xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯชูประเด็น‘ไซเบอร์’เล่นงาน‘จีน’หลังใช้เรื่อง‘เงินหยวน’ไม่ได้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

สหรัฐฯชูประเด็น‘ไซเบอร์’เล่นงาน‘จีน’หลังใช้เรื่อง‘เงินหยวน’ไม่ได้แล้ว

(ซัมมิตแคลิฟอร์เนียของ‘โอบามา-สีจิ้นผิง’และบทบาทของ‘ญี่ปุ่น’ ตอน3)

โดย ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Humble pie for Xi on Sunnylands menu
By Peter Lee
06/06/2013

พวกชาวตะวันตกที่เป็นนักวิพากษ์วิจารณ์จีน พากันคาดหมายว่าในการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ท่ามกลางแสงแดดจ้าของมลรัฐแคลิฟอร์เนียวันที่ 7-8 มิถุนายนนี้ โอบามาไม่พ้นที่จะเสียท่าเผลอไผลหลงเสน่ห์แบบหมีแพนด้าของสี ทว่าพวกเขาน่าที่จะต้องรู้สึกเซอร์ไพรซ์กันครั้งใหญ่ทีเดียว เนื่องจาก สี ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าในจังหวะเวลาขณะนี้ สหรัฐฯต่างหากเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนอันคลี่คลายวิวัฒนาการไปตลอดเวลา โดยที่การยอมรับเช่นนี้มีเรื่องบทบาทของ ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีนักชาตินิยมของญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นอันมาก ทั้งนี้ผู้นำจีนจะต้องตัดสินใจว่าจะ “อ่อนข้อ” ต่อข้อกล่าวหาเรื่องการโจรกรรมทางไซเบอร์สเปซสักแค่ไหน ในขณะที่รู้ดีอยู่เต็มอกว่า ประเด็นนี้ยังจะถูกวอชิงตันหยิบยกขึ้นมาโจมตีเล่นงานต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอน 3 ซึ่งเป็นตอนจบ *

(ต่อจากตอน 2)

ท่าทีและความเคลื่อนไหวต่างๆ ของปักกิ่งที่กล่าวถึงทั้งหมดเหล่านี้ เป็นเพียงกลไกอันน่าหยามหยันของระบอบปกครองศัตรูซึ่งมีเจตนาที่จะอำพรางแรงจูงใจของตนเองและปกปิดปฏิบัติการต่างๆ อันแท้จริงของตนเองเท่านั้นเอง? หรือมันเป็นแค่ยุทธศาสตร์ทางการทูตราคาถูกแบบการหยอดจารบีพอให้ล้อรถหายฝืดไปบ้าง เพื่อที่ในเวลาที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถ่ายภาพคู่กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ณ รีสอร์ต ซันนีแลนด์ส (Sunnylands) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย จะได้สามารถปั้นสีหน้าท่าทางแลดูเป็นมิตรแต่ไร้ความหมายในทางเป็นจริง ทว่าก็ประสบผลในทางเพิ่มพูนอิทธิพลบารมีของ สี ภายในประเทศตนเอง?

หรือว่า สี กำลังเตรียมตัวที่จะดำเนินการ ตลอดจนเตรียมตัวที่จะเสนอการอ่อนข้ออย่างแท้จริงบางอย่างบางประการ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสถาปนา “ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างจีนกับสหรัฐฯ” ขึ้นมา หรือหากยังไม่สามารถไปไกลถึงขนาดนั้น อย่างน้อยก็ให้มีการสร้างความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯเอนเอียงมาทางจีนมากขึ้น และถอยห่างออกมาจากการมุ่งสร้างกลุ่มพันธมิตรร่วมปักหลุดในกิจการของภูมิภาคแปซิฟิก? บางทีเครื่องบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งว่าคำตอบที่ถูกต้องอยู่ที่ข้อใด อาจจะสืบสาวได้จากความเป็นมาของกรณีความกราดเกรี้ยวในเรื่องไซเบอร์สเปซ

