xs
xsm
sm
md
lg

ทางการจีนปฏิเสธเสียงแข็ง หลังอดีตรอง ปธน.สหรัฐฯ สงสัยว่า “จอมแฉ” ระบบปริซึมเป็นสายลับของปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - ทางการจีนออกโรงปฏิเสธในวันจันทร์ (17 มิ.ย.) ว่าไม่มีมูลความจริงเลย ภายหลังถูกอดีตรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ ของสหรัฐฯ แสดงความสงสัยข้องใจว่า เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน “จอมแฉ” โปรแกรมปริซึม ที่สอดแนมการติดต่อทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างใหญ่โตกว้างขวาง อาจจะเป็นสายลับที่ทำงานให้ปักกิ่ง ขณะเดียวกัน สื่อของทางการแดนมังกรก็ออกมาแสดงความเห็นว่า การส่งตัวบุคคลผู้นี้กลับคืนไปให้สหรัฐฯ จะถือเป็น “การทรยศ” ต่อความไว้วางใจ สำหรับในส่วนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา นั้นยังคงยืนกรานว่า ไม่เชื่อว่าโปรแกรมสอดแนมนี้ละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนอเมริกัน

ทางการจีนออกมาแสดงความเห็นอย่างเป็นรูปธรรมในกรณีจอมแฉสโนว์เดนเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ หรือหนึ่งวันหลังจาก เชนีย์ รองประธานาธิบดีหัวอนุรักษนิยมสุดขั้วและทรงอำนาจยิ่งในยุคของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ออกมาระบุว่า อดีตลูกจ้างของซีไอเอที่หลบภัยไปอยู่ในฮ่องกงขณะนี้ เป็น “คนทรยศ” ซึ่งอาจจะกำลังแสดงบทบาทตามที่สมคบคิดร่วมวางแผนกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของปักกิ่ง

“ดิฉันคิดว่ามันเป็นการกล่าวที่ไม่มีมูลโดยสิ้นเชิง” หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงต่อผู้สื่อข่าวเมื่อถูกสอบถามว่า สโนว์เดนทำงานเป็นสายลับให้แก่จีนจริงหรือไม่

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โฆษกผู้นี้ยังใช้วิธีหลีกเลี่ยงโดยตอบเพียงว่า เธอ “ไม่มีข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่จะให้” ตอนที่ถูกผู้สื่อข่าวสอบถามเรื่องราวของอดีตผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของบริษัทรับเหมาปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) ผู้นี้ ซึ่งใช้ฮ่องกงเป็นสถานที่เปิดโปงการปฏิบัติการของเอ็นเอสเอในการสอดแนมโทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก

สโนว์เดนได้ปล่อยข่าวลับเหล่านี้ให้แก่หนังสือพิมพ์ฉบับดังๆ มาหลายชุดแล้วนับแต่ที่เดินทางมาอยู่ในฮ่องกงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม โดยที่เขาประกาศว่าเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมที่ยังคงเป็นอิสระของเขตบริหารพิเศษของจีนแห่งนี้ ขณะที่ยืนยันว่าเขาจะต่อสู้กับความพยายามใดๆ ก็ตามของรัฐบาลสหรัฐฯที่จะยื่นมือขอให้มีการส่งตัวเขากลับไปดำเนินคดีในฐานะเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

การเปิดโปงของเขาได้ทำให้พวกบริษัทเว็บไซต์และเทคโนโลยีชั้นนำทั้งหลายพากันร้อนตัว โดยที่ต้องออกมาแถลงยอมรับว่าได้มีการส่งข้อมูลของยูสเซอร์ไปให้แก่วอชิงตันจริง แต่ก็ยืนยันว่าจัดส่งให้เมื่อถูกบังคับโดยคำสั่งศาลเท่านั้น

บริษัทแอปเปิล เป็นรายล่าสุดที่ออกมาแถลงในวันจันทร์ (17) ว่า บริษัทได้รับคำร้องขอข้อมูลผู้ใช้ จากทางการผู้รับผิดชอบของสหรัฐฯ ในระหว่าง 4,000-5,000 คำขอในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา โดยที่ก่อนหน้านี้สองสามวัน เฟซบุ๊ก และไมโครซอฟท์ได้เผยแพร่ข้อมูลทำนองเดียวกันนี้แล้ว

