xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” ประกาศแผน 4 ขั้นเพิ่มความโปร่งใสใน “โปรแกรมสอดแนมข้อมูล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แถลงแผนการ 4 ขั้นเพื่อปฏิรูปโปรแกรมสอดแนมข้อมูลให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้น วานนี้(9)
รอยเตอร์ – ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ประกาศแผนการ 4 ขั้นที่จะช่วยจำกัดขอบเขตของโปรแกรมสอดแนมที่รัฐบาลใช้อยู่ โดยยืนยันว่าสหรัฐฯ สามารถเป็นชาติที่มีความ “โปร่งใส” มากขึ้นได้

ระหว่างเปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบขาววานนี้(9) โอบามาชี้ว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างความมั่นคงกับเสรีภาพพลเมือง และรับปากจะปรับปรุงข้อบกพร่องในระบบสอดแนมข้อมูล เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของชาวอเมริกัน

“แค่ประธานาธิบดีอย่างผมมีความเชื่อมั่นในโปรแกรมสอดแนมเหล่านี้ยังไม่พอ ชาวอเมริกันทุกคนก็ต้องมีความเชื่อมั่นด้วย” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวก่อนจะเดินทางไปพักผ่อนช่วงฤดูร้อนที่เกาะมาร์ธาส์วินยาร์ด พร้อมแสดงความมั่นใจว่า โปรแกรมสอดแนมไม่เคยถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิพลเมือง

ประกาศของ โอบามา นับว่าเป็นชัยชนะเล็กๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชมการกระทำของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ซึ่งออกมาเผยให้โลกรู้ว่า พลเมืองและองค์กรต่างประเทศหลายแห่งกำลังตกเป็นเหยื่อสอดแนมของหน่วยข่าวกรองอเมริกันโดยไม่รู้ตัว

สหรัฐฯพยายามทุกวิถีทางที่จะนำตัว สโนว์เดน กลับมาดำเนินคดีฐานจารกรรมข้อมูล แต่ก็ต้องผิดหวังเมื่อรัสเซียอนุญาตให้ สโนว์เดน ลี้ภัยในประเทศได้ชั่วคราว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

“ผมไม่คิดว่าคุณสโนว์เดนเป็นคนรักชาติ” โอบามากล่าว ซึ่งเป็นการบอกอ้อมๆว่า แผนการที่เขาเสนอไม่ได้หมายความว่า สโนว์เดน ทำในสิ่งที่ถูกต้อง

สำหรับแผนการทั้ง 4 ขั้นที่ โอบามา นำเสนอ ได้แก่

1) ประสานงานกับสภาคองเกรสเพื่อดำเนินการปฏิรูปรัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติ (Patriot Act) มาตรา 215 ที่อนุมัติให้หน่วยข่าวกรองรวบรวมข้อมูลเมตะดาตา เช่น ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของพลเมือง เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างโปร่งใสและรัดกุมยิ่งขึ้น โอบามา ยืนยันด้วยว่า รัฐบาลไม่ต้องการล่วงรู้ชีวิตส่วนตัวของชาวอเมริกันทั่วไป

2) ประสานงานกับสภาคองเกรสเพื่อปฏิรูปการทำงานของศาลตรวจตราข่าวกรองต่างประเทศ (FISA) ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาคำร้องจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆที่ต้องการขอสอดแนมบุคคล โดยจะให้มีผู้แทนฝ่ายพลเรือนเข้ามาร่วมพิจารณาคำร้องด้วย จากปัจจุบันที่ FISA สามารถตัดสินใจออกคำสั่งสอดแนมได้โดยไม่ต้องขอความเห็นจากฝ่ายใด นอกจากทนายของกระทรวงยุติธรรมเท่านั้น

3) เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมสอดแนมของเอ็นเอสเอให้สาธารณชนรับทราบเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่น หลังจากที่ถูก สโนว์เดน นำข้อมูลลับออกมาแฉอย่างต่อเนื่อง

4) แต่งตั้งคณะทำงานระดับสูงซึ่งมาจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการสอดแนมของรัฐบาล

จีจี ซอห์น ประธานกลุ่ม Public Knowledge ชี้ว่า แผนการที่ โอบามา เสนอถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของสภาคองเกรสด้วย

ด้านสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ก็ออกมาชื่นชมว่ามาตรการของประธานาธิบดี “เป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นและเหมาะสม” แต่ แอนโธนี โรเมโร ผู้อำนวยการ ACLU ชี้ว่า องค์กรของเขาอยากให้วอชิงตัน “ล้มเลิก” โครงการสอดแนมไปโดยสิ้นเชิงมากกว่า เพื่อรับรองว่าชาวอเมริกันทุกคนจะได้รับการปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น