xs
xsm
sm
md
lg

ย่าน‘ลิตเติลบราซิล’ของปากีสถานมีชีวิตอยู่เพื่อ‘ฟุตบอล’

เผยแพร่:   โดย: อาบูบาการ์ ซิดดิกู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Pakistan's 'Little Brazil' lives for soccer
By Abubakar Siddique
14/08/2013

ย่านสลัม “ละยารี” อันใหญ่โตมหึมาของนครการาจี เป็นชุมชนเขตเมืองใหญ่ที่มีอันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งในปากีสถาน ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้ตนเองจนได้รับการขนานสมญานามว่า “ลิตเติล บราซิล” ด้วยความยอมรับนับถือในการเป็นแหล่งบ่มเพาะนักฟุตบอลชั้นดี ในประเทศซึ่งคริกเก็ตคือกีฬาที่ผู้คนคลั่งไคล้ใหลหลงกันมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เวลานี้ความใฝ่ฝันทะเยอทะยานในด้านการกีฬา ยังกำลังพุ่งเข้าชนโครมอย่างอุบาทว์กับเรื่องการเมืองอีกด้วย ภายหลังเกิดเหตุโจมตีด้วยระเบิดระหว่างการแข่งขันฟุตบอลระดับท้องถิ่นนัดหนึ่ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 11 คน

การาจี – ชาวบ้านของย่านชุมชนเขตเมืองใหญ่ที่มีอันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งในปากีสถาน มีชีวิตอยู่กันด้วยความรักในกีฬาฟุตบอลโดยแท้ ย่านสลัม “ละยารี” (Lyari) อันใหญ่โตมหึมาของนครการาจีแห่งนี้ได้รับสมญานามว่า “ลิตเติล บราซิล” (Little Brazil) ซึ่งเป็นการแสดงความยอมรับนับถือในชื่อเสียงเกียรติคุณของท้องถิ่นว่าอยู่ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางแห่งกีฬาฟุตบอล ภายในประเทศซึ่งคริกเก็ตคือกีฬาที่ผู้คนคลั่งไคล้ใหลหลงกันมากที่สุด

ละยารี ภูมิลำเนาถิ่นฐานของชาวชีดิ (Sheedis) ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นปากีสถานที่มีเชื้อสายแอฟริกัน คือสถานที่บ่มเพาะนักฟุตบอลผู้มีชื่อเสียงเกริกเกียรติที่สุดในประวัติศาสตร์ของปากีสถานหลายต่อหลายคน ทว่าในอีกด้านหนึ่ง ย่านชุมชนแห่งนี้ก็กำลังลือนามมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องของความรุนแรงระหว่างแก๊งอันธพาลที่ก่อศึกกันชนิดเอาถึงตาย, ตลอดจนลัทธิสุดโต่งทางศาสนา, และความยากจนข้นแค้น

ชื่อเสียงเกียรติคุณแต่ละด้านของย่านชุมชนนี้ ได้เกิดประสานงาชนกันเข้าโครมใหญ่ในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อมีผู้ก่อเหตุระเบิดในระหว่างการแข่งขันฟุตบอลระดับท้องถิ่นนัดหนึ่ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 11 ราย ในจำนวนนี้หลายต่อหลายคนเป็นนักกีฬาวัยเยาว์ แล้วยังมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 20 คน ระเบิดได้ตูมตามสำแดงเดชขึ้นมาเพียงไม่นานนักหลังจากนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งจากพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan Peoples Party ใช้อักษรย่อว่า PPP) ทำพิธีมอบถ้วยรางวัลให้แก่ทีมที่เป็นผู้ชนะ

ครั้งหนึ่งในอดีต ละยารีเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่คึกคักจอแจ แต่แล้วการมาถึงของอุตสาหกรรมใหญ่และพวกผู้อพยพภายหลังการก่อตั้งประเทศปากีสถานในปี 1947 ก็ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และโอกาสลู่ทางในด้านเศรษฐกิจของย่านชุมชนแห่งนี้ไปอย่างมหาศาล จากนั้นในย่านชุมชนซึ่งขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดปลอดภัยและแทบไม่มีสถานพยาบาลหรือโรงเรียนเอาเลยแห่งนี้ กีฬาฟุตบอลก็ได้ผงาดขึ้นเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคั่งร่ำรวยและชื่อเสียงเกียรติยศสำหรับเยาวชนในท้องถิ่น

“ฟุตบอลเป็นสิ่งที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงลิ่วในย่านชุมชนแห่งนี้ ฟุตบอลเป็นที่นิยมชื่นชอบกันมากจริงๆ และนักฟุตบอลก็เป็นที่รักใคร่ยกย่องมีหน้ามีตา” ชาฮิด เราะห์มาน (Shahid Rahman) ผู้นำของชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเคยเป็นดารานักฟุตบอลทีมชาติมาก่อน กล่าวแจกแจง “ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยจะมีสนามที่ถูกต้องเหมาะสมอะไรเลย แต่คุณก็จะเห็นเด็กๆ กำลังเล่นฟุตบอลกันอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง การแข่งขัน (ฟุตบอล) ก็มีอยู่ตลอดเวลา บางนัดจัดขึ้นตอนกลางวัน บางนัดก็จัดกันตอนกลางคืน”

