xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’ยังคงล้มเหลวไม่สำนึกถึงความผิดพลาดของตนเองในอดีต

เผยแพร่:   โดย: วอลเดน เบลโล

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Hashimoto echoes Japan’s past failure
By Walden Bello
23/05/2013

ผู้คนจำนวนมากในญี่ปุ่นต่างรู้สึกผิดหวังท้อแท้จากคำกล่าวของ โทรุ ฮาชิโมโตะ นายกเทศมนตรีนครโอซากา ที่ว่า การจัดให้มี “สตรีบำเรอกาม” ในกองทัพญี่ปุ่น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับบำรุงขวัญทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไรก็ตาม สามารถคาดหมายได้เลยว่าพวกขวาจัดในประเทศนี้จะต้องยิ่งส่งเสียงคำรามกึกก้องคำรามยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อได้รับกำลังใจจากท่าทีและนโยบายของคณะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ในปัจจุบัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือสัญญาณบ่งบอกให้เห็นถึงความล้มเหลวของแดนอาทิตย์อุทัยในการยอมรับสำนึกผิดและดำเนินการป้องกันไม่ให้อดีตอันมัวหมองของประเทศชาติของพวกเขาเกิดอุบัติซ้ำขึ้นมาอีก

คำพูดต่างๆ ของเขาช่างโจ่งแจ้งบาดหูเสียจนกระทั่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับอย่างดุเดือดจากทั่วโลก โทรุ ฮาชิโมโตะ (Toru Hashimoto) นายกเทศมนตรีนครโอซากา ผู้ซึ่งสื่อมวลชนนานาชาติบรรยายว่าเป็นคน “พูดจาโผงผาง” และ “หุนหันพลันแล่น” อ้างว่า “สตรีบำเรอกาม” (comfort women) ซึ่งหมายถึงผู้หญิงชาวเอเชียนับหมื่นนับแสนคนที่ถูกบังคับให้เป็นโสเภณีบำเรอทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็น “เรื่องจำเป็น” เพื่อบำรุงขวัญทหารเหล่านั้น

“ใครๆ ก็ย่อมสามารถเข้าใจได้ว่า ระบบการจัดให้มีสตรีบำเรอกามขึ้นมานั้น เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการระบายผ่อนคลายให้แก่กลุ่มผู้ชายที่ต้องมาอยู่รวมกันแบบเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในบรรยากาศความตึงเครียดอันหยาบกระด้างและสับสนวุ่นวาย ขณะที่พวกเขากำลังเสี่ยงชีวิตของพวกเขาอย่างกล้าหาญท่ามกลางห่ากระสุน” ฮาชิโมโตะกล่าวเช่นนี้ ตามรายงานข่าวของ วอลล์สตรีทเจอร์นัล

ถึงแม้พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party) แกนนำของคณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของญี่ปุ่น ตลอดจนบุคคลทางการเมืองคนอื่นๆ ต่างรีบออกมาระบุว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับคำพูดดังกล่าวนี้ของฮาชิโมโตะ แต่กระนั้นนายกเทศมนตรีนครโอซากาผู้นี้ก็เพียงแค่เปิดปากเอ่ยอวดสิ่งที่พวกชนชั้นนำจำนวนมากของญี่ปุ่น ตลอดจนผู้คนจำนวนมากในหมู่สาธารณชนวงกว้างของญี่ปุ่น เชื่อกันอยู่แล้วว่าเป็นความจริง

น่าสังเกตด้วยว่า คำพูดของฮาชิโมโตะนี้ ยังออกมาในช่วงเวลาใกล้ๆกับที่เพิ่งเกิดกรณีอื้อฉาวคล้ายๆ กันอีกกรณีหนึ่ง กล่าวคือ มีสมาชิกรัฐสภาญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันจำนวนราว 170 คน รวมทั้งสมาชิกหลายคนในคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ได้เดินทางกันเป็นหมู่คณะไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukuni Shrine) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งต่างๆ ในญี่ปุ่น รวมทั้งผู้ถูกตัดสินมีความผิดฐานเป็นอาชญากรสงครามในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวน 14 คน ด้วยเหตุนี้ ผู้คนมากมายจึงประณามพิธีการสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิว่า เป็นสัญญาณแสดงถึงทัศนคติของประเทศนี้ที่ไม่ยินยอมรับผิด สำหรับความเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กระทำไปในระหว่างสงครามครั้งนั้น

