เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์-ชาวซิมบับเวต่างออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภา โดยเป็นที่คาดกันว่า จำนวนผู้ออกไปลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเป็นจำนวนมาก ขณะที่โรเบิร์ต มูกาเบ ผู้นำที่ครองอำนาจมายาวนานมากกว่า 30 ปี ประกาศในวันอังคาร (30) ว่า พร้อมสละอำนาจหากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
ท่าทีล่าสุดของมูกาเบ วัย 89 ปี ที่ครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีของซิมบับเว มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 มีขึ้น หลังจากที่พรรคการเมือง “มูฟว์เมนท์ ฟอร์ เดโมเครติก เชนจ์” หรือ “เอ็มดีซี” ของนายกรัฐมนตรีมอร์แกน สวานกิไร วัย 61 ปีที่เป็นคู่แข่งสำคัญทางการเมือง ออกโรงกล่าวหาว่า พรรค “Zimbabwe African National Union – Patriotic Front” ของมูกาเบว่ามีส่วนพัวพันกับการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งปลอม ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่พรรคของมูกาเบ ยืนกรานปฏิเสธ
ในส่วนของบรรยากาศของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา จนถึงบรรยากาศในวันเลือกตั้งนั้นมีรายงานว่าโดยทั่วไปอยู่ในความสงบเรียบร้อย โดยยังไม่มีรายงานเหตุรุนแรง หรือการขุ่มขู่คุกคามทางการเมืองใดๆ ตรงข้ามกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่แล้วเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ถูกบดบังไปด้วยปัญหานานัปการ รวมถึงเหตุรุนแรง
รายงานข่าวระบุว่า การเลือกตั้งของซิมบับเวในครั้งนี้ จะเปิดให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนได้ตั้งแต่เวลา 07.00 น. จนถึงเวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของซิมบับเว ขณะที่ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคาดว่าจะสามารถประกาศได้ภายใน 5 วัน
ก่อนถึงวันลงคะแนน มีรายงานว่า บรรดาสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรีในกรุงฮาราเร เมืองหลวงของประเทศในคืนวันอังคาร (30) ยังคงเต็มไปด้วยผู้คน หลังจากที่ทางการซิมบับเวประกาศให้วันพุธ (31) ที่เป็นวันเลือกตั้งนั้น เป็นวันหยุดพิเศษเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนออกมาใช้สิทธิ์
อย่างไรก็ดี มีรายงานการพบความผิดปกติเกี่ยวกับบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ หลังมีการตรวจพบรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นจำนวนหลายพันคนถูกรวมอยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิ์ด้วย เช่นเดียวกับปัญหาการซ้ำซ้อนของรายชื่อ
การเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะมีผู้สมัครอีกถึง 3 รายร่วมลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย แต่บรรดานักวิเคราะห์ทางการเมืองต่างลงความเห็นว่าการเลือกตั้งหนนี้น่าจะเป็นการขับเคี่ยวกันเฉพาะ “2 คู่กัดทางการเมือง” คือ ประธานาธิบดีมูกาเบ และนายกรัฐมนตรีสวานกิไรเท่านั้นโดยทั้งสองฝ่ายต่างต้องจำใจ“แชร์อำนาจ” ในการปกครองร่วมกันนับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา หลังการเลือกตั้งในปี 2008 จบลงด้วยเหตุวุ่นวายและความขัดแย้งจนประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคต้องยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย
ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่า ชาวซิมบับเวที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านอย่างแอฟริกาใต้ต่างทยอยเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนกว่า 6.4 ล้านคน