สหรัฐฯนั้นพยายามประโคมป่าวร้องเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์จากจีน อย่างชนิดดำเนินการกันเป็นกระบวนการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2011 แล้ว โดยที่กำลังพยายามเลื่อนขั้นยกระดับ “ภัยคุกคาม” เช่นนี้อย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านขนาดขอบเขต, ด้านข้อกล่าวหา, และด้านความวิตกกังวล จากในตอนแรกๆ ที่เป็นเพียงการตั้งข้อสงสัยว่าการแฮกข้อมูลด้วยฝีมือของพวกที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐนั้นอาจจะมีต้นตออยู่ในประเทศจีน กระทั่งมาในปัจจุบันมีการประกาศกันโต้งๆ ว่า รัฐบาลจีนและฝ่ายทหารของจีนนั่นเองที่ดำเนินโครงการแฮกข้อมูลขนาดใหญ่โตมโหฬาร โดยเป็นโครงการที่สั่งการจากรัฐโดยตรง และพุ่งเป้าหมายมุ่งเล่นงานทั้งทรัพย์สินทางการพาณิชย์, ทรัพย์สินภาครัฐบาล, และทรัพย์สินทางการทหาร ของสหรัฐฯ

คาดหมายได้ว่ากระบวนการเช่นนี้จะบรรลุถึงจุดไคลแม็กซ์ใน “ซันนีแลนด์ส” รีสอร์ตหรูหราใหญ่โตกว้างขวางกลางทะเลทรายในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อประธานาธิบดีโอบามา จะจัดการ “เชือด” สี จิ้นผิง อย่างเป็นทางการ โดยที่จะมียื่นแฟ้มรวบรวมรายละเอียดข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ในไซเบอร์สเปซของฝ่ายจีนซึ่งชวนขุ่นเคือง ตลอดจนค่าใช้จ่ายความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประดาธุรกิจอเมริกันเนื่องจากพฤติการณ์เหล่านี้

อย่างไรก็ดี จุดยืนเรื่องไซเบอร์สเปซของสหรัฐฯนั้นช่างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความขัดแย้งกันเอง เริ่มต้นตั้งแต่ข้อเท็จจริงที่ว่า สหรัฐฯต่างหากคือ “จักรพรรดิ” แห่งกิจกรรมการสอดแนมลับๆ ในไซเบอร์สเปซ ไม่ว่าจะพิจารณาจากทรัพย์สินทางเทคโนโลยีที่อเมริกามีอยู่, ฐานะการเป็นแกนกลางในโครงสร้างพื้นฐานทางการสื่อสารของโลก, การที่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ( National Security Agency ใช้อักษรย่อว่า NSA) ของสหรัฐฯ มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างฟาร์มสำหรับบรรจุเครื่องเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมา ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใหญ่โตมหึมาพอๆ กับสนามกีฬาแอสโตรโดม (Astrodome สนามกีฬาอเนกประสงค์ที่มีหลังคาโดมปกคลุมทั้งหมดแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่เมืองฮิวสตัน มลรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา -ผู้แปล) เพื่อไว้ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลมากมายมหึมาระดับเพตะไบต์ (petabyte 1 เพตะไบต์ เท่ากับ 1,000,000,000,000,000 ไบต์ -ผู้แปล) ที่หน่วยงานแห่งนี้ “บังเอิญเดินสะดุดไปชนเข้า” (โดยที่ตามกฎหมายสหรัฐฯแล้ว ข้อมูลดังกล่าวนี้จะต้องไม่ครอบคลุมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการสื่อสารซึ่งเกิดขึ้นภายในสหรัฐฯเอง), ตลอดจนข้อเท็จจริงที่ว่า ภายหลังจากที่มีเกียรติประวัติอันน่าภาคภูมิใจในฐานะของประเทศแรกในโลกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งก็คือการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาแล้ว สหรัฐฯยังกลายเป็นประเทศแรกที่ใช้อาวุธทางไซเบอร์ อันได้แก่โปรแกรมหนอนไวรัสคอมพิวเตอร์ “สตักซ์เน็ต” (Stuxnet) โดยส่งเข้าโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ของศูนย์เพิ่มความเข้มข้นวัสดุนิวเคลียร์ของอิหร่าน (หมายเหตุผู้แปล – บทความชิ้นนี้ ปีเตอร์ ลี เขียนขึ้นและนำออกเผยแพร่ทางเอเชียไทมส์ออนไลน์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ซึ่งก็คือ ก่อนที่ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน Edward Snowden ออกมาเผยตัวแฉโปรแกม “ปริซึม” PRISM ของเอ็นเอสเอ ที่ใช้สอดแนมผู้ใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ในบทความชิ้นนี้จึงไม่มีการเอ่ยถึงเรื่องนี้)