**ความล้มเหลวที่จะเผชิญหน้ากับอดีตอันผิดพลาด**

ประสบการณ์ของญี่ปุ่นช่างตัดแย้งแตกต่างจากประสบการณ์ของเยอรมนี ซึ่งสังคมทั้งสังคมได้ดำเนินกระบวนการใน “การถอนพิษของลัทธินาซี” (denazification) โดยส่วนสำคัญที่สุดได้แก่การสร้างจิตสำนึกแห่งชาติขึ้นมาใหม่ ทำให้มีการยอมรับอย่างลึกล้ำฝังแน่นเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเยอรมนีในยุคนาซีครองเมืองที่ได้เที่ยวก่อสงครามและกระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนต่างๆ รวมทั้งการฆ่าล้างชาวพันธุ์ชาวยิว

ในญี่ปุ่นนั้น กลับตรงกันข้าม สหรัฐฯได้เข้าไปแสดงบทบาทในการเพาะเลี้ยงส่งเสริมให้ทั่วทั้งสังคมเกิดภาวะสูญเสียความจำเรื่องราวในอดีตกาล (historical amnesia) แทนที่จะปลดพระจักรพรรดิออกจากบัลลังก์ภายหลังญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 วอชิงตันกลับยังคงให้จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ อยู่ในอำนาจต่อไปด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรักษาเสถียรภาพทางการเมือง สัญลักษณ์สำคัญที่สุดแห่งความทะเยอทะยานแบบลัทธิจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่น จึงได้รับการยกเว้นไม่ถูกลงโทษตามความยุติธรรม และความหมายของท่าทีดังกล่าวนี้ก็มิได้รอดพ้นไปจากสายตาของชาวญี่ปุ่นเลย

ยิ่งไปกว่านั้น หน้าต่างแห่งโอกาสที่จะได้เห็นการปฏิรูปต่างๆ ชุดใหญ่ที่ผลักดันโดยสหรัฐฯ เพื่อทำลายกองทัพเก่าที่เป็นกองทัพจักรวรรดินิยมตลอดจนลดทอนอำนาจของพวกชนชั้นนำในระบบราชการและในแวดวงเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มีอันต้องปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์ของโลกที่ก้าวเข้าสู่สงครามเย็นและการปะทุขึ้นของสงครามเกาหลีในปี 1950

สหรัฐฯมองชนชั้นนำชาวญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้สงครามว่าคือพันธมิตรของตนที่จะมาร่วมมือช่วยกันต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูบูรณะอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเพื่อใช้เป็นฐานๆ หนึ่งสำหรับการผลิตอาวุธยุทธปัจจัยสำหรับสงคราม ด้วยเหตุนี้ วอชิงตันจึงยินยอมให้มีการฟื้นคืนฐานะแก่บุคคลสำคัญๆ ในกลไกสงครามของญี่ปุ่น กระบวนการเช่นนี้ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในปี 1957 เมื่อ โนบุสุเกะ คิชิ (Nobusuke Kishi) เจ้าหน้าที่ระดับท็อปคนหนึ่งในระบอบปกครองหุ่นแมนจูกัว (Manchurian puppet regime) แล้วต่อมาขึ้นเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ได้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแดนอาทิตย์อุทัย เปรียบเทียบกันแล้ว สภาพเช่นนี้ก็เหมือนกับการเปิดทางให้ อัลเบิร์ต สเปเออร์ (Albert Speer) สมุนของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่เป็นมือเศรษฐกิจและมีชีวิตรอดมาจากสงคราม มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีในยุคหลังสงครามนั่นเอง แน่นอนทีเดียวว่า สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในเยอรมนี

**การผงาดขึ้นมาอีกครั้งของลัทธิคลั่งชาติ**

สืบเนื่องจากความทุกข์ยากลำบากในช่วงสงคราม แนวความคิดมุ่งมั่นรักษาสันติภาพจึงได้กลายเป็นอารมณ์ความรู้สึกอันแพร่หลายทั่วไปในญี่ปุ่นมาช้านาน แต่แทนที่จะเสริมสร้างต่อเติมจากอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ เพื่อให้ประเทศนี้ยอมรับว่าจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ได้กระทำไปในระหว่างสงคราม พวกชนชั้นนำกลับพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันรวดเร็ว กลายเป็นทางเลือกสำหรับการเสาะแสวงหาจิตวิญญาณของประเทศชาติ –อันที่จริงแล้ว ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กลายเป็น “ยาถอน” ความรู้สึกแบบสันตินิยมด้วยซ้ำไป เพราะมันทำให้แทบจะทั่วทั้งสังคมมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเข้าร่วมอยู่ในความก้าวร้าวรุกรานแบบจักรวรรดินิยม

พวกอนุรักษนิยมซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจที่จะธำรงรักษาฐานะความเป็นลูกน้องสหรัฐฯของญี่ปุ่นเอาไว้ กลายเป็นผู้ครอบงำวงการเมืองของประเทศอยู่ถึงประมาณ 60 ปี ทว่าจากการที่ญี่ปุ่นต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยาวนานราวๆ 20 ปีนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา (รวมทั้งการก้าวผงาดขึ้นมาอย่างโดดเด่นในทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งพวกชนชั้นนำของญี่ปุ่นมองว่าเป็นคู่ต่อสู้แข่งขันที่จะต้องเข่นฆ่าให้ตายกันไปข้างหนึ่ง) แนวโน้มทางการเมืองและแนวโน้มทางอุดมการณ์ในญี่ปุ่นจึงมีความเคลื่อนไหวลื่นไหลกันมากขึ้น

พวกกลุ่มฝ่ายขวาที่มุ่งหาทางฟื้นฟูความรุ่งเรืองในยุคจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ ฉวยใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศแห่งนี้มิได้ผ่านกระบวนการแห่งการทำให้ภายในสังคมเกิดความสำนึกผิดเกี่ยวกับสงครามและเกิดความสำนึกรับผิดชอบต่ออาชญกรรมสงครามที่ก่อขึ้นมา จนกระทั่งทำให้พวกเขากลายเป็นกลุ่มพลังทางการเมืองกลุ่มหนึ่งไป แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นพวกเชิดชูสนับสนุนลัทธิสันตินิยมและแนวความคิดให้ประเทศชาติแสดงความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้น กลับอยู่ในฐานะที่ย่ำแย่และอ่อนด้อยถอยกำลังลงไปเรื่อยๆ ทัศนะความคิดเห็นที่ว่าเรื่องสตรีบำเรอกามเป็นเพียงมายาไม่ใช่ความจริง และกรณีการข่มขืนเมืองนานกิงปี 1937 (the 1937 Rape of Nanking) ซึ่งมีการสังหารพลเรือนชาวจีนไปเป็นหมื่นๆ แสนๆ คน ก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลยนั้น กำลังกลายเป็นทัศนะที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทีเดียวอยู่ในแดนอาทิตย์อุทัย

พวกนักการเมืองขวาจัดเฉกเช่น ฮาชิโมโตะ และ ชินตาโระ อิชิฮาระ (Shintaro Ishihara) อดีตผู้ว่าการกรุงโตเกียว และนักลัทธิอุดมการณ์แบบชาตินิยม ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเผยแพร่ความคิดและแผ่อิทธิพลบารมีของพวกตนไปในท่ามกลางความวุ่นวายสับสน เป็นต้นว่า ในช่วงท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียว อิชิฮาระยื่นข้อเสนอให้ทางรัฐบาลท้องถิ่นโตเกียวเข้าซื้อหมู่เกาะเซงกากุ ที่ญี่ปุ่นกำลังพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์อยู่กับจีน โดยเรื่องนี้น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวที่คิดคำนวณเอาไว้อย่างดีมาก่อนแล้วว่าจะสามารถสร้างความปวดแสบปวดร้อนให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน เวลาเดียวกัน ฮาชิโมโตะ ได้ฉวยโอกาสจากการที่สาธารณชนชาวญี่ปุ่นรู้สึกหงุดหงิดผิดหวังต่อความล้มเหลวของรัฐบาล ทั้งในการแก้ไขปัญหาสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างและความชะงักงันในทางการเมือง สืบเนื่องจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นในปี 2011 ด้วยการเสนอให้นำมา “ระบอบเผด็จการ” เข้ามาใช้ และในเวลาที่รัฐสภากำลังอภิปรายถกเถียงกันว่าญี่ปุ่นยังควรจะเดินหน้าใช้พลังงานนิวเคลียร์ต่อไปหรือไม่นั้น อิชิฮาระก็ไปไกลถึงขั้นเรียกร้องให้ญี่ปุ่นติดอาวุธนิวเคลียร์เสียเลย ขณะที่ฮาชิโมโตะเสนอให้ “ทำการฝึกซ้อม” การเป็นเจ้าของมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง

