xs
xsm
sm
md
lg

การเดินทางอันโดดเดี่ยวของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ แวน บูเรน

การเดินทางอันโดดเดี่ยวของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (ตอนแรก)
โดย ปีเตอร์ แวน บูเรน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The lonely flight of Edward Snowden
By Peter Van Buren
03/07/2013

เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นั้นไม่เหมือนกับ “ผู้เป่านกหวีด” (ผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในหน่วยงานของตนเอง) คนอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งบางทีก็ไร้เดียงสาถึงกับคาดหมายว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะกระทำการต่างๆ โดยยึดมั่นตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งจะกลับหลังหันเลี้ยวออกมาจากเส้นทางอันมุ่งสู่ความเป็นเผด็จการรวบอำนาจและคืนสู่เส้นทางที่ถูกต้องชอบธรรม แต่สำหรับ “จอมแฉ” ผู้นี้แล้ว เขาทราบดีว่ากลไกความมั่นคงอันใหญ่โตมโหฬารของอเมริกาจะหมุนคว้างพุ่งเข้ามาเล่นงานเขาอย่างสุดกำลัง ในเวลาเดียวกับที่วอชิงตันพยายามที่จะวาดภาพทาสีให้เขาเป็นเพียงพวกอยากดังมุ่งแสวงหาชื่อเสียงส่วนตัว แต่การกระทำเพื่อเปิดเผยให้เห็นสัจจะความจริงของเขา ซึ่งต้องเสียสละชีวิตอันเป็นปกติสุขและกลายเป็นผู้หลบหนีลี้ภัยนั้น กลับบ่งบอกให้เห็นถึงคุณสมบัติของคนที่เป็นวีรบุรุษ มิใช่คนขายชาติ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในฐานะที่ผมก็เป็น “ผู้เป่านกหวีด” (whistleblower ผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในหน่วยงานของตนเอง) คนหนึ่ง ซึ่งได้ออกมาแฉโพยเกี่ยวกับความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ผมขบคิดถึงเรื่องราวของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เป็นอย่างมากทีเดียว มันช่วยไม่ได้หรอกที่ผมไม่อาจหักห้ามใจไม่ให้นึกถึงเรื่องของเขา ไมตรีจิตมิตรภาพที่ผมมีอยู่กับผู้เป่านกหวีดคนอื่นๆ เป็นต้นว่า ทอม เดร็ก (Tom Drake), เจสสลีน แรดเดค (Jesslyn Radack), แดเนียล เอลสเบิร์ก (Daniel Ellsberg), และ จอห์น คิเรียคู (John Kiriakou) ทำให้ผมมีความเชื่อว่า ไม่ว่าพวกเราจะแตกต่างกันสักเพียงไหนในฐานะของปัจเจกบุคคล แต่การกระทำของพวกเราก็ทำให้พวกเรามีสิ่งที่ร่วมกันอย่างมากมาย ผมสงสัยว่านี่น่าจะรวมถึงสโนว์เดนด้วย ถึงแม้ผมยังไม่เคยมีการติดต่อใดๆ กับเขาแม้แต่นิดเดียว

กระนั้นก็ตาม ในขณะที่เขาออกเดินทางในเที่ยวบินอันยาวไกลจากฮ่องกงมุ่งไปสู่อนาคตอันไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น (ข้อเขียนนี้ ปีเตอร์ แวน บูเรน เขียนขึ้น ขณะที่สโนว์เดนขึ้นเครื่องบินโดยสารออกจากฮ่องกง มุ่งหน้าไปยังสนามบินในกรุงมอสโก แต่จุดหมายปลายทางต่อจากนั้นดูเหมือนยังไม่เป็นที่ชัดเจน –ผู้แปล) มันช่วยไม่ได้ที่ผมบังเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เขากำลังขบคิดถึงบางสิ่งบางอย่างที่ผมก็เคยคิดมาก่อน หรือกระทั่งรู้สึกว่าผมก็คือเขา ในทีนี้มีอยู่ 5 เรื่องที่ผมจินตนาการเอาไว้คงจะอยู่ในความคิดจิตใจของเขา (เรื่องเหล่านี้จะต้องอยู่ในใจของผมแน่นอน ถ้าหากว่าผมเป็นเขา) ในขณะที่เครื่องบินทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

**ผมรู้สึกหวาดกลัว**

ผู้เป่านกหวีดนั้นลงมือทำการเปิดโปงแฉโพยก็ด้วยความสำนึกถึงมโนธรรมความถูกต้อง เพราะพวกเขาเผชิญกับบางสิ่งบางอย่างที่แสนจะสยดสยอง, แสนจะขัดแย้งละเมิดรัฐธรรมนูญ, แสนจะสิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์, แสนจะฉ้อฉลคดโกง, หรือแสนจะบริหารจัดการอย่างผิดพลาด จนกระทั่งความรู้สึกที่ว่าจำเป็นที่จะต้องพูดต้องเปิดโปงออกมาของพวกเขากลายเป็นฝ่ายชนะ มันจะต้องมีการคิดคำนวณครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องของผลดีผลเสีย ประโยชน์ที่จะได้และความเจ็บปวดที่จะต้องแบกรับ (ผลประโยชน์และความเจ็บปวดสำหรับคนอื่นๆ ถ้าหากไม่ใช่สำหรับตนเอง) แต่อย่างแรกๆ เลยที่ขบคิดนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะเปิดโปง ข้อมูลข่าวสารที่คุณรู้สึกว่าจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องแฉออกมาให้สาธารณชนรับรู้ ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสภาวการณ์ของตัวคุณเอง