ดังที่ เคนเนธ ลีเบอร์ธัล (Kenneth Lieberthal) แห่งสถาบันบรูคกิงส์ (Brookings Institution) เขียนเอาไว้ดังนี้:

“ประธานาธิบดีโอบามาจำเป็นที่จะต้องมีความรู้สึกว่องไวต่อความเป็นจริงที่ว่า เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองของทางฝ่ายจีนแล้ว สหรัฐฯนั้นเกือบจะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองเหนือแวดวงไซเบอร์อยู่แล้ว อเมริกามีเครื่องมือและสมรรถนะซึ่งก้าวหน้าที่สุด โดยที่ระบบต่างๆ ทั้งทางการเมืองและทางการเงินของฝ่ายจีนส่วนใหญ่ต่างก็ทำงานไปได้โดยพึ่งพาอาศัยโปรแกรมซอฟต์แวร์อเมริกันทั้งนั้น จีนมีข้อสมมุติฐานว่าสหรัฐฯใช้สรรถนเอันใหญ่โตมหึมาเช่นนี้เพื่อทำให้ตนเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ นี่เป็นความรับรู้ความเข้าใจที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสมการด้วย ในเวลาที่ทีการถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับไซเบอร์สเปซอย่างจริงจังใดๆ ก็ตาม” [8]

ใครๆ ย่อมต้องเกิดความสงสัยข้องใจขึ้นมาว่า ทัศนคติความคิดเห็นของอเมริกาในเรื่องเกี่ยวกับ “ภัยคุกคามทางไซเบอร์จากจีน” น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความเป็นจริงที่ว่า รัฐบาลจีนนั้นได้ยินยอมปล่อยให้สกุลเงินหยวนปรับค่าแข็งขึ้นไปสู่มูลค่าตามธรรมชาติของมันแล้ว ทั้งนี้ เพราะเมื่อค่าเงินหยวนกำลังปรับแข็งค่าขึ้นแล้ว ดังนั้นวอชิงตันจึงต้องเปลี่ยนคำบรรยายเกี่ยวกับภัยคุกคามจากแดนมังกรเสียใหม่อย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนยังคงต้องแบกป้ายแห่งการเป็น “รัฐอันธพาล” (rogue state) เอาไว้ต่อไปอีก

ทุกวันนี้ คำบรรยายแต่ดั้งเดิมที่ว่า “พวกบริษัทจีนสามารถมีชัยเหนือบริษัทอเมริกันได้ก็เนื่องจากความได้เปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ยุติธรรม” นั้น กำลังถูกบดบังด้วยการขุดเอาถ้อยคำที่ใกล้เคียงจะเป็นคำพูดของพวกเหยียดเชื้อชาติอยู่แล้ว กลับขึ้นมาพูดกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถ้อยคำอย่างหลังนี้ก็คือ “พวกบริษัทจีนไม่อาจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถประสบความสำเร็จได้ก็เพียงด้วยการโจรกรรมความลับของสหรัฐฯเท่านั้น” ในรายงานชิ้นหนึ่งของเครือข่ายสถานีวิทยุ NPR ของสหรัฐฯ ส่อให้เห็นถึงแนวทางใหม่นี้อย่างชัดเจน ดังนี้:

