xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ออสซี่เยือน “อิเหนา” คุยปัญหา “ผู้ลี้ภัย” ล่องเรือเข้าประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรี เควิน รัดด์ แห่งออสเตรเลีย (ซ้าย) และประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ณ ทำเนียบประธานาธิบดี เมืองโบกอร์ ทางตอนใต้ของกรุงจาการ์ตา วันนี้(5)
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ แห่งออสเตรเลีย เดินทางไปเยือนกรุงจาการ์ตา เพื่อหารือปัญหาผู้ลี้ภัยกับประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน แห่งอินโดนีเซีย วันนี้ (5) หลังจากที่แดนจิงโจ้ต้องรองรับผู้ลี้ภัยหลายพันคนต่อปีที่ยอมเสี่ยงล่องเรือฝ่าลมพายุในมหาสมุทรอินเดีย โดยหวังจะไปเริ่มชีวิตใหม่ที่นั่น

รัดด์เดินทางเยือนอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก หลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สองต่อจากจูเลีย กิลลาร์ด ซึ่งถูกคนในพรรครัฐบาลรวมหัวปลดจากตำแหน่ง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แม้แคนเบอร์ราจะใช้นโยบายส่งผู้ลี้ภัยไปยังหมู่เกาะห่างไกลในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อรอการตรวจสอบสถานะ แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ลี้ภัยหลายพันคนพยายามล่องเรือเข้าไปยังออสเตรเลียให้ได้ โดยส่วนใหญ่จะใช้อินโดนีเซียเป็นจุดเชื่อมต่อ

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องจ่ายเงินให้พวกนายหน้าค้ามนุษย์ในอัตราสูง เพื่อจะได้เดินทางมากับเรือประมงที่ต่ออย่างลวกๆ และมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอัดแน่นมาเต็มลำ

รัดด์ เคยกล่าวตำหนิโทนี แอ็บบอต ผู้นำฝ่ายค้านออสเตรเลีย ซึ่งเสนอให้ส่งเรือผู้ลี้ภัยกลับไปยังที่ที่พวกเขาจากมา โดยชี้ว่าการทำเช่นนั้นอาจจุดชนวนพิพาทกับแดนอิเหนา

ระหว่างที่รัดด์กำลังหารือกับยุทโธโยโน ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในเมืองโบกอร์ เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียก็รายงานด่วนเข้ามาว่า พบเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยราว 80 คนกำลังต้องการความช่วยเหลือด่วน เนื่องจากน้ำทะเลเริ่มไหลเข้าไปในเรือ

องค์การความปลอดภัยด้านการเดินเรือออสเตรเลีย (AMSA) เปิดเผยว่า เรือพ่อค้า 2 ลำและเรือของกองทัพเรือกำลังมุ่งตรงไปยังผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะชวาไปทางใต้ราว 42 ไมล์ทะเล

ก่อนที่ผู้นำออสเตรเลียจะเดินทางไปถึงมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้แถลงว่า จาการ์ตาไม่อาจแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยเพียงลำพัง

“เรายืนยันมาตลอดว่าปัญหานี้ไม่อาจแก้ไขโดยประเทศใดประเทศหนึ่งได้... แต่ต้องการความร่วมมือทั้งจากประเทศปลายทาง, ประเทศเชื่อมต่อ และประเทศต้นทางด้วย”

นอกจากปัญหาผู้ลี้ภัยแล้ว รัดด์ยังต้องการคลี่คลายปมขัดแย้งเรื่องการส่งออกวัวเป็นๆให้แก่อินโดนีเซีย หลังมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอว่าโรงเชือดสัตว์อิเหนาปฏิบัติต่อสัตว์เหล่านี้อย่างทารุณ จนแคนเบอร์ราสั่งห้ามส่งออกวัวไปยังอินโดนีเซียเมื่อปี 2011 แต่เมื่อประกาศมาตรการดังกล่าวออกไป ภาคการเกษตรของออสเตรเลียเองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย

แม้รัฐบาลจะอนุญาตให้ส่งขายวัวแก่อินโดนีเซียอีกหลังจากนั้น แต่ปริมาณการส่งออกก็ลดน้อยลงไปมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น