ในกรณีของผมนั้น ผมโง่เขลามากไม่ทราบเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทันทีที่ผม “เป่านกหวีด” ผมไม่ได้เคยคาดหมายเอาไว้เลยว่ากระทรวงการต่างประเทศจะหันมาเล่นงานโจมตีผม ทอม เดร็ก ซึ่งเป็นผู้เป่านกหวีดเปิดโปงเรื่องไม่ถูกต้องในสำนักข่าวความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency หรือ NSA) ก็ทำนองเดียวกัน ไม่ได้เคยคาดคิดเตรียมตัวรับมือมาก่อนเลย ในตอนต้นๆ เขาเชื่อด้วยซ้ำไปว่า ตอนที่สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (Federal Bureau of Investigation หรือ FBI) เข้ามาสอบปากคำเขาทีแรกสุดนั้น คนเหล่านั้นยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับตัวเขา มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นอีกเกี่ยวกับพฤติการณ์อันเป็นอาชญากรรมต่างๆ ในสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติที่เขาได้เปิดโปงออกมา ทว่าในจุดนี้สโนว์เดนมีความแตกต่างออกไป เขาได้เห็นตัวอย่างของ แบรดลีย์ แมนนิ่ง (Bradley Manning) ตลอดจนคนอื่นๆ จนสามารถสรุปบทเรียนขึ้นมา เขามีความกระจ่างชัดและไม่เคยสงสัยเลยว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะต้องทุ่มเทจนสุดกำลังเพื่อหมายขยี้บดทับใส่ตัวเขาให้แหลกลาญ

เขาทราบดีว่าเขาควรกลัวอะไร เขาทราบดีว่าคณะรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความมุ่งมั่นกระเหี้ยนกระหือรือที่จะทำให้ผู้เป่านกหวีดไม่ว่าคนไหนก็ตามทีจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้นว่าอาจจะถูกนำตัวขึ้นฟ้องร้องกล่าวโทษว่าละเมิดรัฐบัญญัติการจารกรรม (Espionage Act) ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตทีเดียว เขายังทราบดีว่ารัฐบาลของเขาได้ทำอะไรไปบ้างนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9 กันยายน 2001 (9/11) โดยที่ไม่ได้มีความรู้สึกสำนักผิดเอาเลย ไม่ว่าจะเป็นการทรมานและการล่วงละเมิดผู้คนต่างๆ เพื่อให้สยบยินยอม, การบังคับกักขังควบคุมผู้ที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นศัตรูนานเป็นปีๆ โดยไม่มีกำหนดว่าจะปล่อยตัวเมื่อใด, การสร้างคุกขังเดี่ยวขึ้นมาสำหรับใช้กักกันพวกผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายและกระทั่งใช้ขังผู้เป่านกหวีดในช่วงก่อนการพิจารณาคดี รัฐบาลของเขายังได้ฆ่าชาวอเมริกันโดยไม่ผ่านวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย, มีการใช้วิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบพิเศษซึ่งพวกสายลับอเมริกันจะทำการลักพาผู้ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูและจากนั้นก็จัดส่งคนเหล่านั้นเข้าไปยังสถานที่กักกันอันหฤโหดแห่งต่างๆ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาภายหลังเหตุการณ์ 9/11

ถ้าหากคุณเป็นผู้เป่านกหวีด ไม่ช้าก็เร็ว คุณจะต้องเกิดความรู้สึกหวาดผวา ก็คุณเป็นเพียงมนุษย์เท่านั้นเองนี่นา ขณะที่บนเครื่องบินในเที่ยวบินที่ออกมาจากฮ่องกง ผมจินตนาการว่า ถึงแม้เขายังคงมีความมั่นอกมั่นใจและความองอาจกล้าหาญแบบคนหนุ่ม แต่เขาก็ต้องรู้สึกหวาดกลัว เมื่อไปถึงมอสโกแล้วพวกรัสเซียจะส่งตัวเขากลับไปให้วอชิงตันโดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงลับๆ ไหม อาจจะเป็นทำนองเดียวกับการแลกเปลี่ยนตัวสายลับกับสายลับที่ถูกอีกฝ่ายหนึ่งจับได้อย่างที่เคยได้ยินได้ฟังกันว่ากระทำกันอยู่เมื่อสมัยสงครามเย็น?

