xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’กับ‘สหรัฐฯ’ใครกันแน่ที่กำลังอ่อนแอเพลี่ยงพล้ำ

เผยแพร่:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The China-US 'Brotherhood'
By Pepe Escobar
11/07/2013

ระหว่างที่เทศกาลพูดคุยฟุ้งฝอยประจำปีที่เรียกขานว่า “การสนทนาทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน” ครั้งล่าสุด กำลังดำเนินอยู่ในกรุงวอชิงตันเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนี้ พวก“นักพนัน”ในอเมริกาต่างออกมาแสดงความเชื่อของพวกเขาที่ว่า ปักกิ่งกำลังอยู่ในฐานะที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ หลังจากที่เคยก้าวผงาดขึ้นมาเข้มแข็งมากในช่วงหลังเกิดวิกฤตภาคการเงินโลก แต่อย่าได้หลงเชื่อวางเงินเดิมพันตามพวกเขาเชียวนะ ในภาวะที่ บารัค โอบามา ติดแหง็กอยู่ภายในตาข่ายแห่งสายสัมพันธ์ระหว่างชาติอิสลามฝ่ายต่างๆ ในตะวันออกกลาง ผู้นำของจีน สี จิ้นผิง ย่อมมองเห็นโอกาสอันงดงามที่จะเก็บกวาดหยิบฉวยของดีๆ ในปากีสถาน, อิหร่าน, ซีเรีย, อิรัก, ยิ่งไม่ต้องพูดถึง “ไปป์ไลน์อิสถาน” และทะเลจีนใต้

การสนทนาทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน (US-China Strategic and Economic Dialogue) รอบที่ 5 จัดขึ้นในวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ที่กรุงวอชิงตัน “กลุ่มภราดรภาพ” จีน-สหรัฐฯนี้มีแต่เรื่องพูดคุยฟุ้งฝอยกันเยอะจริงๆ โดยที่ไม่มีการลงมือทำอะไรชนิดที่มองเห็นได้ชัดๆ เอาเลย ในระหว่างนั้นเอง พวกคลังสมองช่างคิดในสหรัฐฯก็กำลังพยายามเผยแพร่ความคิดเห็นที่ว่า ปักกิ่งเวลานี้อยู่ในฐานะที่อ่อนแอกว่าแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับวอชิงตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคิดเทียบเคียงกับสภาพของทั้งสองประเทศนี้ในช่วงปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงภายหลังเกิดวิกฤตภาคการเงินทั่วโลก ความคิดอ่านของพวกคลังสมองช่างคิดเหล่านี้ ช่างเหลวไหลอะไรอย่างนี้

พูดยังกับว่ากรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับโปรแกรมสอดแนมทั่วโลกของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ของสหรัฐฯที่ยังคงบานปลายอยู่ในเวลานี้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลย ทั้งๆ ที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) สู้อุตส่าห์โพนทะนาเปิดโปงให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯใช้วิธีการอย่างไรในการหันมาเล่นงานพลเมืองของตนเอง ขณะเดียวกับที่จับตาสอดแนมชาติอื่นๆ ชนิดที่เรียกได้ว่าทั่วทั้งพื้นพิภพนี้ทีเดียว หรือเรื่องที่พูดกันฟุ้งกระจายว่าเศรษฐกิจของจีนกำลัง “ประสบปัญหาหนัก” ทั้งๆ ที่ในทางเป็นจริงแล้วปักกิ่งกำลังเปิดฉากดำเนินยุทธศาสตร์อันสลับซับซ้อนและมุ่งหวังผลระยะยาวไกลซึ่งทำให้บังเกิดผลระยะสั้นที่วัดออกมาได้ว่ากำลังเกิดการชะลอตัวในทางเศรษฐกิจ

ท้ายที่สุด สิ่งที่ทึกทักประณามกันว่าเป็น “พฤติกรรมอันก้าวร้าวของจีน” ในส่วนซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงในเอเชียนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงการขยายให้เกินจริง แน่นอนทีเดียว ปักกิ่งกำลังสร้างสมกำลังทางนาวีของตนจนใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นในเวลาเดียวกันนั้นเองทั้งจีนและรัฐสมาชิกบางรายที่ได้รับการคัดสรรของสมาคมอาเซียนก็กำลังมีการปรับปรุงเสริมเติมยุทธวิธีของพวกตนก่อนหน้าการเจรจาหารือแบบพหุภาคีว่าด้วยแบบแผนแนวทางปฏิบัติสำหรับรับมือกับปัญหาสาหัสร้ายแรงทั้งหลายในทะเลจีนใต้ ปักกิ่งจะต้องงี่เง่ามากทีเดียว หากเดินหน้าในทางการทูตด้วยนโยบายแบบเรือปืน ซึ่งแน่นอนว่ารังแต่จะถูกสหรัฐฯฉวยใช้ไปหาประโยชน์เท่านั้น

