อินนดิเพนเดนต์ - เทนได บิตี รัฐมนตรีคลังซิมบับเว ยอมรับเมื่อวันพุธ (30) ว่าในสัปดาห์ที่แล้ว ประเทศของเขาเหลือเงินติดบัญชีสาธารณะแค่ 217 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,500บาท) หลังจากจ่ายเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ก่อนที่หนึ่งวันหลังจากนั้นจะมีรายได้เข้ามา 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รอดพ้นภาวะถังแตกอย่างหวุดหวิด
นายบิตี บอกถึงสาเหตุที่ต้องเผยเรื่องนี้กับสื่อมวลชน ก็เพื่อย้ำให้ทุกฝ่ายทราบว่าสถานะการเงินของรัฐบาลในตอนนี้อยู่ในขั้นอัมพาต และดูเหมือนว่าสมดุลบัญชีธนาคารของบุคคลมั่งมีทั่วไปยังดูดีว่าบัญชีของรัฐเสียอีก หลังทางการได้จ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
รัฐมนตรีคลังรายนี้ยอมรับว่า สถานะทางการเงินดำดิ่งลงสู่พื้นจากนโยบายทางเศรษฐกิจอันเลวร้ายตลอดระยะเวลา 32 ปีแห่งการปกครองของอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการ โรเบิร์ต มูกาเบ พร้อมสารภาพด้วยว่าสถานะทางการคลังของซิมบับเวยากจนถึงขั้นไม่มีเงินมากพอที่จะจัดลงประชามติรัฐธรรมนูญและจัดศึกเลือกตั้งตามแผนที่แต่เดิมกำหนดไว้ในช่วงปลายปีนี้
เมื่อราวหนึ่งทศวรรษก่อน นายมูกาเบ เริ่มต้นนโยบายนโยบายปฏิรูปที่ดิน โดยยึดที่ดินทำกินของชาวซิมบับเวผิวขาว ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของที่ดินทั้งประเทศ มาจัดสรรใหม่ให้แก่ชาวซิมบับเวผิวดำ เพื่อเรียกความศรัทธาและความนิยมของประชาชน ความเคลื่อนไหวที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างยิ่ง
เหตุรุกที่ดินเริ่มรุนแรงขึ้นในปี 2000 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และเกษตรกรผิวขาวกว่า 4,000 ครอบครัวต้องอพยพออกจากที่ดิน และอีกจำนวนมากต้องยุติการเพาะปลูก นโยบายปฏิรูปที่ดินนี้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง
จากนั้น ประเทศตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีมาตรการเพื่อต่อต้านและกดดันรัฐบาลของนายมูกาเบตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ในนั้นประกอบด้วยการเพิกถอนสมาชิกภาพของซิมบับเวในเครือจักรภพชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด
สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตะวันตกกับมูกาเบ เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี 2008 เป็นการเลือกตั้งสกปรกและทำให้เกิดเหตุนองเลือด
เหล่านี้เปลี่ยนให้ซิมบับเว กลายเป็นหนึ่งในชาติยากจนที่สุดในแอฟริกา แม้ว่าก่อนหน้านี้รู้จักกันในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำอันอุดมสมบูรณ์ของทวีป ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่ามีชาวซิมบับเว ถึง 3 ใน 4 มีเงินใช้จ่ายไม่ถึงวันละ45 บาท ขณะที่แรงงานกว่าครึ่งก็ไม่มีงานทำ
ในช่วงปลายยุคทศวรรษ 2000 ซิบบับเว เริ่มพิมพ์เงินออกมาในความพยายามปรับปรุงสถานะทางการเงิน แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานถึง 230 ล้านเปอร์เซนต์ ทำสกุลเงินของพวกเขาไร้ค่า จนตอนนี้ต้องหันมาใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแทน