บีบีซี/เอเอฟพี - มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 รายจากเหตุปะทะระหว่างผู้สนับสนุนกับต่อต้านนายโมฮาเหม็ด มอร์ซี ที่กรุงไคโร วันอังคาร (2) หลังฝ่ายต่อต้านหลั่งไหลขึ้นบนท้องถนนเมืองหลวงของอียิปต์ เมื่อเส้นตายที่ผู้ประท้วงขีดให้ประธานาธิบดีรายนี้ลาออกผ่านพ้นไปด้วยไม่มีสัญญาณตอบสนองใดๆ แถมยังแสดงท่าทีขัดขืนต่อคำขาดของกองทัพที่ให้เวลาคลี่คลายปัญหาจนถึงวันพุธ (3) ด้วย
ตอมาร็อด ขบวนการรากหญ้าที่อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ให้เวลานายมอร์ซีจนถึงเวลา 17.00 น.(ตรงกับเมืองไทย 22.00 น.) สำหรับลาออกหรือไม่จะเผชิญกับการรณรงค์อารยะขัดขืน เส้นตายนี้ที่แถลงเมื่อวันจันทร์ (1) มีออกมาก่อนหน้าที่ทางกองทัพจะออกมาเตือนว่าจะเข้าแทรกแซงหากว่าประธานาธิบดีไม่สามารถตกลงกับฝ่ายต่อต้านได้ ขณะที่นายมอร์ซีก็เพิกเฉยต่อคำขู่นี้เช่นกัน พร้อมตำหนิคำแถลงดังกล่าวว่าอาจสร้างความสับสนได้
มีรายงานว่าประธานาธิบดีมอร์ซีพบปะกับพลเอก อับเดล ฟัตตาฟ์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการกองทัพเป็นวันที่สองติดต่อกันในวันอังคาร (2) โดยมีนายกรัฐมนตรีไฮชาม กันดิล เข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เปิดเผยถึงรายละเอียดการหารือใดๆ ท่ามกลางเหตุปะทะระหว่างฝ่ายต่อต้านกับสนับสนุนนายมอร์ซี ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 7 ศพ
แหล่งข่าวทางการแพทย์เผยว่า เหตุความรุนแรงที่ย่านกิซา ของกรุงไคโร ยังเป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับสิบคน ในนั้นบางส่วนมีอาการสาหัสจากพิษของกระสุน ทั้งนี้ เหตุปะทะยังปะทุขึ้นในย่านเฮลวานของเมืองหลวง และในจังหวัดเบเฮรา ทางเหนือของประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมานายมอร์ซีออกคำแถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ ยืนกรานถึงความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องกองทัพถอนคำขู่เข้าแทรกแซงทางการเมืองจนกว่าเขาจะคลี่คลายความเห็นต่างกับฝ่ายต่อต้านได้สำเร็จ ด้วยอ้างประชาชนเลือกเขามาผ่านการเลือกตั้งอย่างอิสระและยุติธรรม พร้อมบอกว่าความชอบธรรมตามกฎหมายเท่านั้นที่จะหยุดยั้งเหตุนองเลือดได้
ห้างร้านธุรกิจเกือบทั้งหมดยังปิดบริการและพบเห็นรถยนต์ไม่กี่คันที่ยังแล่นอยู่บนท้องถนน ขณะที่ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้าอีกหนึ่งเส้นตายที่ทางกองทัพขีดให้ประธานาธิบดีดำเนินการตามเสียงเรียกร้องของผู้ชุมนุมในวันพุธ (3) กำลังคืบคลานเข้ามา ขณะที่ทางฝ่ายสนับสนุนนายมอร์ซีประณามคำขู่ทำรัฐประหารดังกล่าวของทหาร
แกนนำระดับอาวุโสของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมเรียกร้องผู้สนับสนุนเตรียมพร้อมสำหรับพลีชีพตนเองเพื่อป้องกันการทำรัฐประหารของกองทัพ อันย้อนให้นึกถึงเหตุนองเลือดระหว่างการปฏิวัติโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เมื่อปี 2011 ซึ่งเปิดทางให้นายมอร์ซีขึ้นสู่อำนาจ ในฐานะประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างอิสระคนแรกของประเทศ
รายงานข่าวระบุว่า ฝ่ายสนับสนุนนายมอร์ซีบางส่วนเข้าร่วมปักหลักชุมนุมกันที่ย่านนาเซอร์ ซิตี ของเมืองหลวง ขณะที่ฝูงชนที่รวมตัวกันใกล้ๆ มหาวิทยาลัยไคโรก็ประกาศปกป้องประธานาธิบดีที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายของเขา
ส่วนทางฝ่ายต่อต้านก็เรียกร้องให้เดินหน้าประท้วงใหญ่กดดันนายมอร์ซีต่อไป และปรากฏว่ามีประชาชนหลายหมื่นคนออกมารวมตัวกันบริเวณจตุรัสตอห์รีร์และถนนสายหลักบริเวณรอบนอกทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงไคโร ด้วยบรรยากาศแห่งความตึงเครียดเกาะกุมผู้ชุมนุมตั้งแต่ช่วงสายวันอังคาร (2) หลังจากทำเนียบนายมอร์ซีแถลงเพิกเฉยต่อคำขาดของกองทัพ
ทั้งนี้ ทางฝ่ายต่อต้านก็แสดงความกังวลเช่นกันว่ากองทัพจะเข้ามามีบทบาททางการเมืองในประเทศที่เต็มไปด้วยความแตกแยกแห่งนี้ โดยทางเนชันแนล ซัลเวชัน ฟรอนต์ แกนนำกลุ่มต่อต้านบอกว่าพวกเขาไม่สนับสนุนรัฐประหาร
ก่อนหน้านี้นายมอร์ซีได้ออกคำแถลงในเวลาตีสองของวันอังคาร (2 ก.ค.) ซึ่งแม้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ท่าทีประจันหน้ากับฝ่ายทหาร แต่ก็ยืนยันว่าเขาจะยังคงเดินตามแผนการปรองดองแห่งชาติของตนเอง พร้อมระบุว่า ประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องฟังคำชี้แนะจากกองทัพ อีกทั้งประณามคำประกาศใดๆ ที่ทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้นและคุกคามความสงบสุข
“ประธานาธิบดีได้ปรึกษากับกองกำลังแห่งชาติทั้งหมด เพื่อรักษาเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยและปกป้องเจตจำนงของประชาชน”
อย่างไรก็ตาม กองทัพออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาพยายามก่อรัฐประหารใดๆ และระบุว่าคำแถลงของพลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้บัญชาการกองทัพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้กลุ่มการเมืองทั้งหมดหาทางคลี่คลายวิกฤตการณ์โดยเร็ว
ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองลุกลามขึ้นเรื่อยๆ นายมอร์ซีก็กำลังอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในวันอังคาร โมฮัมเหม็ด คาเมล อัมร์ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีสำคัญคนล่าสุดที่โบกมือตีจากรัฐบาล หลังจากก่อนหน้านี้เจ้ากระทรวงสื่อสาร สิ่งแวดล้อม การลงทุน และกิจการยุติธรรม ชิงลาออกไปแล้ว เช่นเดียวกับอดีตเสนาธิการทหาร พลเอก ซามี อานัน ที่ปรึกษาด้านการทหารของมอร์ซี นอกจากนี้สื่อมวลชนรายงานด้วยว่า เอฮับ ฟาห์มี โฆษกประธานาธิบดี และอะลา อัล-ฮาดิดี ก็ลาออกเช่นกัน