**ใครกันแน่ที่หันไปทางไหนก็เจอแต่ความยุ่งยาก**

ปักกิ่งนั้นมีความชัดเจนมากว่ามองสิ่งเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) “ปลดแอก” ลิเบีย ซึ่งบัดนี้ประเทศนี้เองได้กลับกลายถลำจมลงไปสู่ฐานะแห่งการเป็น “รัฐที่ล้มเหลว” เสียแล้ว, การที่สหรัฐฯสนับสนุนการทำลายซีเรีย, ตลอดจนการที่อเมริกาประกาศ “การปักหมุด” (pivoting) หวนคืนสู่เอเชีย โดยที่ปักกิ่งเห็นว่าทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้คือการที่อเมริกาพุ่งเป้ามุ่งขัดขวางการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน และก็เป็นความพยายามที่จะก่อกวนสร้างความวุ่นวายให้แก่ยุทธศาสตร์อันสลับซับซ้อนของแดนมังกรในเรื่อง “ระเบียงพลังงานแห่งยูเรเชีย” (Eurasian energy corridor)

กระนั้นการก่อกวนดังกล่าวนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผลอะไร ดังที่ เอเชียไทมส์ออนไลน์รายงานเอาไว้แล้วว่า (ดูเรื่อง Pepe Escobar, “Snowden: Towards an Endgame, Asia Times Online, July 9, 2013) สายท่อส่งน้ำมันและก๊าซ อิหร่าน-ปากีสถาน (Iran-Pakistan อักษรย่อย่อมเป็น IP) ลงท้ายแล้วอาจจะกลายเป็นสายท่อส่ง IPC โดยที่ “C” ก็คือส่วนที่จะต่อขยายเข้าไปในมณฑลซินเจียง (ซินเกียง) ทางภาคตะวันตกของจีน ปักกิ่งยังตระหนักเป็นอย่างดีว่าเหตุผลสำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งทำให้พวกตัวแสดงอย่างเช่น กาตาร์, ซาอุดีอาระเบีย, และตุรกี พยายามโหมโจมตีอย่างหนักหน่วงต่อซีเรีย ก็คือ สายท่อส่งก๊าซ อิหร่าน-อิรัก-ซีเรีย ซึ่งมีการเสนอให้สร้างกันขึ้นมานั่นเอง ปักกิ่งคาดคำนวณไว้ว่า ถ้าหาก บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ยังคงรักษาอำนาจเอาไว้ได้ในซีเรีย และสายท่อส่งมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนี้มีโอกาสสร้างกันจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว (แน่นอนทีเดียวว่าต้องอาศัยความช่วยเหลือทางการเงินจากจีนและรัสเซีย) ลูกค้าอันดับหนึ่งของสายท่อส่งนี้ ลงท้ายแล้วอาจจะกลายเป็นปักกิ่งเอง ไม่ใช่ยุโรปตะวันตกแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่มีอยู่กับกรุงอิสลามาบัด ปักกิ่งก็มีความตระหนักรับรู้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน ไม่ว่าสหรัฐฯจะเคลื่อนไหวทำอะไรก็ตามทีเพื่อก่อกวนสร้างความยุ่งยากขึ้นในแคว้นบาโลจิสถาน (Balochistan) ของปากีสถาน ซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในทางภูมิยุทธศาสตร์ โดยที่ความวุ่นวายที่นั่นย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะลุกลามขยายออกไปสู่จังหวัดซิสตาน-บาโลจิสถาน (Sistan-Balochistan) ในอิหร่านซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ติดๆ กัน ในทำนองเดียวกัน ปักกิ่งตีความว่า การที่สหรัฐฯแผดเสียงคำรามและแสดงท่าทีดึงดันไม่ยอมประนีประนอมในเรื่องเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้น แท้จริงเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้าเพื่อพลิกคว่ำล้มเลิกความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีนกับอิหร่าน ซึ่งจะทำให้แดนมังกรบังเกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานอย่างหนักแน่นไว้วางใจได้

