เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - พบศพผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ราย และผู้สูญหายอีกหลายสิบคน จากเหตุเรือต้องสงสัยขนคนต่างด้าวเข้าประเทศ อับปางบริเวณเกาะคริสต์มาสต์ ซึ่งอยู่ห่างไกลนอกชายฝั่งออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแถลงเมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.)
เจสัน แคลร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออสซี่ แถลงว่า จากการตรวจสอบทางอากาศในบริเวณที่พบเสื้อชูชีพและซากความเสียหายของเรือ พบศพผู้เสียชีวิต 13 ราย หลังจากนั้นจึงได้ส่งเรือ 15 ลำ และเครื่องบิน อีก 10 ลำออกค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างเต็มกำลัง
"ในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ต้องออกตามหาและช่วยเหลือผู้ที่ยังรอดชีวิต" รมต.แคลร์แถลงกับสื่อมวลชน ขณะกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เป็นโศกนาฏกรรมอันเลวร้าย ที่เตือนใจว่าการลักลอบเดินทางเข้าประเทศอันตรายแค่ไหน
แคลร์แถลงว่า เมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ขณะที่เครื่องบินพิทักษ์ชายแดนพบเรือที่เกิดโศกนาฏกรรมเป็นครั้งแรก ก็สามารถระบุได้ว่ามีคนประมาณ 55 คนบนดาดฟ้าเรือ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ก็มีบางส่วนเป็นผู้หญิงและเด็ก"
“เรือรบหลวงวอร์รามังกา" ของกองทัพเรือถูกส่งเข้าสกัดเรือลำดังกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (6 มิ.ย.) ทว่าเรือผู้ลี้ภัยกลับหายไป และมีการส่งเครื่องบินขึ้นสำรวจทางอากาศแต่ก็ยังคงไร้วี่แวว จนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ พบลำเรือจมอยู่ใต้น้ำ
เรือวอร์รามังกา มาสถานที่เกิดเหตุแล้วพบเห็นเศษซากเรือและเสื้อชูชีพลอยอยู่ จากนั้นพบศพผู้เสียชีวิตศพแรกในกลางดึกเมื่อวันศุกร์ ในขณะที่พบอีก 12 ศพในเช้าของวันอาทิตย์
ในขณะที่พลเรือตรีเดวิด จอห์นสัน ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน แถลงว่า จะไม่เริ่มค้นหาศพผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลามาก จนกว่าการค้นหาผู้รอดชีวิตจะสิ้นสุด
"เราเชื่อในคำแนะนำ (ทางการแพทย์) ว่ามีความเป็นไปได้ว่ายังคงมีผู้รอดชีวิตหลงเหลืออยู่" จอห์นสันกล่าว
จอห์นสันแถลงว่าในช่วงเวลานั้นสภาพอากาศในท้องทะเลไม่มีอะไรน่ากังวล และครั้งแรกที่พบเรือลำดังกล่าวก็ไม่คิดว่าลูกเรือจะต้องการความช่วยเหลือ
เขากล่าวเสริมว่าทาง บาซาร์นาส องค์กรพิทักษ์น่านน้ำของอินโดนีเซียได้ทราบเรื่องแล้ว แต่ในขณะนั้นพวกเขากำลังติดพัน ต้องดูแลเรืออื่นๆ อีกหลายลำที่เคลื่อนเข้าแนวชายฝั่งอินโดนีเซีย
เรือรบหลวงวอร์รามังกาได้หันไปให้ความช่วยเรืออีกลำที่ต้องสงสัยว่าขนผู้ลักลอบเข้าเมือง บริเวณเกาะคริสต์มาส ที่พยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากตำรวจออสเตรเลียตลอดคืน แคลร์แถลง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยจำนวนหลายร้อยคน เสียชีวิตในอุบัติเหตุเรืออับปาง ขณะเดินทางจากอินโดนีเซียเพื่อหาที่พักพิงในออสเตรเลีย ท่ามกลางท้องทะเลที่อันตราย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็มีเรือที่บรรทุกผู้ลี้ภัย 95 คน พลิกคว่ำ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 คน ซึ่ง 1 ในนั้นเป็นเด็ก
นอกจากนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเรือบรรทุกผู้โดยสาร 72 คน อีกลำ หายไปในช่องแคบซุนดาอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งเกรงกันว่าเรือจะอับปาง เนื่องจากพบเสื้อชูชีพ 28 ตัวถูกซัดขึ้นมาบนหมู่เกาะโคโคส หมู่เกาะหินปะการังของออสเตรเลีย ในมหาสมุทรอินเดีย
อย่างไรก็ตามแดนจิงโจ้กำลังประสบกับปัญหาผู้ลี้ภัยจำนวนท่วมท้นที่พากันเดินทางออกมาจากประเทศอินโดนีเซียและศรีลังกาทางเรือ โดยคาดการณ์กันว่าในรอบ 1 ปีนี้จะมีจำนวนผู้ลี้ภัยเดินทางมาออสเตรเลียถึง 25,000 คน ทั้งๆ ที่มีมาตรการเนรเทศผู้ลี้ภัยออกไปมหาสมุทรแปซิฟิก
เรื่องผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นทางการเมืองที่อ่อนไหว ซึ่งถูกนำมาใช้หาเสียงในการเลือกตั้งระดับชาติ ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน ทั้งนี้ฝ่ายค้านนักอนุรักษ์นิยมได้สัญญาว่าจะออกมาตรการใหม่ๆ ที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงมาตรการผลักดันเรือผู้ลี้ภัยออกจากน่านน้ำออสเตรเลียด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บ็อบ คาร์ แถลงว่าอินโดนีเซียไม่มีวันเห็นด้วยกับแผนการดังกล่าวของฝ่ายค้านแน่นอน และได้แสดงความคิดเห็นว่าเป็นมาตรการที่ "เพ้อฝัน"