ทางการผู้รับผิดชอบของสหรัฐฯ ยืนยันว่า เป้าหมายของพวกเขามีเพียงพวกชาวต่างชาติซึ่งต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายเท่านั้น และพวกเครื่องมืออุปกรณ์ลูกเล่นต่างๆ ของพวกเขา รวมทั้งการปฏิบัติการทางออนไลน์ของเอ็นเอสเอที่มีชื่อรหัสว่า “ปริซึม” นี้ ได้ช่วยป้องกันและขัดขวางไม่ให้ผู้ก่อการร้ายก่อการโจมตีได้สำเร็จมาหลายครั้งแล้ว

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ ซึ่งสโนว์เดนใช้เป็นที่เปิดเผยตัวตนของเขาหลังจากเดินทางมาถึงฮ่องกง ได้รายงานข่าวในวันจันทร์ว่า ในเอกสารลับที่สโนว์เดนนำติดตัวมาด้วยนั้น ดูเหมือนมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า อังกฤษได้แอบสอดแนมล้วงความลับพวกผู้แทนของกลุ่ม 20 ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจรายใหญ่ของโลก (จี-20) ในระหว่างที่มีการประชุมกันในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2009
เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน “จอมแฉ” โปรแกรมปริซึม ได้รับการหนุนหลังในฮ่องกงและจีน
อังกฤษได้ใช้ “พวกสมรรถนะด้านข่าวกรองซึ่งนำออกใช้เป็นครั้งปฐมฤกษ์” มาสอดแนมติดตามการสื่อสารกันระหว่างพวกเจ้าหน้าที่ ณ การประชุมของกลุ่ม จี-20 รวม 2 ครั้ง นั่นคือในเดือนเมษายน และเดือนกันยายนของปี 2009 รายงานของการ์เดียนระบุ พร้อมกับแจกแจงด้วยว่า พวกเจ้าหน้าที่ จี-20 ซึ่งตกเป็นเป้าหมายถูกล้วงความลับนั้นมีดังเช่น พวกผู้แทนของตุรกี ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ด้วยซ้ำ และพวกผู้แทนของแอฟริกาใต้

ตัวสโนว์เดนเองได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ของฮ่องกงว่า เอ็นเอสเอ พุ่งเป้าหมายแอบล้วงความลับจากเครือข่ายคอมพิวเตอร์ “นับร้อยๆ” ในจีนแผ่นดินใหญ่และในฮ่องกง

เมื่อถูกสอบถามถึงเรื่องนี้ โฆษกหวาตอบว่า สหรัฐฯ นั้นถือว่าติดหนี้ต้องมาอธิบายให้โลกฟังในเรื่องนี้ “เราเชื่อว่าฝ่ายสหรัฐฯควรต้องให้ความใส่ใจกับความห่วงใยและความเรียกร้องต้องการของประชาคมนานาชาติและของสาธารณชนในประเด็นปัญหานี้ และให้คำอธิบายอันจำเป็นแก่ประชาคมนานาชาติ” เธอบอก

การตอบคำถามของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนผู้นี้มีขึ้น หลังจากรองประธานาธิบดีเชนีย์พูดในรายการโทรทัศน์ “ฟอกซ์ นิวส์ ซันเดย์” เมื่อวันอาทิตย์ (16) ว่า เขามีความ “สงสัยข้องใจอย่างล้ำลึก” ว่าทำไมสโนว์เดนจึงตัดสินใจเดินทางไปยังดินแดนของจีน ถึงแม้ฮ่องกงนั้นยังคงใช้ระบบกฎหมายที่ตกทอดมาจากยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ และยังรักษาวัฒนธรรมที่ให้แสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเสรี

“ที่นั่นไม่ใช่สถานที่ซึ่งตามธรรมดาแล้วคุณจะต้องการไปหรอก ถ้าหากคุณมีความสนใจเรื่องเสรีภาพและอิสรภาพและอะไรทำนองนี้” เขากล่าว “ด้วยเหตุนี้ มันจึงก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่าว่า ใช่หรือไม่ที่เขามีคอนเน็กชั่นสายสัมพันธ์ประเภทอย่างนี้ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะทำเรื่องนี้แล้ว”

สหรัฐฯ นั้นได้เริ่มดำเนินการสืบสวนว่าสโนว์เดนมีการกระทำความผิดทางอาญาหรือไม่แล้ว ทว่ายังไม่ได้ยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการต่อฮ่องกงเพื่อให้ส่งตัวเขากลับในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ตามที่สหรัฐฯกับฮ่องกงมีข้อตกลงกันไว้

