เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด แห่งออสเตรเลีย ยืนยันถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องสั่งให้หน่วยกู้ภัยทิ้งศพผู้ลี้ภัยเรืออับปางไว้กลางทะเล หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลคงไม่กล้าใจจืดใจดำเช่นนี้หากผู้ตายเป็นชาวออสเตรเลีย
ปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 55 คนอับปางใกล้เกาะคริสต์มาสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไม่พบผู้รอดชีวิตแม้แต่คนเดียว
เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียพบศพผู้ลี้ภัย 13 ร่างลอยเท้งเต้งอยู่กลางทะเลพร้อมกับซากเรือและเสื้อชูชีพ แต่ไม่ได้เก็บกู้ขึ้นมาเพราะต้องให้ความสำคัญต่อการค้นหาผู้รอดชีวิต ขณะที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรก็เผยในทำนองเดียวกันวานนี้ (10) ว่า พวกเขาติดภารกิจช่วยเหลือเรือลำอื่นๆ จนไม่สามารถจัดการกับศพเหล่านั้นได้
“มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ก็เพื่อการปฏิบัติงาน” กิลลาร์ดแถลงต่อสื่อมวลชน
“อย่างที่กองบัญชาการชายแดนแถลงไปแล้วว่า พวกเขาให้ความสำคัญต่อผู้รอดชีวิตเป็นอันดับแรก และดิฉันคิดว่าทุกท่านก็คงเข้าใจว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเป็นเช่นนั้น”
ชุมชนชาวทมิฬในออสเตรเลียออกมาตำหนิการกระทำของรัฐบาล โดยชี้ว่า หากศพชาวออสเตรเลียถูกทิ้งไว้ตามยถากรรมกลางมหาสมุทรอินเดียเช่นนั้นบ้าง จะเกิดกระแสต่อต้านครั้งใหญ่ในสังคมอย่างแน่นอน
“ถ้าพวกเขาเป็นชาวออสเตรเลีย ผมมั่นใจว่าผมจะโกรธมาก” บาลา วิกเนศวารัน ผู้บริหารสภาชาวออสเตรเลียเชื้อสายทมิฬ ให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์เอบีซี
“ผมมั่นใจว่าผู้คนในออสเตรเลียจะรู้สึกผิดหวังอย่างมาก เราจะไม่มีทางทำเช่นนี้กับพลเมืองออสเตรเลีย”
เมื่อถูกถามถึงคำวิจารณ์เช่นนี้ นายกฯ หญิงเมืองจิงโจ้ก็ย้ำคำเดิมว่า ออสเตรเลีย “ให้ความสำคัญต่อการช่วยชีวิตคนเป็นอันดับแรก”
จนถึงวันพุธที่แล้ว (5) เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียพบเรือ 7 ลำพาผู้ลี้ภัยกว่า 500 คนล่องมาถึงเกาะคริสต์มาส และมีอยู่ลำหนึ่งที่บรรทุกคนมามากกว่า 90 ชีวิต
“ดิฉันเชื่อว่าเราต่างเสียใจที่เห็นคนจำนวนมากต้องมาล้มตาย และเพราะเหตุนี้รัฐบาลจึงฝากคำเตือนอย่างชัดเจนไปถึงผู้ลี้ภัยทั้งหลายว่า อย่าเสี่ยงชีวิตของท่านเลย อย่าเอาชีวิตลูกหลานท่านมาเสี่ยงด้วย อย่าลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลมาเช่นนี้อีก” กิลลาร์ดกล่าว
ผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนจากอัฟกานิสถาน, อิหร่าน, อิรัก และศรีลังกา ต้องเอาชีวิตมาทิ้งกลางทะเล เนื่องจากเรือที่ล่องมาจากประเทศทางผ่านอย่างอินโดนีเซียมีสภาพไม่แข็งแรงพอ และมักมีผู้ลี้ภัยอัดแน่นมาเต็มลำ