ปัตตานี - ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสตรี และเด็กชาวฮิงญาผู้หลบหนีเข้าเมือง พร้อมช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรม”
วันนี้ (24 ม.ค.) นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ พร้อมคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสตรี และเด็กชาวโรฮิงญา ผู้หลบหนีเข้าเมือง ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี จ. ปัตตานี โดยมี ว่าที่ ร.ต.สมโภชน์ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้การต้อนรับ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เปิดเผยว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่าที่พูดภาษาจิตตะกิง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงญา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่น เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ส่วนใหญ่ชาวโรฮิงญาจะอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอะรากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนของประเทศบังกลาเทศ
ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธสิทธิในสัญชาติภายใต้กฎหมายพลเมืองพม่าปี 2525 ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในรัฐระไข่ตอนเหนือ โดยต้องขออนุญาต และชำระค่าธรรมเนียมเพื่อออกจากหมู่บ้าน นับเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ และการค้าขาย อีกทั้งถูกบังคับให้เป็นแรงงาน และถูกจำกัดสิทธิพลเมืองอีกหลายประการ ได้แก่ ไม่มีอิสระในการเดินทาง การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดิน บังคับย้ายถิ่น จำกัดสิทธิการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัย และอาหารไม่เพียงพอ รวมถึงข้อจำกัดในการสมรส ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายพันคนอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้านทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมซับซ้อนขึ้น
นายวิเชียรกล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลของสำนักงานป้องกันและสาธารณภัยจังหวัดระนอง ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเริ่มอพยพเข้าประเทศไทยทางด้านจังหวัดระนองครั้งแรกเมื่อปี 2548 แต่ยังไม่มีการบันทึกสถิติไว้ ต่อมา ในปี 2549 มีการจับกุมได้จำนวน 1,225 คน ปี 2550 จับกุมได้จำนวน 2,763 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 คิดเป็น 125 เปอร์เซ็นต์ และล่าสุด ปี 2551 จับกุมได้จำนวน 4,886 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2550 คิดเป็น 777 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังไม่รวมที่เล็ดลอดการจับกุมไปได้ และข้อมูลของจังหวัดอื่นๆ ในจังหวัดแถบชายฝั่งอันดามันที่มีการจับกุมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
นายวิเชียรกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ กระทรวงฯ พร้อมคณะผู้บริหารได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสตรี และเด็กชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้าประเทศ ณ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี และจังหวัดสงขลา เพื่อรับฟังข้อมูลสรุปสถานการณ์ในการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 1.บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา วันที่ 11 ม.ค.56 ได้รับความช่วยเหลือตรีและเด็กชาวโรฮิงญา จำนวน 105 คน วันที่ 13 ม.ค.56 จำนวน 31 คน และวันที่ 15 ม.ค.56 จำนวน 22 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 158 คน และ 2.บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดปัตตานี วันที่ 16 ม.ค.56 ได้รับการส่งต่อชาวโรฮิงญาจากบ้านเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา จำนวน 22 คน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมเดินทางให้ความช่วยเหลือ และคุ้มครองสวัสดิภาพชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรม นายวิเชียรกล่าว