง
ด้าน วอลแตร์ กัซมิน รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่กองทัพสหรัฐฯ จะกลับเข้าไปใช้ฐานทัพที่อ่าวซูบิกทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา หลังจากที่ส่งคืนให้แก่รัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อปี 1992