กระทั่งว่าถ้าหากเขาสามารถเดินทางออกจากมอสโกต่อไปได้ เขาก็ต้องไม่มีความสงสัยเลยว่า ทรัพยากรเต็มๆ ทั้งของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และของส่วนอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องมุ่งมั่นที่จะเข้าเล่นงานเขา ถ้าหากเขาเดินทางต่อไปลี้ภัยที่เอกวาดอร์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวจริงๆ เขาก็ย่อมต้องสงสัยว่ามีเจ้าหน้าที่สายลับของซีไอเอและของกองบัญชาการร่วมปฏิบัติการพิเศษ (Joint Special Operations Command) มากมายขนาดไหนที่สหรัฐฯแอบซุกซ่อนเอาไว้ในประเทศนั้น อันที่จริงนั้น ลูกไม้กลเม็ดสกปรกต่างๆ ได้เริ่มถูกนำออกมาใช้เรียบร้อยแล้ว คู่หูของ เกลนน์ กรีนวอลด์ (Glenn Greenwald) นักหนังสือพิมพ์แห่งเดอะการ์เดียน (The Guardian) ซึ่งเป็นผู้รายงานข่าวเรื่องราวของสโนว์เดนเป็นคนแรก ได้ถูกโจรกรรมเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปไปจากที่พักของพวกเขาในบราซิล เรื่องนี้เกิดขึ้นมาก็เมื่อหลังจาก กรีนวอลด์ บอกกับคู่หูคนนี้ผ่านทางสไกป์ (Skype) ว่า จะจัดส่งสำเนาเข้ารหัสของเอกสารต่างๆ ของสโนว์เดนไปให้เขา

ในช่วงขณะต่างๆ เหล่านี้ คุณต้องพยายามผลักไสความรู้สึกผวาหวาดระแวงที่คืบคลานเข้าไปในความคิดจิตใจของคุณ เมื่อคุณตระหนักขึ้นมาว่าคุณกำลังถูกเฝ้าสอดแนม, ถูกติดตาม, ถูกจับตามอง มันช่างไม่มีความสุขสบายอะไรเอาเลย แต่ช่างน่าหวั่นไหวกลัวเกรงไปหมด คุณจะต้องเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าชะตากรรมของคุณจะเป็นอย่างไรในทันทีที่สื่อมวลชนบังเกิดความเบื่อหน่ายเรื่องราวของคุณ หรือเมื่อรัฐบาลใดก็ตามซึ่งให้ที่ลี้ภัยแก่คุณเกิดการเปลี่ยนแปลงจุดยืนในสายสัมพันธ์ที่มีอยู่กับสหรัฐฯ เมื่อมีเสียงเคาะดังขึ้นที่ประตู ใครกันที่จะคอยปกป้องคุ้มครองคุณ? ดังนั้นจึงไม่ควรมีข้อสงสัยเลยว่า ความกลัวจะต้องเดินทางร่วมไปกับเขาด้วยบนเครื่องบินเที่ยวนั้น

ปีเตอร์ แวน บูเรน เป็น “ผู้เป่านกหวีด” เปิดโปงความสิ้นเปลืองสุรุ่ยสุร่ายและการบริหารอันผิดพลาดของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเอาไว้ในหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อเรื่องว่า We Meant Well: How I Helped Lose the Battle for the Hearts and Minds of the Iraqi People.

ติดตามอ่านต่อ ตอน 2 และตอน 3
(ตอน 2 - ‘เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน’กับโอกาสที่จะได้กลับบ้าน
ตอน 3 - ‘เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน’กับความรักชาติ)
‘เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน’กับโอกาสที่จะได้กลับบ้าน
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นั้นไม่เหมือนกับ “ผู้เป่านกหวีด” (ผู้เปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในหน่วยงานของตนเอง) คนอื่นๆ ในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งบางทีก็ไร้เดียงสาถึงกับคาดหมายว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะกระทำการต่างๆ โดยยึดมั่นตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งจะกลับหลังหันเลี้ยวออกมาจากเส้นทางอันมุ่งสู่ความเป็นเผด็จการรวบอำนาจและคืนสู่เส้นทางที่ถูกต้องชอบธรรม แต่สำหรับ “จอมแฉ” ผู้นี้แล้ว เขาทราบดีว่ากลไกความมั่นคงอันใหญ่โตมโหฬารของอเมริกาจะหมุนคว้างพุ่งเข้ามาเล่นงานเขาอย่างสุดกำลัง ในเวลาเดียวกับที่วอชิงตันพยายามที่จะวาดภาพทาสีให้เขาเป็นเพียงพวกอยากดังมุ่งแสวงหาชื่อเสียงส่วนตัว แต่การกระทำเพื่อเปิดเผยให้เห็นสัจจะความจริงของเขา ซึ่งต้องเสียสละชีวิตอันเป็นปกติสุขและกลายเป็นผู้หลบหนีลี้ภัยนั้น กลับบ่งบอกให้เห็นถึงคุณสมบัติของคนที่เป็นวีรบุรุษ มิใช่คนขายชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น