หันมาดูที่อัฟกานิสถาน ระเบียงทางเดินในทำเนียบจงหนานไห่ (Zhongnanhai) ในกรุงปักกิ่งคงต้องเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะก้องสะท้อนไปมาไม่ขาดสาย ในเมื่อวอชิงตันต้องยอมกลืนน้ำลายตนเอง และหันมาเจรจากับพวกตอลิบานที่นครโดฮา โดยที่สาระสำคัญนั้นก็คือเรื่องเกี่ยวกับสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซสายเก่าแก่ที่สุดสายหนึ่งใน “ไปป์ไลน์อิสถาน” (Pipelineistan เป็นคำที่ เปเป้ เอสโคบาร์ ผูกขึ้นมาและได้รับความนิยมนำไปใช้ต่อกันไม่ใช่น้อย ความหมายของไปป์ไลน์อิสถานก็คือ เครือข่ายอันกว้างใหญ่ของสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซของโลก ซึ่งพาดผ่านไขว้ไปมาเหนืออาณาบริเวณที่มีหวังจะกลายเป็นมหาสมรภูมิของพื้นพิภพนี้ -ผู้แปล) วอชิงตันกำลังพยายามที่จะบอกว่า “เราต้องการสายท่อส่ง” (สายท่อส่งที่พาดผ่าน เติร์กเมนิสถาน-อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน-อินเดีย Turkmenistan-Afghanistan-Pakistan-India ดังนั้นจึงใช้อักษรย่อว่า TAPI) ขณะที่พวกตอลิบานก็ตอบว่า “เราต้องการได้ส่วนแบ่งของเรา”

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าวอชิงนั้นไม่ได้มีอะไรเอาเลยจริงๆ ที่จะไปเสนอเพื่อให้ตอลิบานบังเกิดความพออกพอใจ ตรงกันข้ามกับพวกตอลิบานซึ่งจะยังคงเดินหน้าไปตามกำหนดการในการเปิดโจมตีช่วงฤดูร้อนของพวกเขา ด้วยความรับรู้อยู่เต็มอกว่าพวกเขาจะมีอิสระเสรีที่จะทำอะไรได้ตามความปรารถนาภายหลังจากประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) ถูกทอดทิ้งและตกลงไปในแดนสนธยาแล้ว สำหรับแนวความคิดที่วอชิงตันพยายามเสนอขึ้นมาว่า หลังจากที่ทหารอเมริกันและนาโต้ถอนออกไปจากอัฟกานิสถานแล้ว อิสลามาบัดจะสามารถทัดทานพวกตอลิบานส่วนที่เป็นชาวอัฟกัน ให้ยังคงอยู่ในร่องในรอยได้นั้น แม้กระทั่งพวกแพะแกะในเทือกเขาฮินดูกูฏ ก็ยังกำลังหัวเราะเยาะความคิดนี้กันอยู่

**ทั้งหลายทั้งปวงมุ่งตรงไปที่ซีเรีย**

กระนั้นก็ตามที ซีเรียยังคงเป็นเรื่องราวทรงสำคัญที่สุด ในฐานะที่เป็นแกนหมุนของสงครามที่กำลังบานปลายออกไป สงครามแห่งความแตกแยกระหว่างนิกายสุหนี่กับนิกายชิอะห์ของอิสลาม โดยที่ความสนับสนุนค้ำจุนในสงครามนี้ส่วนใหญ่แล้วจากราชวงศ์ซาอุด (House of Saud) แห่งซาอุดีอาระเบีย ตลอดจนบรรดาตัวแสดงอื่นๆ ในกลุ่มความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) และมีคณะรัฐบาลโอบามาคอยหนุนช่วยในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวรั่วไหลออกมาเกี่ยวกับเนื้อหาของการหารือแบบเผชิญหน้ากันระหว่างประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย, โอบามา, นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ, และประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศส ในระหว่างการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี-8 ที่ไอร์แลนด์เหนือ ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ต้องขอบคุณนักการทูตผู้กล้าหาญคนหนึ่ง บวกกับคำแปลจากภาษารัสเซียไปเป็นภาษาอาหรับและจากนั้นก็จึงถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษ สิ่งที่ปูตินบอกกับพวกผู้นำตะวันตกเหล่านี้ นับว่าน่าสนใจมากจริงๆ

ตัวอย่างเช่น:

ปูตินกล่าวต่อที่ประชุมซัมมิต จี-8: พวกคุณต้องการให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ก้าวลงจากตำแหน่งอย่างนั้นหรือ? กรุณาลองมองไปที่พวกผู้นำซึ่งพวกคุณสร้างขึ้นในตะวันออกกลาง ในเส้นทางเดินของสิ่งที่พวกคุณเรียกขานว่า ‘อาหรับสปริง’ สักหน่อยเถอะ

