เอเอฟพี - รัฐบาลอินโดนีเซียแสดงเจตนารมณ์ที่จะให้สัตยาบันในข้อตกลงว่าด้วยปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายในต้นปีหน้า เพื่อร่วมมือกับเพื่อนบ้านในอาเซียนต่อสู่ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี และสร้างความเดือดร้อนแก่พลเมืองนับล้านๆ คนในภูมิภาค ขณะที่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เมืองอิเหนามีมาตรการแก้ไขที่จริงจังกว่านี้
บัลธาซาร์ กัมบัวยา รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (17) ว่า “เราหวังว่าจะสามารถให้สัตยาบันได้ราวๆ สิ้นปีนี้ หรือภายในต้นปีหน้า”
ก่อนหน้านั้น กัมบัวยา และรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมจากมาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน และไทย ซึ่งรวมอยู่ใน “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควัน” ได้ร่วมหารือแนวทางที่จะป้องกันไฟป่าในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ซึ่งเกิดจากการแผ้วถางและเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
สถานการณ์ในปีนี้นับว่ารุนแรงกว่าที่ปีผ่านๆ มา เพราะหมอกควันจากแดนอิเหนาทำให้สิงคโปร์และมาเลเซียต้องเผชิญมลพิษทางอากาศครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบทศวรรษเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และทำให้ต้องสั่งปิดโรงเรียนหลายแห่ง ขณะที่ประชาชนก็ล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น
สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้จัดทำข้อตกลงว่าด้วยหมอกควันข้ามแดนเมื่อปี 2002 เพื่อประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี หลังวิกฤตหมอกควันครั้งใหญ่เมื่อช่วงปี 1997-1998 ได้สร้างความเสียหายแก่ภูมิภาคนี้เป็นมูลค่าถึง 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ตามข้อตกลงฉบับนี้ ประเทศที่เป็นต้นตอของหมอกควันมีหน้าที่ต้อง “ตอบสนองทันที” เมื่อได้รับการร้องขอข้อมูลจากชาติสมาชิกที่ได้รับผลกระทบ และจะต้องมีมาตรการแก้ไขเพื่อรักษาพันธกรณีในข้อตกลง
แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยับยั้งหมอกควันจากอินโดนีเซีย แต่ปรากฏว่าเมืองอิเหนากลับยังเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ซึ่งรัฐบาลก็อ้างว่าเป็นเพราะความล่าช้าในกระบวนการขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
ที.จายาบาลัน ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข และที่ปรึกษากลุ่ม เฟรนด์ส ออฟ ดิ เอิร์ธ มาเลเซีย ได้ออกมาชื่นชมที่กรุงจาการ์ตารับปากจะให้สัตยาบันในข้อตกลงต่อสู้ปัญหาหมอกควัน แต่ก็ย้ำเตือนว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่เมืองอิเหนายังบังคับใช้กฎหมายอย่างหละหลวม
“สาเหตุหลักคือมาตรการควบคุมที่ค่อนข้างหย่อนยาน ต่อให้มีกฎหมายสักกี่ข้อ แต่หากการบังคับใช้หละหลวม เราก็จะต้องเจอปัญหาหมอกควันต่อไปไม่จบสิ้น” จายาบาลัน ให้สัมภาษณ์เอเอฟพี
กัมบัวยา ระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างสอบสวน 8 บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตหมอกควันเมื่อเดือนที่แล้ว โดยจะเปิดเผยรายชื่อ “ให้เร็วที่สุด”
จาการ์ตายังมีแผนที่จะแบ่งปันข้อมูลสัมปทานที่ดินเพาะปลูกให้รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านทราบ เพื่อสืบหาตัวผู้รับผิดชอบเมื่อเกิดไฟป่า แต่ไม่สามารถเผยข้อมูลต่อสาธารณชนได้