สำหรับปฏิกิริยาจากสื่อมวลชนจีน โกลบอลไทมส์ หนังสือพิมพ์ในเครือของเหรินหมินรึเป้า กระบอกเสียงขอพงรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกบทบรรณาธิการเมื่อวันจันทร์ (17) ระบุว่า ถ้าหากมีการส่งตัวสโนว์เดนให้สหรัฐฯ ก็จะถือเป็นการทรยศต่อความไว้ใจของสโนว์เดน และทำให้ปักกิ่งเสียหน้า

“นี่ไม่ใช่อาชญากรรมทั่วไป และสโนว์เดนไม่ได้ทำร้ายใคร การก่ออาชญากรรมของเขาคือการเปิดโปงการละเมิดสิทธิพลเมืองของรัฐบาลสหรัฐฯ

“การส่งตัวสโนว์เดนให้สหรัฐฯ ไม่เพียงเป็นการทรยศความไว้วางใจของเขาเท่านั้นแต่ยังสร้างความผิดหวังให้กับผู้คนทั่วโลก อันจะทำให้ภาพลักษณ์ของฮ่องกงเสียหายตลอดกาล"

บทบรรณาธิการของโกลบอลไทมส์ยังกล่าวว่า สโนว์เดนเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพของฮ่องกง รวมทั้ง “อิทธิพลที่พิ่มมากขึ้นของจีนกำลังดึงดูดให้ผู้คนมาขอลี้ภัย”

นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์เจ่ฟ่างจวิ้น ของกองทัพจีนได้ออกบทวิจารณ์ในฉบับวันอาทิตย์ ระบุว่า โปรแกรมสอดแนมของอเมริกาที่สโนว์เดนเปิดโปงนั้น “น่าขนลุก”

ทางด้านความเคลื่อนไหวของทางการสหรัฐฯนั้น เมื่อวันอาทิตย์ เดนิส แมคโดนัฟ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว ได้กล่าวในรายการ “เฟซ เดอะ เนชั่น” ของเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอส ว่า ประธานาธิบดีโอบามาไม่คิดว่า โปรแกรมการเก็บ “เมตาดาตา” หรือข้อมูลดิบที่ไม่ระบุตัวตนผู้ใช้โทรศัพท์ เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของชาวอเมริกัน อีกทั้งยังยังยินดีที่สังคมถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างแพร่หลาย

ถึงแม้การเปิดโปงว่าเอ็นเอสมีการใช้ระบบปริซึมเพื่อสอดแนมติดตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ได้ทำให้คณะรัฐบาลของโอบามาถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ได้ขยายระบบรักษาความปลอดภัยอันเกินเหตุที่คณะรัฐบาลชุดก่อนของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ริเริ่มไว้หลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2011

แต่คณะรัฐบาลของโอบามายืนยันว่า ระบบเก็บข้อมูลดิบอย่างมโหฬารเช่นนี้ถูกกฎหมายและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อป้องกันการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งจริงๆ แล้วก็มีการเจาะลึกข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้เพียงไม่ถึง 300 ราย จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมานับล้านๆ รายการ

กระนั้น มาร์ก ยูดัลล์ ส.ส.พรรคเดโมแครตจากโคโลราโดซึ่งต่อต้านระบบสอดแนมนี้มายาวนาน กล่าวผ่านรายการ “มีต เดอะ เพรสส์” ของเครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี ว่า เขาไม่คิดว่า นี่เป็นแนวทางที่อเมริกาควรใช้เพื่อเข้าถึงโลกที่เต็มไปด้วยภัยคุกคาม

"เป้าหมายอันดับแรกของผมคือปกป้องอเมริกันชน แต่เราสามารถทำได้โดยเคารพสิทธิพลเมืองไปพร้อมกัน”

ทว่า ทางด้านผู้สนับสนุนระบบสอดแนม เป็นต้นว่า ไมก์ โรเจอร์ส ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในรายการ “สเตท ออฟ ดิ ยูเนียน” ของซีเอ็นเอ็น ว่า เอ็นเอสเอจะเปิดเผยข้อมูลภัยก่อการร้ายที่ระบบสอดแนมนี้สามารถสกัดได้อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น