เอเอฟพี - โครงการสอดแนมโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตช่วยให้รัฐบาลอเมริกันขัดขวางปฏิบัติการก่อการร้ายได้กว่า 50 ครั้ง ทั้งบนแผ่นดินสหรัฐฯ และอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงแผนลอบวางระเบิดตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) แถลงเมื่อวานนี้(18)
ขณะเดียวกัน กูเกิล บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ร้องขอให้ศาลตรวจตราข่าวกรองต่างประเทศ (FISA) อนุญาตให้เปิดเผยจำนวนคำขอสอดแนมที่ กูเกิล ได้รับจากเอ็นเอสเอ ตลอดจนคำสั่งศาลลับที่ให้ กูเกิล เปิดเผยข้อมูลการสื่อสารของผู้ใช้ด้วย
ตั้งแต่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตพนักงานสัญญาจ้างของเอ็นเอสเอ ออกมาเปิดโปงโปรแกรมสอดแนมที่สหรัฐฯกระทำต่อพลเมืองของตนเองอย่างกว้างขวาง บริษัทสื่อสารซึ่งมีฐานอยู่ในย่านซิลิคอนแวลลีย์ ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ต่างพยายามเรียกความเชื่อมั่นจากลูกค้าที่เข้าใจไปแล้วว่า บริษัทเหล่านี้ร่วมมือกับรัฐบาลละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขา
วอชิงตันยืนยันว่า สิ่งที่เอ็นเอสเอทำไม่ขัดต่อกฎหมาย และยังช่วยป้องกันการก่อวินาศกรรมรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง
คีธ อเล็กซานเดอร์ ผู้อำนวยการเอ็นเอสเอ ซึ่งออกมาแถลงปกป้องโครงการสอดแนมเมื่อวานนี้(18) เอ่ยถึงเหตุร้าย 4 ครั้งที่เอ็นเอสเอสามารถป้องกันไว้ได้ หนึ่งในนั้นคือแผนลอบวางระเบิดรถไฟใต้ดินนิวยอร์ก ซึ่งเป็น “แผนก่อวินาศกรรมรุนแรงครั้งแรกของอัลกออิดะห์ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 9/11 และถูกบัญชาการโดยแกนนำก่อการร้ายในปากีสถาน”
อเล็กซานเดอร์, รองผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ฌอน จอยซ์ และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนอื่นๆ ต่างยืนยันว่า โปรแกรมตรวจสอบข้อมูลดิจิทัลช่วยให้อเมริกาอยู่รอดปลอดภัยมาได้ ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
“ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ข้อมูลที่เราได้รับจากการสอดแนมช่วยให้รัฐบาลป้องกันการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างน้อย 50 ครั้งในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก” อเล็กซานเดอร์ เผย โดยระบุว่าในจำนวนนั้นเป็นเหตุวินาศกรรมในสหรัฐฯ อย่างน้อย 10 ครั้ง
เขาได้แจ้งต่อคณะกรรมการข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรว่า รายละเอียดส่วนใหญ่ของโครงการเป็นความลับที่ไม่อาจเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ แต่เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจและสนับสนุนโปรแกรมนี้ เอ็นเอสเอจึงขอเปิดเผยรายละเอียดของแผนก่อวินาศกรรม 4 ครั้ง ซึ่งรวมไปถึงแผนลอบวางระเบิดตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก
จอยซ์ เผยว่า เอฟบีไอ ได้รับแจ้งเตือนจาก เอ็นเอสเอ ซึ่งแกะรอยการใช้โทรศัพท์ข้ามประเทศมายังผู้ต้องสงสัยในเมืองแคนซัสซิตี จากนั้นจึงขอคำสั่งศาลเพื่อเริ่มสอดแนมการสื่อสารของ คอลิด อวซซานี ซึ่งทำให้พบว่า อวซซานี เป็นผู้ให้ข้อมูลและสนับสนุนแผนลอบวางระเบิดตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก จึงได้เข้าจับกุมเขาและผู้ร่วมสมคบคิดทั้งหมด
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 อวซซานี สารภาพว่าร่วมมือกับอัลกออิดะห์วางแผนก่อการร้ายจริง แต่ขณะนั้น เอฟบีไอ ไม่ได้เปิดเผยเรื่องที่เขามีส่วนในแผนลอบวางระเบิดตลาดหุ้นนิวยอร์ก
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ยังมองว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กระทำการเกินสมควร และพลเมืองอเมริกันย่อมมีสิทธิ์รับรู้ว่าการสอดแนมที่รัฐกระทำต่อพวกเขานั้น มีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด
กูเกิล และบริษัทสื่อสารอื่นๆ ยอมรับว่า เคยได้รับคำร้องขอทราบข้อมูลในบัญชีผู้ใช้นับหมื่นคนจากเอ็นเอสเอ แต่บริษัทไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลด้านความมั่นคง และคำสั่งลับจากศาล FISA