**ญี่ปุ่นเอียงไปทางขวามากขึ้นเรื่อยๆ**

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่นหนล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012 ที่เพิ่งผ่านมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองของฮาชิโมโตะ และ อิชิฮาระ ซึ่งใช้ชื่อว่า “แจแปน เรสตอเรชั่น ปาร์ตี้” (Japan Restoration Party) กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่อันดับ 2 ของประเทศทีเดียว ขณะที่พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ ได้กลับขึ้นสู่อำนาจ โดยในคราวนี้มี ชินโสะ อาเบะ ผู้ประกาศตนอย่างเปิดเผยว่าเป็นนักลัทธิคลั่งชาติ (chauvinist) ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

อาเบะ ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาแล้วรอบหนึ่งเป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงปี 2006-2007 มีความคิดเห็นร่วมกันกับ ฮาชิโมโตะ และ อิชิฮาระ ในเรื่องความมุ่งมาดปรารถนาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรา 9 ซึ่งกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนว่าการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการต่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เทสซา มอร์ริส-ซูซูกิ (Tessa Morris-Suzuki) นักวิเคราะห์ชาวออสเตรเลีย ให้ความเห็นเอาไว้ว่า “ถึงแม้อาเบะแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยท่าทีที่สุขุมรอบคอบกว่า อิชิฮาระ และ ฮาชิโมโตะ แต่เขาก็มีทัศนะว่าแม้กระทั่งภายใต้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นในเนื้อหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การที่ญี่ปุ่นจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ “ขนาดเล็ก” เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้”

จากการที่ทั้งพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาณ์ตี้ และพรรคแจแปน เรสตอเรชั่น ปาร์ตี้ ต่างกำลังแข่งขันช่วงชิงคะแนนเสียงของปีกขวาที่เติบใหญ่ขยายตัวมากขึ้นทุกทีเช่นนี้ ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของการเมืองญี่ปุ่นจึงกำลังเคลื่อนไปทางขวา และภายในบริบทอันเปลี่ยนแปลงวูบวาบรวดเร็วถึงขนาดนี้ ใครๆ ย่อมต้องคาดหมายกันว่าจะได้ยินได้ฟังถ้อยแถลงอันเจ็บแสบก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวมากยิ่งไปกว่านี้อีกจากประดาบุคคลเฉกเช่นฮาชิโมโตะ ในขณะที่พวกเขากำลังเร่งรีบพยายามดำเนินการทบทวนแก้ไขการตีความการแปลความหมายอดีตกาลของญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดญี่ปุ่นแห่งอนาคตที่มีคุณสมบัติอันโดดเด่นในเรื่องการยืนกรานอย่างก้าวร้าว

จากการที่ชาวญี่ปุ่นในรุ่นก่อนๆ บกพร่องล้มเหลวไม่ได้ยอมรับสำนึกผิดและดำเนินการป้องกันไม่ให้อดีตอันมัวหมองของประเทศชาติของพวกเขาเกิดอุบัติซ้ำขึ้นมาอีก ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากซึ่งรู้สึกไม่มีที่พี่งพิงจากสภาวการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันอันโดดเด่นด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างถาวรและการขาดไร้ขวัญกำลังใจ เวลานี้จึงพบว่าอนาคตแบบที่บุคคคลขวาจัดเหล่านี้ให้สัญญาไว้นั้น มีเสน่ห์น่าหลงใหลมากขึ้นเรื่อยๆ

วอลเดน เบลโล เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องการพัฒนาทางการเมืองและทางเศรษฐกิจในเอเชียและแปซิฟิก เขาเขียนหนังสือออกมาแล้ว 18 เล่ม โดย 2 เล่มที่ได้รับการตีพิมพ์จำหน่ายหลังสุด ได้แก่ เรื่อง Food Wars (London: Verso, 2009) และเรื่อง Capitalism's Last Stand (London: Zed, 2013)
กำลังโหลดความคิดเห็น