รอยเตอร์ - รัฐบาลอิหร่านปฏิเสธรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่กล่าวหาว่าเตหะรานให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายในต่างแดนสูงถึงระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบ 20 ปี เมื่อวานนี้(31) พร้อมชี้ว่าสหรัฐฯเองต่างหากที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง
“อิหร่านตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้ายที่มีรัฐบาลอื่นหนุนหลังอยู่ ซึ่งได้คร่าชีวิตพลเมืองผู้บริสุทธิ์ของเราไปหลายพันคนแล้ว” อาลีเรซา มีร์ยูเซฟี โฆษกคณะผู้แทนอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาติ ระบุ
“ที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านพยายามทุกวิถีทางที่จะมีส่วนร่วมขัดขวางการก่อการร้าย และเรายังเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันก่อการร้ายอีกด้วย”
เมื่อวันพฤหัสบดี(30) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเผยรายงานซึ่งอ้างถึงแผนโจมตีทั้งในยุโรปและเอเชียที่มีส่วนเชื่อมโยงกับฮิซบอลเลาะห์ กลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์ในเลบานอนที่เป็นพันธมิตรกับเตหะราน รวมถึงเหตุลอบวางระเบิดในบัลแกเรียเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2012 ที่สังหารพลเมืองอิสราเอลและบัลแกเรียไป 5 คน และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีก 32 ราย
โมฮัมเหม็ด กอซี ทูตอิหร่านประจำองค์การสหประชาชาติ เคยออกมาปฏิเสธว่าอิหร่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการก่อวินาศกรรมในบัลแกเรีย และชี้ว่าเรื่องทั้งหมดเป็นแผนการป้ายสีของอิสราเอล
“ผมขอเรียนว่า รัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรพอที่จะมากล่าวหาชาติอื่นว่าสนับสนุนก่อการร้าย เพราะสหรัฐฯเองก็มีประวัติมานานในเรื่องของการหนุนหลังกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมก่อการร้ายของรัฐบาลอิสราเอลด้วย” มีร์ยูเซฟี กล่าว โดยอ้างถึงการที่สหรัฐฯถอนชื่อกลุ่ม มูญาฮิดีน-คอลก์ (MEK) ออกจากรายนามกลุ่มก่อการร้าย ทั้งที่พวกเขาพยายามโค่นล้มองค์กรผู้นำอิสลามนิกายชีอะห์ของอิหร่าน และเคยร่วมต่อสู้กับกองทัพของผู้นำเผด็จการ ซัดดัม ฮุสเซน ในช่วงสงครามอิรัก-อิหร่าน ระหว่างปี 1980-88
“การถอดถอนรายชื่อกลุ่ม MEK และอนุญาตให้พวกเขามีอำนาจล็อบบีในวอชิงตัน ย่อมชี้ให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐฯใช้สองมาตรฐานจัดการปัญหาก่อการร้าย และกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นผู้ก่อการร้ายเพียงเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์”
ในประเด็นนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯเคยชี้แจงไว้ว่า “เราไม่ได้มองข้ามประวัติการก่อการร้ายของ MEK... และมีความกังวลอย่างยิ่งต่อกิจกรรมของพวกเขาในฐานะที่เป็นองค์กร โดยเฉพาะข่าวลือที่ว่า พวกเขามักกระทำล่วงละเมิดต่อสมาชิกในกลุ่มเอง”
หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯและยุโรป ระบุว่า อิหร่านและฮิซบอลเลาะห์มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือกองทัพประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ต่อต้านฝ่ายกบฎที่ต้องการล้มรัฐบาล