เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - รัฐบาลออสเตรเลียเตรียมออกมาตรการใหม่ หวังดึงดูดเงินลงทุนเข้าประเทศ ด้วยการเสนอออกวีซ่าพิเศษให้แก่เหล่ามหาเศรษฐีจากทั่วทุกมุมโลก ให้สามารถเข้ามาพำนักในแดนจิงโจ้ได้นานสูงสุดถึง 4 ปีเต็ม โดยผู้ที่สนใจจะต้องยอมจ่ายเงินลงทุนตามเกณฑ์ที่รัฐบาลออสเตรเลียกำหนด คือไม่ต่ำกว่า 151 ล้านบาท
รายงานข่าวระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีหญิงจูเลีย กิลลาร์ด ได้ริเริ่มแนวคิดดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว แต่เตรียมบังคับใช้มาตรการออกวีซ่าพิเศษสำหรับ “นักลงทุนเงินหนา” อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้หากได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหวังระดมเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้อย่างน้อย 850 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (คิดเป็นเงินไทยราว 25,700 ล้านบาท) ท่ามกลางกระแสข่าวที่ระบุว่ามีมหาเศรษฐีจากเอเชียโดยเฉพาะจากจีนและชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อคิวสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
โครงการออกวีซ่าพิเศษให้แก่มหาเศรษฐี เพื่อแลกกับการนำเงินเข้ามาลงทุนในแดนจิงโจ้ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจากรัฐบาลออสเตรเลียจะต้องควักกระเป๋าลงทุนเป็นเงินขั้นต่ำ 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 151 ล้านบาท) ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ซื้อพันธบัตรรัฐบาล การลงทุนในกองทุนและบริษัทของออสเตรเลีย ฯลฯ เพื่อแลกกับการได้เข้ามาพำนักในออสเตรเลียระยะยาวสูงสุดถึง 4 ปี ต่อการออกวีซ่า 1 ครั้ง พร้อมมีออปชันพิเศษว่าผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการนี้อาจได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยแบบถาวรในออสเตรเลียต่อได้ในอนาคตอีกด้วย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของทางการออสเตรเลียมีขึ้นหลังจากออสเตรเลียกำลังประสบภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจหลังจากที่ยุคแห่งความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่เคยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ออสเตรเลียได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ขณะที่เศรษฐกิจของออสเตรเลียซึ่งได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 13 ของโลกในแง่ของจีดีพีก็ได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลก จนส่งผลให้รัฐบาลต้องพยายามหามาตรการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจแก่บรรดานักลงทุนต่างชาติให้นำเงินเข้ามาลงทุนให้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ท่าทีของรัฐบาลออสเตรเลียในการเต็มใจ “เปิดประเทศ” รับการหลั่งไหลเข้ามาของเศรษฐีต่างชาติกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากมาตรการออกวีซ่าเศรษฐีดังกล่าวขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับจุดยืนของรัฐบาลออสเตรเลียในช่วงก่อนหน้านี้ที่ต้องการ “จำกัดจำนวนคนเข้าเมือง” และแรงงานต่างชาติให้น้อยลง จนทำให้เกิดคำถามถึงการใช้ “สองมาตรฐาน” ของรัฐบาล ต่อชาวต่างชาติธรรมดาที่ไม่ร่ำรวย กับชาวต่างชาติที่เป็นเศรษฐี