“ถ้าหากธุรกิจต่างๆ ของจีนสามารถโจรกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯไปได้ พวกเขาก็จะสามารถลดทอนความได้เปรียบใหญ่ประการหนึ่งซึ่งพวกบริษัทสหรัฐฯมีอยู่ในเศรษฐกิจโลก นั่นก็คือสมรรถนะของพวกเขาในการสร้างนวัตกรรม จิตวิญญาณอันนี้นี่เองที่สามารถใช้อธิบายได้อย่างดีเยี่ยมถึงสาเหตุของการก้าวผงาดขึ้นของพวกบริษัทสหรัฐฯเฉกเช่น ไมโครซอฟท์, แอปเปิล, ตลอดจน กูเกิล พวกผู้เชี่ยวชาญทางธุรกิจบอกว่า บริษัทแบบนี้มีความเป็นไปได้น้อยนิดจริงๆ ที่จะถือกำเนิดขึ้นในจีน เพราะวัฒนธรรมทางธุรกิจในจีนนั้นไม่ได้นิยมส่งเสริมการสร้างสรรค์ ทว่าพวกเขาย่อมสามารถที่จะโจรกรรมผลผลิตแห่งความสร้างสรรค์ของสหรัฐฯไปอยู่เสมอ”[9]

ต่อจากนั้น ก็มีขยายข้อกล่าวหาเพิ่มเติมขึ้นอีก ในเรื่องการจารกรรมความลับทางการทหาร ซึ่งทำให้เกิดมีการพูดจากันในทางเลวร้ายยิ่งขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น คำพูดของ ลู ด็อบส์ (Lou Dobbs) แห่ง ซีเอ็นบีซี (CNBC):

“ลู ด็อบส์ แห่ง ซีเอ็นบีซี: จำได้ไหมครับ เมื่อสักราว 1 ปีนิดๆ มานี่เอง ทางคณะเสนาธิการทหารผสมของเราได้ออกคำแถลงทำนองว่า ในกรณีบางกรณี การล่วงล้ำทางไซเบอร์สเปซจะถูกถือว่าเป็นพฤติการณ์แห่งการทำสงครามกับสหรัฐฯ และก็จะถูกปฏิบัติเสมือนกับเป็นเช่นนั้นด้วย มันจะมีอะไรมากไปกว่านี้ล่ะ ... ในนามของพระผู้เป็นเจ้า มันจะต้องทำอะไรมากไปกว่านี้อีกหรือ ถึงจะถือว่าเป็นการก่อพฤติการณ์แห่งการทำสงครามขึ้นมา? คุณไม่สามารถทำอย่างนี้ได้ในที่ไหนๆ เลยนอกจากในโลกเสมือนจริงเท่านั้น แล้วยังมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกหรือ มันคือพฤติการณ์แห่งการทำสงครามอย่างชัดเจน”[10]

เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองในทางกฎหมาย/ในทางการทูตแล้ว “สงครามอันศักดิ์สิทธิ์” ของคณะรัฐบาลโอบามาในการต่อสู้กับการแฮกข้อมูลลับของฝ่ายจีน ซึ่งกำลังมีการตีฆ้องร้องป่าวอย่างเอิกเกริกเกรียวกราวอยู่นี้ เอาเข้าจริงแล้วน่าจะเป็นความพยายามที่จะต้องประสบความล้มเหลวเสียมากกว่า

เมื่อพิจารณาจากลักษณะอันแสนจะไร้ความโปร่งใสชัดเจนของอินเทอร์เน็ต สหรัฐฯไม่น่าที่จะสามารถหาหลักฐานมายืนยันการรุกล้ำทางไซเบอร์ของฝ่ายจีนในระดับที่จะทำให้ศาลยุติธรรมทางการพาณิชย์ระหว่างประเทเกิดความเชื่อถือพึงพอใจได้ โดยยังไม่ต้องพูดไปถึงขั้นที่ว่าสามารถพิสูจน์ได้จนถึงระดับที่เพียงพอตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อทำการเปิดฉากโจมตีตอบโต้ทางไซเบอร์ หรือทำการยิงตอบโต้ด้วยขีปนาวุธลาดตระเวน อย่างไรก็ตาม เรื่องหลักฐานยืนยันอันหนักแน่นนั้น ไปๆ มาๆ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไรเลย

สิ่งที่เห็นกันว่าประธานาธิบดีโอบามากำลังคุกคามที่จะลงมือกระทำเอากับจีน ก็คือ การใช้อำนาจประธานาธิบดีของเขาออกคำสั่งฝ่ายบริหารให้หน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ทำการตอบโต้ทางไซเบอร์ด้วยวิธีนอกตำราอย่างชนิดกระทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว อย่างชนิดไม่มีการจำกัดขนาดขอบเขตทว่ารอบคอบระมัดระวัง เพื่อเล่นงานตอบโต้ “พฤติการณ์ละเมิดรุกล้ำทางไซเบอร์ต่างๆ” ของจีน ถ้าหากประธานาธิบดี สี ยังคงไม่ยินยอมทำอะไรเพื่อแก้ไขคลี่คลายสิ่งที่ถูกระบุเอาไว้ในแฟ้มข้อกล่าวหาซึ่งโอบามายื่นให้ในระหว่างการประชุมซัมมิต

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อะไรๆ จะต้องดีขึ้น หาไม่แล้ว อะไรๆ ก็จะต้องปั่นป่วนวุ่นวายให้เละเทะกันไปเลย

แน่นอนทีเดียวว่านี่ย่อมไม่ใช่เป็นความยุติธรรมตามอุดมคติแบบเพลโต ทว่ามันมีประโยชน์อย่างที่สุดสำหรับสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯสามารถที่จะกำหนดคำจำกัดความแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าอะไรคืออาชญากรรมทางไซเบอร์, กำหนดขนาดขอบเขตของอาชญากรรมดังกล่าว, เรียกร้องให้มีการลงโทษ, และจากนั้นก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องประกาศว่า การลงโทษดังกล่าวยังไม่รอบด้านและยังไม่มีความจริงจังเพียงพอ ในลักษณะที่ชวนให้รู้สึกคุ้นๆ ขึ้นมาทันทีสำหรับใครก็ตามผู้ขบคิดทบทวนถึงตอนที่สหรัฐฯทำการรณรงค์ต่อต้าน “อาวุธอานุภาพทำร้ายร้ายแรง” (WMDs) ของอิรัก ตลอดจนต่อต้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

สำหรับตัวผมนั้นคาดหมายว่า เพื่อเห็นแก่การปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ประธานาธิบดีสี จะพิจารณายอมรับฟังแฟ้มข้อกล่าวหาของโอบามา และออกคำสั่งให้ต้องมีการสังเวยบางสิ่งบางอย่างในทางไซเบอร์ ให้ต้องมีการเสียสละบางอย่างบางประการในแวดวงดิจิตอล ทั้งนี้ ถ้าหากประธานาธิบดีสี ยินยอมอ่อนข้อในเรื่องนี้แล้ว การยอมรับแฟ้มข้อกล่าวหาและ “กระทำอะไรบางอย่าง” ของผู้นำจีนผู้นี้ ก็จะกลายเป็นจังหวะก้าวที่ค่อนข้างสำคัญมากของเขาทีเดียว โดยที่ถ้าหากสาธารณรัฐประชาชนจีนยอมรับว่าการโวยวายในเรื่องไซเบอร์สเปซของสหรัฐฯเป็นสิ่งที่มีมูลความจริงแล้ว ประเด็นนี้ก็จะไม่มีวันจางหายไปอีกเลย (ยกเว้นแต่เมื่อมีเครื่องมือใหม่ที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าในการใช้โจมตีเล่นงานจีน ปรากฏขึ้นมาแทนที่เท่านั้น ทำนองเดียวกับที่ประเด็น “ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” กำลังถูกนำมาใช้แทนที่ “ค่าเงินหยวน” นั่นแหละ)

ผมคาดหมายว่า สี จะพิจารณาแบกรับภาระหน้าที่ในทางไซเบอร์ของเขาคราวนี้ด้วยความเข้าใจเป็นอย่างดีอยู่เต็มอกว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรก็ตามที มันก็ไม่มีทางเลยที่ฝ่ายสหรัฐฯจะยอมรับและเห็นว่าเพียงพอแล้ว ผลประโยชน์ใดๆ ก็ตามที่จีนอาจจะได้รับตอบแทนกลับคืนมา จึงจะอยู่ในลักษณะที่มีเงื่อนไขและเป็นเพียงการแก้ปัญหาได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวทั้งสิ้น อีกทั้งอาจจะถูกเพิกถอนถูกริบเอาคืนไปเมื่อใดก็ได้ รวมทั้งระดับชื่อเสียงความสำเร็จภายในประเทศของเขาก็จะไม่ได้รับการส่งเสริมเชิดชูขึ้นไป จากการร่วมมือกับสหรัฐฯในประเด็นนี้แต่อย่างไร

