เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ -คณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติการแก้ไขกฎหมายเพิ่มการจ่ายค่าชดเชยแก่เกษตรกร ที่ถูกยึดที่ดินในชนบท หวังลดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร จากการถูกยึดที่ดินทำกิน ซึ่งกำลังระบาดหนักบนแดนมังกรขณะนี้
หนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของทางการจีนรายงานเมื่อวันศุกร์ (30 พ.ย.) ว่า ภายใต้กฎหมายที่ผ่านการแก้ไขนี้กำหนดให้มีการจ่ายเงินชดเชยเพิ่มอีก 10 เท่า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า ยังคงไม่เพียงพอในการปลดชนวนปัญหา พร้อมทั้งระบุถึงข้อวิตกกังวล อาทิ การรับประกันสิทธิของเกษตกร
คณะรัฐมนตรีจีนผ่านการแก้ไขกฎหมายเมื่อวันพุธ ( 28 พ.ย.) โดยระบุในแถลงการณ์ว่า “ ที่ดินในชนบทถูกยึดจนมากเกินไปและรวดเร็วเกินไป” อันเป็นแนวโน้ม ซึ่ง “กระทบต่อเสถียรภาพในชนบท”
การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ
พรรคคอมมิวนิสต์จีนเกรงว่าจะเกิดความวุ่นวายในสังคมจนยากจะควบคุมจากปัญหาการยึดที่ดิน ขณะที่สถาบันสังคมศาสตร์ของจีน ( CASS) ระบุเมื่อปีที่แล้วว่า ในจำนวนการชุมนุมประท้วง ซึ่งเกิดขึ้น 180,000 ครั้งเมื่อปี 2553 นั้น ส่วนใหญ่เป็นการประท้วงการถูกยึดที่ดินทำกิน
กรณีโด่งดังที่สุดเกิดขึ้นที่หมู่บ้านอู๋ข่าน ในมณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) เมื่อปีที่แล้ว โดยทางการได้นำที่ดินทำการเกษตรไปขาย โดยมิได้แจ้งให้เกษตกรทราบ
ตามกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่อาจจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวนสูงถึง 30 เท่าของมูลค่าผลผลิตของที่ดิน แต่ในทางปฏิบัตินั้นเจ้าหน้าที่จ่ายให้ชาวบ้านน้อยกว่า แต่นำไปขายให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอัตรา ที่สูงอย่างมาก
นายเหลียว ฮงเล่อ นักวิจัยประจำกระทรวงเกษตรของจีนกล่าวกับไชน่าบิสซิเนสนิวส์เมื่อวันศุกร์ (30 พ.ย.) ว่า มูลค่าการขายที่ดินโดยเฉลี่ยพุ่งสูงถึงร้อยละ 360 ในช่วงปี 2538 - 2548 แต่จำนวนเงิน ที่จ่ายเป็นค่าชดเชยเพิ่มเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น
ด้านนายจัง เจี้ยนสิง ผู้นำการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านอู๋ข่านระบุว่า แม้กฎหมาย ที่แก้ไขใหม่นี้อาจมีประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส มิเช่นนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย
นอกจากนั้น นายอวี้ เจี้ยนหลง ผู้เชี่ยวชาญของ CASS ชี้ว่า เกษตรกรต้องได้รับการคุ้มครองในด้านสิทธิในการทำข้อตกลงค่าชดเชยที่ดิน โดยมีสิทธิ์ต่อรอง หรือปฏิเสธการยึดที่ดิน และทางการไม่สามารถนำเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยมาบังคับให้มีการยึดที่ดินได้อีกด้วย