ปูตินกล่าวกับโอบามา, คาเมรอน, และออลลองด์: พวกคุณกำลังต้องการให้รัสเซียทอดทิ้งอัสซาดและระบอบปกครองของเขา แล้วหันไปเดินเคียงข้างกับฝ่ายค้านซึ่งเหล่าผู้นำของฝ่ายนี้ไม่ได้รู้อะไรอื่นเลยนอกจากการออกฟัตวา (fatwa) ประกาศว่าใครต่อใครเป็นพวกนอกรีตนอกศาสนาเท่านั้น และโดยที่สมาชิกของฝ่ายค้านเหล่านี้ (ซึ่งมาจากกลุ่มที่อยู่ในประเทศต่างๆ หลากหลายรวมทั้งมีแนวทางความคิดนานาชนิด) ก็ไม่ได้รู้อะไรอื่นเลยนอกจากวิธีฆ่าคนและกินเนื้อมนุษย์เท่านั้น

ปูตินกล่าวกับโอบามาโดยตรง: ประเทศของคุณส่งกองทัพไปยังอัฟกานิสถานในปี 2001 ด้วยข้ออ้างที่ว่าคุณกำลังสู้รบกับพวกตอลิบานและองค์การอัลกออิดะห์ ตลอดจนพวกผู้ก่อการร้ายเคร่งจารีตกลุ่มอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลของคุณกล่าวหาว่าเป็นผู้ดำเนินการโจมตีนิวยอร์กและวอชิงตันในวันที่ 11 กันยายน แล้วมาถึงตอนนี้คุณกลับกำลังผูกพันธมิตรกับพวกเหล่านี้อยู่ในซีเรีย และคุณกับพวกพันธมิตรของคุณกำลังประกาศว่าคุณมีความปรารถนาที่จะส่งอาวุธให้พวกเหล่านี้ แล้วมาถึงตอนนี้คุณมีกาตาร์ซึ่งคุณ (สหรัฐฯ) มีฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดของคุณในภูมิภาคแถบนี้ตั้งอยู่ที่นั่น และก็ในดินแดนของประเทศนั้นเองนี่แหละ พวกตอลิบานกำลังไปจัดตั้งสำนักงานผู้แทนขึ้นมา (เพื่อที่จะเปิดการเจรจากับสหรัฐฯ)”

ส่วนที่ยอดที่สุดก็คือถัดจากที่ปูตินพูดเรื่องเหล่านี้แล้ว นายกรัฐมนตรี อังเงลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ได้กล่าวยืนยันคำพูดทุกๆ คำของปูติน โดยที่แน่นอนทีเดียวว่าถ้าหากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนอยู่ในที่ประชุมคราวนี้ด้วย (ซึ่งในทางเป็นจริงแล้ว สี จิ้นผิง ไม่ได้เข้าร่วม เพราะจีนไม่ได้อยู่ในกลุ่มจี-8) เขาก็คงจะทำแบบเดียวกัน

**ติดแหง็กดิ้นรนอยู่ภายในตาข่าย**

กระทั่งถ้าหากไอเดียอันบรรเจิดเลิศล้ำของคณะรัฐบาลโอบามาที่ว่า จะทำการคัดเลือกให้ได้พวกกบฏที่ “ดีๆ” เพื่อจะได้จัดส่งอาวุธขนาดเบาไปให้ เกิดกลายเป็นไอเดียที่ใช้การได้ขึ้นมา (จริงๆ แล้วมันย่อมใช้การไม่ได้อยู่แล้ว เพราะความเป็นจริงของเขตสมรภูมิการสู้รบนั้น กองกำลังสู้รบระดับฮาร์ดคอร์ตัวจริง อย่างเช่น กลุ่มแก๊งในสไตล์ของพวก จับฮัต อัล-นูสรา Jabhat al-Nusra ลงท้ายแล้วย่อมกลายเป็นผู้ที่สามารถหยิบฉวยอาวุธชั้นดีที่สุดไปครอบครองในที่สุด) ก็ไม่ได้มีหลักฐานใดๆ เลยยืนยันว่า กองกำลังของ บาชาร์ อัล-อัสซาด จะยกธงขาวยอมรับความพ่ายแพ้

