เอเจนซีส์ - อังกฤษเตรียมจัดพิธีศพ “หญิงเหล็ก” ยิ่งใหญ่สมเกียรติ ผู้นำทั่วโลกร่วมอาลัยและสดุดี มาร์กาเรต แธตเชอร์ จีนยกย่องเป็นผู้นำที่โดดเด่นและปรองดองเกี่ยวกับอนาคตฮ่องกงอย่างฉลาดเฉลียว อย่างไรก็ตาม ในเมืองผู้ดีเองตลอดจนถึงที่อาร์เจนตินา มีผู้คนไม่น้อยออกมาแสดงความยินดีปรีดากับอสัญกรรมของนายกรัฐมนตรีหญิงหนึ่งเดียวของเกาะสิงโตคำราม
ร่างของ มาร์กาเรต แธตเชอร์ ที่ถึงแก่อสัญกรรมในช่วงเช้าของวันจันทร์ (8) ด้วยอาการเส้นโลหิตหล่อเลี้ยงสมองอุดตัน สิริอายุ 87 ปี ถูกนำจากโรงแรมริตซ์ โฮเต็ล กลางกรุงลอนดอน เพื่อไปรอประกอบพิธีศพแบบเกียรติยศทางทหารที่จะมีขึ้นในวันพุธหน้า (17) ณ มหาวิหารเซนต์ปอลในลอนดอน ซึ่งสำนักพระราชวังบักกิงแฮมแถลงเมื่อวันอังคาร (9) ว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ และดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี จะเสด็จพระราชดำเนินไปร่วมพิธีด้วย
ลอร์ด ทิม เบลล์ โฆษกส่วนตัวของเธอเปิดเผยว่า บารอนเนสแธตเชอร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งอย่างเป็นทางการของอดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยมผู้นี้ ไม่ต้องการให้จัดงานศพแบบรัฐพิธีเต็มยศเช่นที่เคยจัดให้แก่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้นำอังกฤษในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากคิดว่า “ไม่เหมาะสม”
แธตเชอร์ยังไม่ต้องการให้มีเครื่องบินกองทัพบินสดุดีเพราะสิ้นเปลืองเงิน
การเปิดเผยของลอร์ดเบลล์ มีขึ้นหลังจากสมาชิกรัฐสภาพรรคอนุรักษนิยมหลายคนเรียกร้องให้จัดพิธีศพให้แธตเชอร์แบบรัฐพิธี เช่นที่เคยจัดถวายแด่สมเด็จพระบรมราชชนนีเอลิซาเบธ (ควีนมัม) ในปี 2002 และเจ้าหญิงไดอานา ในปี 1997
กระนั้น พิธีศพของแธตเชอร์จะยังคงจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ โดยก่อนถึงวันพิธีหนึ่งวัน จะมีการเคลื่อนย้ายหีบบรรจุศพของเธอไปตั้งไว้ภายในมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพื่อประกอบพิธีทางศาสนา และในวันพิธี ทหารกองเกียรติยศจากทั้ง 3 เหล่าทัพจะทำหน้าที่เคลื่อนหีบบรรจุศพของเธอด้วยรถปืนใหญ่ เพื่อไปตั้งขบวนอีกครั้งบริเวณโบสถ์นักบุญเคลมองต์ เดนส์ ซึ่งเป็นโบสถ์กลางของกองทัพอากาศ โดยจะมีทหารกองเกียรติยศอีกส่วนทำหน้าที่เชิญรถบรรทุกศพของแธตเชอร์เคลื่อนไปยังมหาวิหารเซนต์ปอลต่อไป
นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน กล่าวยกย่องแธตเชอร์ว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีผู้รักชาติ” อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษผู้นี้ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดคือ จากปี 1979-1990 และเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงเพียงคนเดียวของอังกฤษ
แม้เป็นหนึ่งในผู้นำที่คนมากมายเคารพรัก แต่ขณะเดียวกัน ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ปลื้มแธตเชอร์ มีรายงานว่า ประชาชนในหลายพื้นที่จัดปาร์ตีฉลองอสัญกรรมของหญิงเหล็กผู้นี้ ซึ่งทำให้หวนนึกถึงการประท้วงของคนงานเหมืองแร่ สหภาพแรงงาน และผู้ต่อต้านการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นแบบใหม่ ในสมัยการปกครองประเทศของเธอเมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ที่บางครั้งลุกลามกลายเป็นความรุนแรง
ตัวอย่างเช่นที่เมืองบริสตอล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ตำรวจ 6 นายได้รับบาดเจ็บขณะพยายามยุติงานเลี้ยงของคนราว 200 คน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการฉลองการจากไปของแธตเชอร์
เช่นเดียวกัน หนังสือพิมพ์อังกฤษแบ่งเป็นสองขั้ว หนังสือพิมพ์ปีกขวา อย่างเช่น เดลี เมล ยกย่องแธตเชอร์ว่า “สตรีผู้พิทักษ์อังกฤษ” ขณะที่หนังสือพิมพ์ปีกซ้าย อย่าง เดลี มิเรอร์ โจมตีอดีตผู้นำหญิงว่า “สตรีที่ทำให้ประเทศแตกแยก”
ทางด้านผู้นำโลกต่างออกมาสรรเสริญแธตเชอร์กึกก้อง เป็นต้นว่า นายกรัฐมนตรี จูเลีย กิลลาร์ด แห่งออสเตรเลีย ที่สดุดีว่า แธตเชอร์ “เปลี่ยนประวัติศาสตร์สำหรับผู้หญิง”
ที่จีน สื่อของรัฐยกย่องว่า แธตเชอร์เป็นผู้นำที่ “โดดเด่น” ที่ประนีประนอมอย่างชาญฉลาดเกี่ยวกับอนาคตของเกาะฮ่องกง นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์สำคัญเกือบทุกฉบับในแดนมังกรยังพร้อมใจเล่นข่าวอสัญกรรมของเธอบนหน้าหนึ่ง
ระหว่างที่แธตเชอร์บริหารเกาะอังกฤษ ประเด็นสำคัญระหว่างลอนดอนกับปักกิ่งคืออนาคตของฮ่องกงที่อังกฤษทำสัญญาเช่าจากจีนเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในปี 1997 โดยในที่สุดแล้วก็มีการลงนามส่งมอบเกาะแห่งนี้คืนแก่แดนมังกรในปี 1984
แต่ในอาร์เจนตินา อดีตทหารผ่านสงครามฟอล์กแลนด์ต่างพากันแสดงความยินดีกับการอสัญกรรมของอดีตผู้นำอังกฤษ
ทั้งนี้ อังกฤษและอาร์เจนตินาทำสงครามกันในปี 1982 หลังจากกองทัพอาร์เจนตินาบุกรุกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ซึ่งอยู่ใกล้ๆ อาร์เจนตินา แต่อังกฤษควบคุมอยู่ สงครามครั้งนั้นทำให้ทางฝั่งอาร์เจนตินาเสียชีวิต 649 คน ส่วนอังกฤษสูญเสีย 255 ชีวิต และความตึงเครียดยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้