เอเอฟพี - อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ ยืนยันว่ายังรู้สึก “สบายใจ” ที่ได้สั่งนำทหารอเมริกันบุกอิรักเมื่อปี 2003 แม้ผลของสงครามครั้งนั้นจะนำมาสู่เหตุนองเลือดและการเมืองที่ไร้เสถียรภาพในแบกแดดขณะนี้ก็ตาม
ระหว่างให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าว เอบีซีนิวส์ เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และหอสมุดประธานาธิบดี จอ์ร์จ ดับเบิลยู. บุช ในเมืองดัลลัส มลรัฐเทกซัส ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันนี้ (25) บุชชี้ว่า ประวัติศาสตร์เท่านั้นจะตัดสินความชอบธรรมของการส่งทหารอเมริกันบุกอิรัก ซึ่งขณะนั้นเชื่อกันว่าประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ได้ซุกซ่อนอาวุธทำลายล้างสูงไว้ แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่พบหลักฐานที่จะยืนยันคำครหาดังกล่าว
“ผมรู้สึกสบายใจกับกระบวนการตัดสินใจครั้งนั้น ผมเชื่อเสมอว่าการโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ไม่เพียงเพื่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เพื่อให้พลเมืองอิรักมีโอกาสสัมผัสเสรีภาพในการใช้ชีวิตด้วย” บุชกล่าว
“ท้ายที่สุดแล้วประวัติศาสตร์นั่นแหละจะตัดสินเอง ผมคงไม่มีชีวิตอยู่รอดูถึงวันนั้น”
“เท่าที่ผมทราบ การถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องนี้น่าจะจบไปแล้ว ผมหมายความว่าผมได้ทำในสิ่งที่ผมทำไปแล้ว หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ที่จะต้องตัดสิน”
แม้กองทัพสหรัฐฯ จะโค่นซัดดัม ฮุสเซน ได้ภายในเวลาไม่ถึงปี แต่ผลกระทบจากสงครามที่กองกำลังสหรัฐฯไม่อาจควบคุมได้ก็ทำให้บ้านเมืองอิรักตกอยู่ท่ามกลางเหตุความไม่สงบมาจนทุกวันนี้
พวกที่สนับสนุนบุชอ้างว่าการทำสงครามอิรักช่วยเปิดโอกาสให้พลเมืองที่นั่นมีเสรีภาพมากขึ้น แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ชี้ความจริงที่ว่า สงครามเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุรุนแรงที่ยังคงปะทุอย่างต่อเนื่อง และความหวังของประชาชนอิรักที่จะได้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงก็เลือนรางเต็มที
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเป็นผู้ปิดฉากสงครามอิรักลงในช่วงปลายปี 2011 รวมถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะเดินทางไปร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์และหอสมุดของ บุช ในวันศุกร์นี้ (26)
สงครามอิรักคร่าชีวิตทหารอเมริกันไปกว่า 4,400 นาย ส่วนทหารที่รอดชีวิตก็บาดเจ็บพิการเป็นจำนวนมาก ขณะที่พลเมืองอิรักอีกหลายหมื่นคนต้องสังเวยชีวิตให้กับเหตุความไม่สงบที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น
บุชให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เขากำลังยุให้ จอห์น เอลลิส เจบ บุช ผู้เป็นน้องชายแท้ๆ ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2016 ซึ่งหากสำเร็จตามที่คาดหมายจะทำให้ตระกูล บุช เป็นเสมือน “ราชวงศ์ทางการเมือง” (political dynasty) ของสหรัฐฯ อย่างแท้จริง
“เขาจะเป็นผู้สมัครที่เหมาะสมมากทีเดียว หากเขาตกลง” บุชกล่าว
“เขาไม่ต้องการคำปรึกษาอะไรจากผม เพราะทราบอยู่แล้วว่าอะไรเป็นอะไร แต่จะลงสมัครหรือไม่นั้นอยู่ที่การตัดสินใจของเขาเอง”
เจบ บุช ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา จะเป็นผู้สมัครสายรีพับลิกันที่มีคุณสมบัติน่าดึงดูดที่สุดในรอบ 3 ปี และอาจจะได้ประลองฝีมือกับอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯในนามพรรคเดโมแครตอีกครั้งหนึ่ง