ความรู้สึกของผมและความคาดหมายของผมเช่นนี้ ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นอีกจากการที่เวลานี้กำลังมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายทีมงานความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโอบามาครั้งใหญ่ ทั้งนี้ ทอม โดนิลอน (Tom Donilon) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Advisor) ของประธานาธิบดีโอบามา กำลังจะก้าวลงจากตำแหน่งโดยมีผลในเดือนกรกฎาคม และจะถูกแทนที่โดย ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็น ผู้ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นตัวเก็งที่จะก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

โดนิลอนนั้น เป็นสถาปนิกผู้วางแผนเรื่อง “การปรับสมดุลใหม่” ("rebalancing") สู่เอเชีย หรือบางทีเราสมควรที่จะพูดว่า เขาเป็นสถาปนิกผู้ทำการปรับแต่งแนวความคิดว่าด้วยการปักหมุด (pivot) ของ เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของสหรัฐฯ ในช่วงที่โอบามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก), จัดการเปลี่ยนชื่อมันเสียใหม่, และในช่วงเดือนแรกๆ ของสมัยที่สองของโอบามา ก็เป็นผู้ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์นี้ เพื่อให้บรรลุการเข้ามีปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมายในระดับหนึ่งกับทางสาธารณรัฐประชาชนจีน

โดนิลอน ยังขึ้นชื่อลือชาในเรื่องที่เขาโฟกัสให้น้ำหนักกับการบริหารจัดการกระบวนการทางด้านความมั่นคงแห่งชาติตลอดจนส่วนต่างๆ อันหลายหลากของกระบวนการนี้ เพื่อให้บังเกิดหนทางเลือกต่างๆ ทางด้านนโยบายการต่างประเทศสำหรับให้ทำเนียบขาวพิจารณาตัดสินใจ มีรายงานว่า เขาเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่งกับกำหนดการของการประชุมซัมมิตซันนีแลนด์สคราวนี้ (แต่เดิมนั้นการพบปะหารือครั้งแรกสุดระดับประธานาธิบดีต่อประธานาธิบดีเช่นนี้ กำหนดเอาไว้ว่าจะจัดขึ้นในระหว่างที่พวกผู้นำของกลุ่ม จี-20 ประชุมหารือกันในเดือนกันยายนนี้) โดยมีความเป็นไปได้ทีเดียวว่าเขามองการจัดซัมมิตคราวนี้ว่าเป็นงานสำคัญงานสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งของเขา และเป็นโอกาสที่จะสร้างดอกผลให้แก่โครงการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยแรงขับดันในเรื่องการปรับสมดุลใหม่ในเอเชียของเขา

บางทีอาจจะเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่ โดนิลอน มีความรู้สึกว่าจะต้องรีบเร่งทำสิ่งต่างๆ ให้เรียบร้อย เนื่องจากบุคคลที่จะสืบทอดตำแหน่งต่อจากตัวเขานั้น น่าที่จะมีทัศนะมุมมองแบบมีอคติ ต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯชนิดที่สร้างสรรค์และบังเกิดดอกผลขึ้นมา

เมื่อวินิจฉัยจากรายงานในเบื้องต้นทั้งหลาย และผลงานของเธอในสหประชาชาติ รวมทั้งการที่เธอประกาศให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการกระโจนเข้าไปแทรกแซงในซีเรีย และการไม่แยแสกับผลพวงต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาเหยื่อผู้รับเคราะห์ในต่างแดนจากจุดยืนทางศีลธรรมอันบกพร่องผิดพลาดทว่าหนักแน่นมั่นคงของเธอแล้ว เอกอัครราชทูตไรซ์ เมื่อขึ้นเป็นที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของทำเนียบขาว น่าที่จะเป็นผู้สนับสนุนเรียกร้องวาระแบบนักแทรกแซงด้วยเหตุผลทางศีลธรรม (moral interventionist agenda) ภายในระบบราชการอเมริกัน ตลอดจนในเวลาที่เสนอความเห็นด้านการต่างประเทศและความมั่นคงต่อประธานาธิบดี มากกว่าที่จะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกที่ปราศจากอคติของกระบวนการทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ[11]