ตรงกันข้าม กองกำลังของบาชาร์ อัล-อัสซาด กำลังพยายามรุกเพื่อกลับไปยึดเมืองอะเลปโป (Aleppo เมืองใหญ่ที่สุดในซีเรีย ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ) ให้ได้ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่กำลังพยายามดันลงไปทางใต้สู่เมืองดะระอา (Daraa) เพื่อรักษาชายแดนที่ติดต่อกับจอร์แดนให้มั่นคง ทั้งนี้เพราะอาวุธซึ่งมาจากพวกกษัตริย์และเจ้าครองแคว้นที่ร่ำรวยน้ำมันทั้งหลาย ไหลทะลักไปถึงมือ “พวกกบฏ” ทางภาคใต้ของซีเรียได้ก็โดยผ่านจอร์แดนนี่เอง ขณะเดียวกัน ข่าวลือที่ว่ากองทัพรัฐบาลซีเรียกำลังขยายแนวรบออกรับศึกจนเกินกำลังแล้วนั้น นับเป็นการพูดเกินความเป็นจริงไปอย่างมโหฬารทีเดียว เพราะการรุกเช่นนี้ย่อมสามารถที่จะแบ่งซอยทำไปทีละขั้นละตอนได้

ในเวลาเดียวกัน รัสเซียก็จะคอยเล่นเกมด้วยความฉลาดหลักแหลมเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือพยายามส่งอาวุธที่มีความจำเป็นให้แก่รัฐบาลซีเรีย ขณะเดียวกับที่เตรียมพร้อมส่งอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงยิ่งขึ้นอีก ในกรณีที่วอชิงตัดสินใจเพิ่มระดับการส่งอาวุธให้แก่ “พวกกบฏ”

แล้วล่าสุดยังมีเรื่องยุ่งเหยิงเต็มๆ เกี่ยวกับกลุ่มภราดรมุสลิม (Muslim Brotherhood) อีก ดังที่หนังสือพิมพ์อัล-อัคบาร์ (Al-Akhbar) บรรยายรายละเอียด (ดูที่ http://english.al-akhbar.com/content/qatar-and-brotherhood-losing-crown-jewel) เอาไว้อย่างเอร็ดอร่อยมาก เกี่ยวกับการที่ราชวงศ์ซาอุด ได้เข้าทำลายล้าง กาตาร์ ในทางเป็นจริง ทั้งในอียิปต์ และก็ในซีเรีย เราต้องจดจำเอาไว้อย่าได้ลืมเลือนว่า ราชวงศ์ซาอุดนั้นให้ความสนับสนุนทางประตูหลังแก่พวกพรรคการเมืองที่นิยมแนวความคิดอิสลามิสต์แบบซาลาฟี (Salafi) ในอียิปต์ และส่งอาวุธทางประตูหลังให้แก่พวกนักรบซาลาฟีในซีเรีย

ในอียิปต์นั้น ขอเชิญพบกับเจ้านายใหม่ ซึ่งเป็นชาวซาอุดีอาระเบียและชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำนองเดียวกับที่เจ้านายเก่าก็เป็นชาวกาตาร์ ทั้งนี้ก่อนหน้าที่ อีมีร์ อัล-ตอนิ (Emir al-Thani) เจ้าผู้ครองกาตาร์ประกาศตัดสินใจสละบัลลังก์เมื่อเร็วๆ นี้ เขาได้ใช้จ่ายเงินทองไปถึง 17,000 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มก่อการ “อาหรับสปริง” ต่างๆ หลายหลาก โดยส่วนใหญ่ที่สุดนั้นส่งให้แก่ มอร์ซี (Morsi) ในอียิปต์ เวลานี้ราชวงศ์ซาอุดก็ได้ประกาศแล้วที่จะให้ความสนับสนุนเป็นจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์แก่อียิปต์หลังยุคมอร์ซี ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยินดีลงขันด้วยอีก 3,000 ล้านดอลลาร์

เมื่อดูกันที่ผลสรุปในบรรทัดสุดท้าย ปรากฏว่าปักกิ่งกำลังวางเดิมพันว่า พวกเขาจะสามารถชนะได้ในทั้งปากีสถาน, ในอิหร่าน, ในซีเรีย (โดยที่พวกเขากำลังชนะอยู่แล้วในอิรัก), ในไปป์ไลน์อิสถาน, โดยยังไม่ต้องเอ่ยถึงในทะเลจีนใต้ ขณะที่วอชิงตันกลับยังต้องติดแหง็กดิ้นรนอยู่ภายในตาข่ายแห่งสายสัมพันธ์ระหว่างชาติอิสลามฝ่ายต่างๆ ในตะวันออกกลาง

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Globalistan: How the Globalized World is Dissolving into Liquid War (Nimble Books, 2007), Red Zone Blues: a snapshot of Baghdad during the surge (Nimble Books, 2007), และ Obama does Globalistan (Nimble Books, 2009) ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ pepeasia@yahoo.com.
กำลังโหลดความคิดเห็น