**ถูกลงโทษเพราะจุดยืนทางการเมือง**

เราะห์มานบอกว่า ผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในย่านละยารีเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติของปากีสถานเป็นจำนวนมาก เขาประมาณการว่าทีมชาติชุดเล็กปัจจุบันของประเทศ นักกีฬาราวครึ่งหนึ่งทีเดียวมาจากย่านชุมชนของเขา อย่างไรก็ตาม ตัวเราะห์มานเองซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่มีชื่อว่า “คณะกรรมการสันติภาพละยารี” (Layari Aman Committee) ด้วย กล่าวยอมรับว่าย่านชุมชนของเขากำลังถูกลงโทษจากความใหลหลงคลั่งไคล้ประการที่สองของท้องถิ่นนี้ นั่นก็คือ ความชื่นชอบสนใจในเรื่องการเมือง

อัคเตอร์ บาโลช (Akhter Baloch) บล็อกเกอร์และนักรณรงค์เรียกร้องสิทธิมนุษยชน ก็มีความเห็นเฉกเช่นเดียวกับเราะห์มาน เมื่อย้อนทบทวนเกี่ยวกับตัวเขาเองที่เป็นชาวชุมชนละยารีมานานปี เขากล่าวว่าย่านชุมชนแห่งนี้ถูกเรียกค่าชดใช้ในราคาแพงลิ่วทีเดียวจากการที่ได้กลายเป็นฐานที่มั่นอันมั่นคงของพรรคพีพีพีมายาวนาน พรรคการเมืองดังกล่าวต้องประสบความพ่ายแพ้และถูกขับออกจากการเป็นพรรครัฐบาลปกครองปากีสถานในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ กระนั้น พีพีพีก็ยังคงมีอำนาจอยู่ในแคว้นสินธุ์ (Sindh province) ซึ่งการาจีคือเมืองหลวงของแคว้นดังกล่าวนี้

บาโลช บอกว่าย่านละยารีสร้างชื่อให้แก่ตนเองด้วยการแสดงท่าทีคัดค้านอย่างแรงกล้าต่อระบอบปกครองเผด็จการทหารทั้ง 3 ชุดของปากีสถานซึ่งขึ้นครองอำนาจนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา “ผมคิดว่าย่านละยารีกำลังถูกลงโทษ ในเหตุการณ์ที่ดูเหมือนการก่อเหตุที่มีการวางแผนสมคบคิดกันเอาไว้เป็นอย่างดี โดยเป็นผลจากหนทางเลือกทางการเมืองของย่านชุมชนแห่งนี้” เขากล่าว “ย่านละยารีนั้นเคยเป็นหัวใจทางการเมืองของนครการาจี เวลานี้ย่านนี้กำลังถูกใส่ร้ายทำลายชื่อเสียง ช่วงหลังๆ มานี้ชื่อของละยารีถูกจับเอาไปควบคู่กับเรื่องศึกสงครามระหว่างแก๊งอันธพาล, การฆาตกรรม, และการโจรกรรมชิงทรัพย์ไปเสียแล้ว”

**ชีพจรของนครการาจี**

ประชากรของย่านละยารี เปรียบเสมือนกำแพงกระเบื้องโมเสคสีสันสดใสที่ประกอบขึ้นจากชิ้นโมเสคสีต่างๆ ซึ่งก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยที่ชาวบาโลจิ (Balochis) จะมีจำนวนมากมายท่วมท้น และก็มีคนชาติพันธุ์อื่นๆ รวมทั้งชาวชีดิ พวกนักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ชาวชีดิ เป็นลูกหลานว่านเครือของพวกทาสชาวแอฟริกันผู้ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแถบชายฝั่งท้องถิ่นของปากีสถาน ในระยะเวลาหลายร้อยปีแห่งการติดต่อค้าขายทางทะเลระหว่างเมืองท่าต่างๆ ในแถบมหาสมุทรอินเดีย

จากชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า ละยารีได้กลายเป็นเบ้าหลอมแห่งใหญ่ เนื่องจากตำแหน่งงานและโอกาสทางธุรกิจของนครการาจีได้ดึงดูดผู้คนจากทั่วทั้งปากีสถานให้เดินทางมายังนครแห่งนี้และพำนักอาศัยกันในย่านนี้ “โดยพื้นฐานแล้วชาวบาโลจิเป็นพวกที่มีจำนวนมากมายท่วมท้นทีเดียวในย่านนี้” บาโลช ซึ่งนามสกุลของเขาก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นชาวบาโลจิเช่นกัน กล่าวแจกแจง “เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาก็ได้พัฒนาหล่อหลอมประเพณีและขนบธรรมเนียมคล้ายๆ กันขึ้นมา”

ละยารีเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของการาจี และเมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ 20 ก็ได้ถูกถือว่าเป็นย่านอาศัยของชาวมุสลิมในนครซึ่งเวลานั้นมีประชากรหลายหลากทั้งชาวฮินดู, ชาวคริสต์, และผู้นับถือศาสนาโซโรแอสเตอร์ (Zoroastrians) เราะห์มาน ผู้นำชุมชนละยารีในปัจจุบัน บอกว่า ย่านชุมชนของเขาคือชีพจรของนครแห่งนี้ที่ปัจจุบันมีประชากรจำนวน 20 ล้านคน “ละยารีให้กำเนิดนครการาจีขึ้นมา และเป็นผู้ที่ทำให้นครแห่งเจริญรุ่งเรือง” เขากล่าวย้ำ

รายงานนี้มาจากเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี ( Radio Free Europe/Radio Liberty หรือ RFE/RL) ทั้งนี้ เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น