เอเอฟพี - สื่อต่างประเทศตีแผ่นโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่สนับสนุนให้ตำรวจจราจรในกรุงเทพมหานครหันมาออกกำลังกายลดไขมันรอบเอว ซึ่งเป็นทั้งปัญหาสุขภาพ และอุปสรรคที่บั่นทอนการทำงานของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
การรับประทานอาหารไม่ถูกสัดส่วน บวกกับการยืนปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนนที่คับคั่งวันละหลายชั่วโมง คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตำรวจจราจรไทยมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน
ภาพตำรวจอ้วนลงพุงกลายเป็นสิ่งที่น่ากังวลยิ่งขึ้นทุกวัน จนผู้บังคับการตำรวจหลายนายตัดสินใจจัดคอร์สออกกำลังกายฟรีให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งขณะนี้โครงการ “จราจร บช.น.ฟิต แอนด์ เฟิร์ม 2556” ที่ดำเนินมาได้ 2 เดือน มีตำรวจร่างใหญ่สนใจเข้าร่วมแล้วเกือบ 60 นาย
ด.ต.นิทัศ ใสสอาด ซึ่งเริ่มออกกำลังกายมาได้ 15 วัน เปิดเผยว่า ขณะนี้น้ำหนักของตนอยู่ที่ 138 กิโลกรัม แต่ลดลงจากเดิม 6 กิโลกรัม และรอบเอวเล็กลง 3 นิ้ว
“การปฏิบัติหน้าที่ก็ค่อนข้างลำบากครับ... ยิ่งเวลายืนโบกรถอยู่บนถนน บางทีก็ถูกกระจกรถยนต์เฉี่ยวเอาบ้าง” นายตำรวจวัย 48 ปี กล่าว พร้อมยอมรับว่า คอร์สออกกำลังกายสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ซึ่งมีทั้งการเล่นโยคะและเต้นแอโรบิก บวกกับการรับประทานผักผลไม้และซุปแทนข้าวสวยจานใหญ่กับของทอด ซึ่งตัวเองโปรดปราน ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้จริง
กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) แนะนำให้ตำรวจที่มีรอบเอวเกิน 36 นิ้ว พิจารณาเข้าร่วมคอร์สออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักลงให้ได้ 10 กิโลกรัม โดยมีเงินรางวัล 5,000 บาท สำหรับผู้ที่ทำผลงานได้ดีที่สุด
“ตำรวจอาวุโสเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของเราชักจะอ้วนเกินไปแล้ว ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้พวกเขาลดน้ำหนักลง” พ.ต.ท.สุดจิตร์ สุขสมัย ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม ฟิต แอนด์ เฟิร์ม เช่นกัน กล่าว
“ตำรวจที่อ้วนเกินไปจะทำงานได้ไม่คล่องแคล่ว ดังนั้น การลดน้ำหนักจะช่วยให้ตำรวจมีความแข็งแกร่ง, สุขภาพดี และว่องไวขึ้น”
กวิตา ครวญจิต ซึ่งเป็นผู้นำออกกำลังกายประจำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การลดรอบเอวนอกจากจะดีต่อสุขภาพของตำรวจเองแล้ว ยังช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ตำรวจให้ดูน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนด้วย
“เวลาเราเห็นตำรวจอ้วนๆ ก็จะอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเขาจะวิ่งตามผู้ร้ายทันหรือ?” เธอกล่าว
ตำรวจจราจรหลายนายบอกว่า ความเครียดจากการปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนนวันละสิบกว่าชั่วโมงในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองรถติดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำให้พวกเขาไม่มีเวลาเอาใจใส่สุขภาพมากนัก อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ดวงรัตน์ วัฒนกิจไกรเลิศ จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพของตำรวจจราจรไทย ระบุว่า ต้นเหตุประการสำคัญที่ทำให้ตำรวจอ้วนลงพุงก็คือ การรับประทานอาหารไขมันสูงที่หาซื้อได้ง่ายตามริมถนน
จากการสุ่มตรวจสุขภาพตำรวจจราจร 265 นาย ในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2011 ผศ.ดร.ดวงรัตน์ พบว่า เกินครึ่งมีภาวะโคเลสเตอรอลสูง
“อาหารที่ผู้ค้านำมาวางขายใกล้ๆสถานีตำรวจมักมีไขมันสูงและรสเค็มจัด เช่น แกงกะทิหรือพวกอาหารทอด เป็นต้น ตำรวจแค่เดินออกไปหน้าสถานีก็สามารถซื้อหามารับประทานได้ง่ายๆ”
อัตราเงินเดือนที่ค่อนข้างน้อยก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตำรวจส่วนใหญ่ไม่เลือกประทานอาหารสุขภาพ ซึ่งมีราคาสูงกว่า ผศ.ดร.ดวงรัตน์ ระบุ