ตำแหน่งของ ไรซ์ ในยูเอ็น จะแทนที่โดย ซาแมนทา พาวเวอร์ (Samantha Power) ผู้ซึ่งอาจจะเป็นนักแทรกแซงด้วยเหตุผลทางด้านศีลธรรม มากยิ่งกว่าตัวไรซ์เองเสียอีก (มีข้อเท็จจริงซึ่งน่าขันดีเหมือนกันว่า พาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญคนหนึ่งของประธานาธิบดีโอบามาในด้านนโยบายการต่างประเทศ ได้ถูกสกัดขัดขวางไม่ให้ได้รับตำแหน่งสูงๆ ในคณะรัฐบาลโอบามาก่อนหน้านี้ สืบเนื่องจากการที่เธอเคยเรียก ฮิลลารี คลินตัน ว่าเป็น “ปีศาจ” ในระหว่างแสดงตนเป็นตัวแทนทีมรณรงค์หาเสียงของโอบามาเมื่อปี 2008 มันจะเป็นเรื่องน่าสนใจมากทีเดียว ถ้าหากชนวนเหตุของกิจกรรมการเล่นเก้าอี้ดนตรีในคราวนี้ทั้งหมด คือการอำลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของ ฮิลลารี คลินตัน ตลอดจนการสร้างโอกาสความเป็นไปได้ที่จะได้สามารถบรรจุ พาวเวอร์ เข้าไปในตำแหน่งระดับสูงทางด้านนโยบายการต่างประเทศดังที่เห็นกันว่าเธอสมควรจะได้รับเสียที จากการที่ ไรซ์ กับ พาวเวอร์ ได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างที่ประธานาธิบดีโอบามาเคยตั้งใจที่จะยกพวกเธอขึ้นไปตั้งแต่แรกเริ่มแล้วเช่นนี้ มันจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะติดตามดูต่อไปว่า แล้ว จอห์น เคร์รี จะสามารถผลักดันสร้างอิทธิพลบารมีได้มากน้อยแค่ไหนจากเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯที่เขากำลังนั่งครองอยู่)

เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มของพวกผู้ช่วยของเขา, ความโน้มเอียงของตัวประธานาธิบดีโอบามาเอง, และประโยชน์ใช้สอยทางการเมืองอย่างหยาบๆ ของมัน ผมจึงคาดหมายว่าการแสดงความโกรธเกรี้ยวทางด้านไซเบอร์สเปซ จะยังคงเป็นจุดศูนย์กลางแห่งนโยบายว่าด้วยจีนของสหรัฐฯ

และผมคาดหมายว่า ประธานาธิบดีสี ซึ่งรับรู้อยู่เต็มอกถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเขาจำเป็นต้องได้รับไมตรีจิตมิตรภาพในบางระดับจากสหรัฐฯ ไม่ว่ามันจะอยู่ในสภาพชั่วคราวแค่ไหนก็ตามที จะทำการขบคิดพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับจังหวะก้าวซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงและมีผลต่อเนื่องอย่างมากมาย ในการที่จะยอมรับ “ปีศาจ” แห่งภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สหรัฐฯกำลังเที่ยวป่าวร้องกล่าวหาแดนมังกรอยู่ในเวลานี้

**หมายเหตุ**
[8] ดูเรื่อง U.S.-China Relations: The Obama-Xi California Summit, Brookings, June 3, 2013.
[9] ดูเรื่อง U.S. Turns Up Heat On Costly Commercial Cybertheft In China, NPR, May 7, 2013.
[10] ดูเรื่อง Dobbs Wants U.S. to Declare War With China for Hacking, C&L, May 28, 2013.
[11] ดูเรื่อง Donilon's Legacy, foreignpolicy.com, June 5, 2013. (ดูได้เฉพาะผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกเท่านั้น).

ปีเตอร์ ลี เขียนบทความว่าด้วยกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนความเกี่ยวเนื่องของกิจการเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น